ตะลึงกันไปทั้งโลก เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ แนนซี่ เพโลซี่ ตัดสินใจเดือนทางเยือนไต้หวัน โดยไม่สนใจคำขู่อย่างแข็งกร้าวของจีน
แม้จะมีการพยายามบินเลี่ยงน่านฟ้า ไม่ให้ผ่านเขตอธิปไตยของจีน แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
เพราะสถานะของ เพโลซี่ ถือว่าเป็น The Big Three ของการเมืองสหรัฐ เป็นรองเพียงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเท่านั้น หากทั้ง 2 ตำแหน่งนี้มีเหตุฉุกเฉินจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะขึ้นมารักษาการผู้นำ
นี่คือความสำคัญของ “สถานะ” ที่จีนไม่อาจยอมรับได้ทุกกรณี เมื่อบุคคลระดับนี้ของสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวัน
เพราะจีนยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” ไม่แบ่งแยกและผู้นำสหรัฐในอดีตก็เคยให้การรับรอง
งานนี้มีคำถามสำคัญอยู่ 3-4 คำถาม
หนึ่ง คือ จะเกิดสงครามหรือไม่
สอง จีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างไร
สาม ผลกระทบกับไทยมีหรือไม่
สี่ อะไรคือแรงจูงใจที่บุคคลสำคัญของสหรัฐทำเรื่องนี้ขึ้น
“ทีมข่าวอิศรา” ขอสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและอดีตนายทหารคนสำคัญ เพื่อไขคำตอบที่ทุกคนอยากรู้
@@ สงครามเศรษฐกิจ ลามสู่วิกฤติเผชิญหน้า
ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ศึกษานโยบายต่างประเทศของจีนอย่างลึกซึ้ง มองว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีความดุเดือด คือปัญหาใหญ่ที่สุดที่จีนมีต่อสหรัฐ
นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมองเห็นตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 - 2020 กับความสำเร็จตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน จากตัวเลข GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ที่เคยพุ่งทะยานเกิน 10% จนลดทอนเหลือ 5-6% ในปัจจุบัน แต่ตัวเลข GDP ของสหรัฐเหลือเพียง 1-2%
ต่อมา 3 ปีที่แล้ว ผู้นำสูงสุดของจีน “สี จิ้นผิง” ประกาศนโยบายมุ่งมั่นจะเป็นประเทศมหาอำนาจภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐ ทั้ง GDP และกองทัพ
ศ.ดร.สุรชัย อธิบายว่า จากวิธีการที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าไปทั่วโลก จนทำให้ดุลการค้าของจีนได้เปรียบสหรัฐเป็นมูลค่าแสนล้านเหรียญ นั่นจะทำให้สหรัฐหมดสภาพความเป็นชาติมหาอำนาจ กลายเป็นความหวาดกลัวต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
เช่นเดียวกันในทางทหาร การพัฒนากองทัพ เทคโนโลยีที่มีจนถึงปัจจุบน ทำให้กองทัพจีนก้าวเป็นอันดับ 3 ของโลกในทางทหาร
นโยบายของ สี จิ้นผิง ยังมีข้อเสนอสำคัญเรื่อง “ระบบการเมืองแบบหลายขั้วอำนาจ” ทดแทนขั้วอำนาจเดียวแบบสหรัฐที่ใช้ความเป็นชาติมหาอำนาจชี้นำระบบการเมืองของประเทศต่างๆ ในแบบที่สหรัฐต้องการ แต่เมื่อความเป็นชาติมหาอำนาจของสหรัฐหมดไป ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป รวมถึงการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติที่มาจาก 5 ชาติมหาอำนาจ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยบทบาท
“การเติบโตของจีน จะทำให้สหรัฐสูญเสียความเป็นผู้นำโลก” ศ.ดร.สุรชัย สรุปและฟันธงว่านี่คือต้นเหตุของปัญหา
@@ ฟันธงรัฐบาลสหรัฐรู้เห็น - เจตนายั่วยุจีน
หันกลับไปที่ความต้องการเป็นเอกราชของไต้หวัน ศ.ดร.สุรชัย อธิบายว่า เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลสหรัฐในอดีต ตั้งแต่สมัย ริชาร์ด นิกสัน ถึง บิล คลินตัน มีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีนอย่างน้อย 3 ฉบับ ในการยอมรับว่า “ไต้หวัน” เป็นของจีน การดำเนินการใดๆ ให้ใช้การเจรจา ไม่ใช้กำลัง
ฉะนั้นการเยือนไต้หวันของ แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภา สหรัฐ บุคคลระดับผู้นำทางการเมือง จึงถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม มองได้ว่าเป็นความพยายามยั่วยุอย่างมีเป้าหมายสำคัญ
“แต่เพราะอะไร จริงหรือที่การเยือนไต้หวันของ แนนซี่ เพโลซี่ คนในรัฐบาลสหรัฐไม่ทราบมาก่อนถึงข้อตกลงที่ตัวเองมีกับจีนในอดีต แล้วคำถามที่ตามมา คือ สหรัฐจะยั่วยุจีนไปเพื่ออะไร คำตอบคือ เป็นความจงใจของสหรัฐที่จะยั่วยุให้จีนตัดสินใจใช้กำลัง แล้วจะตกเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงเสียเอง เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการตัดความสัมพันธ์การค้า หยุดความเสียเปรียบดุลการค้าที่มีอยู่กว่าแสนล้านเหรียญ สกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่สุด นั่นก็คือสหรัฐยังเป็นชาติมหาอำนาจต่อไป”
@@ ฝากรอยแค้น (จีน) เอาไว้
ด้าน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม มองต่างมุมในประเด็นการรับรู้ของรัฐบาลสหรัฐ ต่อการเยือนไต้หวันของ แนนซี่ เพโลซี่
“นี่คือภาพตัวอย่างของระบบการเมืองสหรัฐที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ต่างมีความเป็นอิสระ แยกขาดจากกัน ด้วยตำแหน่ง ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ ถือว่ามีอำนาจ หน้าที่ สถานะ ทำในสิ่งที่เชื่อ ทั้งเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย อีกทั้งพื้นเพของ ‘เพโลซี่’ ไม่ชื่นชมรัฐบาลจีนอยู่แล้ว จึงเคยออกความเห็นถึงความต้องการไปเยือนไต้หวัน”
พล.อ.นิพัทธ์ บอกว่า การเยือนไต้หวันครั้งนี้ แม้แต่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ไม่สามารถทัดทาน ได้แต่ออกความเห็นว่า “ไม่เหมาะสม” แต่ด้วยอุดมการณ์ที่มีในตัวนางเพโลซี่ สถานะของความเป็นประธานสภา บนระบบการเมืองแบบอเมริกัน ทำให้ภารกิจนี้จึงยังเกิดขึ้น
ย้อนกลับมาที่จีน อดีตปลัดกลาโหม ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้จีนเคยเตือนมาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักกับการเตือนที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง เช่น “อย่าเล่นกับไฟ” ยิ่งทำให้การเยือนไต้หวันครั้งนี้กลายเป็นการเดิมพัน การท้าทายกันระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ก็ต้องขอยกย่อง เพโลซี่ ในความกล้าหาญกับความท้าทายครั้งนี้
@@ เชื่อจีนไม่บุ่มบ่ามแม้ถูกลูบคม ส่อเล่นเกมยาว
ประเมินการตอบโต้ของจีนว่าจะมีอะไรบ้าง พล.อ.นิพัทธ์ บอกว่า ตามที่รัฐบาลจีนแสดงท่าทีออกมาแล้ว คือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเพื่อบีบคั้น
“จีนก็รู้ดีว่าไม่ควรบุ่มบ่าม แต่ระยะยาวยังน่าเป็นห่วง เพราะไต้หวันกับจีนมีพรมแดนประชิดกัน ยากต่อการปกป้องจากสหรัฐ แต่ผลที่ตามคือสหรัฐเปรียบได้กับการที่จีนถูกลูบคมจากดินแดนที่จีนมองว่าเป็นจังหวัดของตัวเอง แต่อาจหาญประกาศตัวใกล้ชิดกับสหรัฐ ซึ่งในอนาคตเราต้องมาลุ้นกันว่า แต่ละฝ่ายจะตัดสินใจกันอย่างไร”
ในมุมของสหรัฐ พล.อ.นิพัทธ์ บอกว่า สหรัฐมักเลือกคบหากับชาติที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนได้ อย่าง ไต้หวัน คือลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ ไต้หวันเองก็มีศักยภาพผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความเชื่อว่า ไต้หวันจะฉลาดเลือกทางออกจากปัญหาการเรียกร้องเอกราช
“แม้จีนจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพจนมีความเจริญก้าวหน้า แต่ในบางด้านก็ยังห่างชั้นกับสหรัฐ อีกทั้งสหรัฐยังมีชาติพันธมิตรคอยให้การหนุนหลังอีกด้วย เรื่องนี้จึงต้องดูกันยาวๆ”
@@ จับตาช่องแคบไต้หวันตึงเครียด กระทบเดินเรือ
ในประเด็นผลกระทบกับประเทศไทย แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงระดับประเทศ ประเมินว่า ในระยะเฉพาะหน้า ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การเผชิญหน้าทางทหารจะเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ หรือช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า และการขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป
ส่วนการตอบโต้ของจีน ยังคงประเมินยาก แต่สงครามน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย จีนบอกว่าจะตอบโต้อย่างสาสม แต่ไม่ได้บอกว่าจะตอบโต้อย่างไร ประเมินได้เบื้องต้นว่าจะรุนแรงกว่าทุกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจีนก็จะถูกเยาะเย้ยถากถางให้สูญเสียบทบาทผู้นำโลก แต่มาตรการของจีนมีทั้งทางเปิด และทางลับ ทั้งยังมีตำราพิชัยสงครามของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากตำราที่ศึกษากันทางฝั่งตะวันตก เรื่องนี้จึงต้องจับตาต่อไป