สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดขึ้นไปอีก เมื่อขบวนการบีอาร์เอ็นได้โพสต์ข้อความทางเพจเฟซบุ๊ก เตือนคนพุทธงดล่าสัตว์ป่าในพื้นที่มุสลิม
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนจ่อยิงชาวบ้านหาของป่า 2 คน เสียชีวิตในพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า คนร้ายที่ก่อเหตุสังหาร ได้ชิงอาวุธปืนของผู้ตายไปด้วย
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าอ่อนไหว เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่เพิ่งจะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา เรียกว่าเพิ่งจับมือแถลงร่วมกันไปหมาดๆ แต่วันที่ 3 ส.ค. กลับมีคนร้ายยิงคนพุทธหาของป่าเสียชีวิตถึง 2 ศพ
เรื่องนี้ทำให้เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการพูดคุย และการลดความรุนแรง รวมถึงสร้างความหวาดระแวงให้กับคนในพื้นที่ ทางเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพฯ จึงขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำเช่นนี้ แล้วหันมาพูดคุยหาทางออกโดยสันติวิธี และไม่ใช้ความรุนแรง
ในขณะที่เครือข่ายชาวพุทธฯ เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ซึ่งโดยนัยก็เรียกร้องไปยังกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบอย่าง บีอาร์เอ็น นั่นเอง ปรากฏว่า บีอาร์เอ็น ได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจของตน เตือนให้ชาวพุทธในพื้นที่งดล่าสัตว์ในช่วงนี้ โดยใช้คำว่า “ขอความร่วมมือหน่วยกำลังภาคประชาชนงดเว้นล่าสัตว์ หรือลาดตระเวนในพื้นที่ชาวมลายูมุสลิม” เพราะเกรงว่าจะสำคัญผิดว่าเป็นกองกำลังรัฐไทย
บีอาร์เอ็นอ้างเหตุผลว่า...
-บีอาร์เอ็นให้ความร่วมมือมาตลอดกับข้อตกลงลดความรุนแรงช่วง 40 วันรอมฎอนถึงรายอ ในขณะที่รัฐไทยยังคงบังคับใช้กฎหมายต่อกองกำลังบีอาร์เอ็น
-ฝ่ายไทยเพิ่มระยะเวลาข้อตกลงลดความรุนแรงต่ออีก 60 วันฝ่ายเดียว เพื่อใช้เป็นเหตุผลทางการเมือง
-ปัจจุบันกองกำลังของรัฐไทยหรือตัวแทนพูดคุย ยังคงย้ำถึง “สุญญากาศทางการเมือง” เพื่อเปิดทางให้กองกำลังในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายต่อกองกำลังบีอาร์เอ็น
ทีมข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คนพุทธหาของป่าที่ถูกยิง 2 คน คนหนึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ. ส่วนอีกคนเป็นอดีตทหารพราน ด้วยสถานะของคนทั้งสอง อาจทำให้บีอาร์เอ็นนำมาอ้างว่าเป็นกองกำลังรัฐไทยหรือไม่
หลังแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นเผยแพร่ออกมา นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการหาของป่า โดยน่าจะต้องทำร่วมกับหน่วยราชการในพื้นที่ ไม่ใช่ออกหาของป่าเพียงลำพัง ที่ผ่านมาทราบว่าหน่วยงานรัฐพยายามปราม แต่ก็ยังมีการออกหาของป่า ฉะนั้นต้องเพิ่มความจริงจัง เพื่อลดความสูญเสีย
@@ พรานป่า ลั่น ต้องล่าสัตว์ได้ทุกที่ ไม่เกี่ยวเขตใคร
ทีมข่าวลงพื้นที่สอบถามความเห็นของพี่น้องชาวพุทธ จังหวัดยะลา ที่มีอาชีพล่าสัตว์ป่าและหาของป่า ได้ความว่า การหาของป่าต้องสามารถไปได้ทุกที่ ไม่มีการจำกัดพื้นที่ ไม่เกี่ยวว่าเขตใคร ส่วนเหตุผลที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตของคนมุสลิม เพราะคนมุสลิมไม่ล่าสัตว์ จึงเป็นโอกาสของคนพุทธ หรือพรานป่าที่เป็นคนพุทธ
@@ จากแบ่งปันกลายเป็นหวาดระแวง
ข้อมูลที่ทีมข่าวตรวจสอบได้เพิ่มเติมก็คือ ในอดีตการหาของป่าหรือล่าสัตว์ของคนพุทธในพื้นที่มุสลิม ไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากสัตว์ป่าที่นิยมล่า คือ “หมูป่า” ซึ่งมุสลิมไม่ชอบอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสถานการณ์ไฟใต้ ก็มีการอ้างว่าคนหาของป่าเป็น “สายข่าว” ให้เจ้าหน้าที่ ใช้การหาของป่าบังหน้าเพื่อสอดแนมและมีการปลุกระดมว่า มีการนำสุนัขเข้าไปนำทาง หรือดมกลิ่น ซึ่งมุสลิมจะไม่จับสุนัข ทำให้เกิดความหวาดระแวง จากนั้นก็เกิดการฆ่าสังหารหลายครั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 54 มีการวางระเบิดรถของกลุ่มพรานป่า ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา จนรถขาดสองท่อน มีผู้เสียชีวิตถึง 9 รายในคราวเดียว บาดเจ็บอีก 2 ราย
ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 53 มีคนร้ายซุ่มโจมตีกลุ่มพรานป่า เสียชีวิตอีก 6 ราย ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ประมาณการณ์กันว่า กลุ่มพราน และหาของป่าในพื้นที่ชายแดนใต้ เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบศพ
@@ เชื่อมีลักลอบล่า เหตุเป็นแหล่งที่มารายได้
คนพุทธที่ประกอบอาชีพพรานป่า บอกด้วยว่า หากงดเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่คนมุสลิม จะเกิดผลกระทบมาก ทำให้รายได้ลดลง เพราะการเข้าป่าไปหาของป่ามาขาย เจออะไรก็เอามาขายได้หมด ทั้งกระรอก ตะกวด หรือแลน หมูป่า กระจง ตัวนิ่ม เจออะไรที่กินได้ก็จับมาขายหมด ฉะนั้นปัญหานี้จะไม่จบแน่ แม้จะมีการห้าม แต่ก็คงมีคนลักลอบ เนื่องจากเป็นอาชีพ เป็นรายได้ กรีดยางอย่างเดียวไม่พอกิน
ราคาหมูป่า ขายได้กิโลละ 120 บาท ตัวหนึ่ง 30-40 กิโลกรัม ก็ขายได้ 4,000-5,000 บาทแล้ว ที่ผ่านมาเคยมีการขอความร่วมมือให้งดล่าสัตว์ 3 เดือน ก็ยินดีเคารพกติกาที่กำหนดร่วมกัน แต่คงไม่ใช่หยุดไปตลอด
@@ ประสบการณ์หลอน ชาวบ้านศรีสาครเลิกเป็นพราน
ด้านชาวบ้านในอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเคยเกิดเหตุสังหารพรานป่าเมื่อปีที่แล้ว เล่าว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.64 ที่ นายอิสมาเเอ มาหนุ๊ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง มีหมายจับ 5 หมาย ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ใช้อาวุธปืนซุ่มยิง นายอนันต์ คงมณี เสียชีวิตขณะไปหาของป่าในพื้นที่หมู่ 3 บ้านไอร์แยง ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครกล้าไปล่าสัตว์เลย
โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไปล่าสัตว์พร้อมนายอนันต์วันนั้นอีก 6 คน ตอนนี้แม้เวลาผ่านมาเกือบปีแล้ว พวกเขาก็ยังผวาไม่กล้าไปไหน ตกงาน จนต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดยะลา ที่ยังอาการหนักสุดคือคนที่อยู่บ้านป่าไผ่ แค่เสียงรถผ่านหน้าบ้านยังต้องหนีไปแอบ
@@ ร้านอาหารป่าหวั่นระยะยาวมีกระทบ
ทีมข่าวลงพื้นที่สังเกตการณ์ร้านขายอาหารป่าในพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบว่ายังมีคนอุดหนุนอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง
น.ส.กานต์ธิดา วาดแสง เจ้าของร้านบอกว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบจากแถลงการณ์ห้ามล่าสัตว์ป่าที่ออกมา แต่หากไม่มีการล่าสัตว์ในระยะยาว น่าจะกระทบแน่ ก็คงต้องเปลี่ยนเมนูเป็นอย่างอื่นแทน
สำหรับเมนูอาหารในวันที่ทีมข่าวลงพื้นที่ มีทั้งแกงหมูป่า แกงจระเข้ และผัดเผ็ดแลน
@@ปาระเบิดบ้านไทยพุทธ ยิงขู่สนั่น
โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. มีการเสนอให้ทำข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเข้าพรรษา เป็นเวลา 3 เดือน หรือ “เข้าพรรษาสันติ” แต่บทสรุปยังไม่ชัดเจน
ปรากฏว่ามีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวน ปาระเบิดปิงปองใส่บ้านชาวบ้านในตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อคืนวันที่ 4 ส.ค. โดยปาใส่ 2 ลูก เป็นระเบิดปิงปองแสวงเครื่อง มีน็อตและตะปูเป็นสะเก็ดระเบิด เสียงระเบิดที่ดังขึ้นทำให้ผู้สูงอายุวัย 91 ปี มีอาการตกใจจนช็อค
ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์ไม่ทราบฝ่ายกระจาย กระจายกันยิงปืนสงครามข่มขู่ใกล้ๆ กับบ้านชินวร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินเก่า และในพื้นที่ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลาด้วย
หลังเกิดเหตุชาวบ้านในพื้นที่แสดงความไม่พอใจอย่างมาก เพราะบ้านแถบนี้ถูกกราดยิง ถูกปาระเบิดมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ปี 47 โดยชาวบ้านตั้งคำถามว่า แบบนี้จะอยู่กันปกติสุขได้อย่างไร