เป็นที่ทราบกันดีว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดยากจน มีดัชนีความยากจนชี้วัดอยู่ในระดับรั้งท้ายของประเทศ
บางปีก็จนถึงก้นบึ้ง บางปีก็ขยับดีขึ้นมาหน่อย แต่ต้องติด 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของจังหวัดยากจนที่สุดของประเทศนี้ทุกปี
เรื่องนี้พูดกันจนเบื่อ และไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น แม้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหาด้านความมั่นคง มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่องยาวนานเกือบเต็ม 2 ทศวรรษ งบประมาณลงสู่พื้นที่แต่ละปีสูงกว่ากระทรวงบางกระทรวงเสียอีก
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ในบริบทจังหวัดยากจนนั้น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้รับงบประมาณในทิศทางต่ำลงด้วยในแต่ละปี และยอดงบประมาณรายหัวก็ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ
เพราะหากคิดโดยตรรกะพื้นฐาน เมื่อมองเห็นจังหวัดไหนยากจน รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจก็ควรจะใส่เงิน ใส่งบประมาณลงไปมากๆ เพื่อบรรเทาความลำบากของพี่น้องประชาชน
ข้อมูลซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการ ศึกษาโดยสำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ PBO ชี้ให้เห็นว่า การจัดงบประมาณของรัฐบาลสวนทางกับนโยบายกระจายอำนาจและให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่น เพราะงบประมาณแต่ละปีที่มีการจัดสรร กลับปล่อยให้ท้องถิ่นอยู่อย่างยากลำบาก
ตัวเลขกว้างๆ จากงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นราชการส่วนกลาง มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน แต่ได้รับงบประมาณมากถึง 74 เปอร์เซนต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท ขณะที่จังหวัดอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศรวมกัน ได้งบประมาณแค่ 26 เปอร์เซนต์ เป็นเงินเพียงกว่า 8 แสนล้านบาท และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 62 ถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญจังหวัดที่จนที่สุดของประเทศ จำนวน 10 จังหวัด ก็มีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง จ.ปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา ติดอยู่ด้วย โดยการจัดงบประมาณในปี 66 งบประมาณของ จ.ปัตตานี น้อยกว่าปี 65 ถึง 11.14 เปอร์เซนต์ ส่วนงบประมาณของ จ.นราธิวาส ก็ลดลง 7.10 เปอร์เซนต์
จากข้อมูลจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ตั้แต่ปี 57-63 พบว่า
ปี 2557
จ.นราธิวาส อันดับ 2 มีสัดส่วนคนจน 45.13 เปอร์เซนต์
จ.ปัตตานี อันดับ 4 มีสัดส่วนคนจน 39.15 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา อันดับ 7 มีสัดส่วนคนจน 32.83 เปอร์เซนต์
ปี 2558
จ.ปัตตานี อันดับ 1 มีสัดส่วนคนจน 34.91 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา อันดับ 5 มีสัดส่วนคนจน 21.04 เปอร์เซนต์
จ.นราธิวาส อันดับ 8 มีสัดส่วนคนจน 19.50 เปอร์เซนต์
ปี 2559
จ.นราธิวาส อันดับ 2 มีสัดส่วนคนจน 37.30 เปอร์เซนต์
จ.ปัตตานี อันดับ 3 มีสัดส่วนคนจน 35.98 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา ไม่ติดใน 10 อันดับ
ปี 2560
จ.ปัตตานี อันดับ 1 มีสัดส่วนคนจน 34.20 เปอร์เซนต์
จ.นราธิวาส อันดับ 2 มีสัดส่วนคนจน 34.17 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา ไม่ติดใน 10 อันดับ
ปี 2561
จ.ปัตตานี อันดับ 2 มีสัดส่วนคนจน 39.27 เปอร์เซนต์
จ.นราธิวาส อันดับ 4 มีสัดส่วนคนจน 30.10 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา ไม่ติดใน 10 อันดับ
ปี 2562
จ.ปัตตานี อันดับ 1 มีสัดส่วนคนจน 29.72 เปอร์เซนต์
จ.นราธิวาส อันดับ 2 มีสัดส่วนคนจน 25.53 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา ไม่ติดใน 10 อันดับ
ปี 2563
จ.ปัตตานี อันดับ 1 มีสัดส่วนคนจน 43.96 เปอร์เซนต์
จ.นราธิวาส อันดับ 3 มีสัดส่วนคนจน 24.65 เปอร์เซนต์
จ.ยะลา อันดับ 9 มีสัดส่วนคนจน 17.49 เปอร์เซนต์
หากจัดอันดับจังหวัดในภาคใต้ที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด 5 อันดับ พบว่า
1. จ.ปัตตานี มีสัดส่วนคนจน 43.96 เปอร์เซนต์
2. จ.นราธิวาส มีสัดส่วนคนจน 24.65 เปอร์เซนต์
3. จ.ระนอง มีสัดส่วนคนจน 21.32 เปอร์เซนต์
4.จ.ยะลา มีสัดส่วนคนจน 17.49 เปอร์เซนต์
5. จ.พัทลุง มีสัดส่วนคนจน 15.93 เปอร์เซนต์
เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณต่อหัวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 62 กับปี 65 พบว่า
จ.ยะลา ปี 62 งบประมาณต่อหัว 27,277 บาท ปี 65 งบประมาณต่อหัว 17,739 บาท ถือว่าลดลง
จ.นราธิวาส ปี 62 งบประมาณต่อหัว 10,305 บาท ปี 65 งบประมาณต่อหัว 9,156 บาท ถือว่าลดลง
จ.ปัตตานี ปี 62 งบประมาณต่อหัว 9,565 บาท ปี 65 งบประมาณต่อหัว 8,181บาท ถือว่าลดลงเช่นกัน
@@ “ทวี” แฉ “บุรีรัมย์ - ชัยนาท” งบพุ่ง
ในการเปิดอบรมหลักสูตรการเมือง รุ่นที่ 2 ของสถาบันการเมืองประชาชาติ พรรคประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค.65 ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล นราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวตอนหนึ่งถึงการจัดสรรงบประมาณใ้ห้จังหวัดต่างๆ ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับงบประมาณลดลง ทั้งๆ ที่เป็นจังหวัดยากจน
แต่เมื่อไปดูจังหวัดที่ได้เพิ่ม มี จ.บุรีรัมย์ ได้เพิ่มสูงถึง 32.03 เปอร์เซนต์ และ จ.ชัยนาท ก็เป็นอีกจังหวัดที่ได้เพิ่มมากถึง 50.72 เปอร์เซนต์ เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐมนตรีพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือไม่