การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ครั้งที่ 5 คณะพูดคุยฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นเห็นพ้องร่วมกันต่อยอดลดความรุนแรงในพื้นที่ หลัง “รอมฎอนสันติ” ประสบความสำเร็จพร้อมนับหนึ่งพิจารณาร่างแนวคิดการยุติความรุนแรงและการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชน เร่งตั้งกลไกที่เป็นกลางติดตามเหตุรุนแรง
เมื่อเวลา 18.00 น.วันอังคารที่ 2 ส.ค.65 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4, พล.อ.สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล ที่ปรึกษาสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), นายกฤษฎา อักษรวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, พล.ต.ต.มณฑล บัวจีบ รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, น.ส.วันรพี ขาวสะอาด หัวหน้าสำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ร่วมกันแถลงผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเต็มคณะครั้งที่ 5 กับคณะผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มานและคณะ
โดยมี นายตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน ระหว่าง วันที่ 1-2 ส.ค.65 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
การพูดคุยครั้งนี้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการยุติความรุนแรงช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ทำข้อตกลงยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ขณะที่พี่น้องชาวไทยพุทธก็ไม่อยากให้เกิดเหตุความรุนแรงในช่วงเข้าพรรษา เพื่อยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า การพูดคุยวันแรก คณะพูดคุยทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติตามความริเริ่ม “รอมฎอนสันติ” ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.- 14 พ.ค.65 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การริเริ่ม “รอมฎอนสันติ” เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะต่อยอดการลดความรุนแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างดีจากการริเริ่ม “รอมฎอนสันติ” ที่ผ่านมา ไปสู่การขยายผลความร่วมมือที่มีความเข้มข้นเป็นระบบและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการพูดคุยวันที่ 2 คณะพูดคุยได้ยื่นข้อเสนอการลดความรุนแรงร่วมกันชั่วคราวและการริเริ่มจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้พิจารณา
โดยข้อเสนอดังกล่าวได้กำหนดกรอบมาตรการและกลไกการปฎิบัติร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในรูปแบบที่ครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสอดรับกับข้อเสนอของพี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธที่ได้ส่งมายังคณะพูดคุย และแนะนำข้อเสนอดังกล่าวมาพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในการพบปะพูดคุยครั้งนี้ด้วย
ขณะเดียวกันฝ่ายบีอาร์เอ็นได้มีการนำเสนอร่างเอกสารแนวคิดการยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาให้คณะพูดคุยได้พิจารณา ถึงแม้ร่างเอกสารดังกล่าวข้างต้นจะยังมีข้อแตกต่างเรื่องของถ้อยคำและรายละเอียดต่างๆ แต่ยังคงสอดคล้องคล้ายคลึงในหลายประการ ทั้งในแง่ของเป้าประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินการ
ตัวอย่างเช่น สิ่งที่ทั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นต่างมุ่งหมายที่จะบรรลุ ก็คือการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งริเริ่มจัดเวทีหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง
ทั้งนี้ 2 ฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีกลไกการจัดการสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่สามารถติดตามและรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำและเป็นกลาง
ในขั้นต่อไปคณะพูดคุยฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นจะได้นัดเพื่อพบปะกันอีกในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือถึงร่างเอกสารต่างๆ และร่วมกันพิจารณาในรายละเอียด โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะบรรลุข้อตกลง และสามารถเริ่มขั้นตอนการปฏิบัติจริงได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าว คณะพูดคุยฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของผู้อำนวยความสะดวกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป