คดี “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ที่สามจังชายแดนภาคใต้ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้าราชการซี 7 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่ารับสินบน
นับเวลาถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว ศอ.บต.ทำอะไรบ้างหรือยัง เพราะทีมข่าวสอบถามความคืบหน้าไปยังผู้บริหาร ศอ.บต.ทุกระดับ กลับไม่มีคำตอบ
โครงการนี้ทำกันมาหลายปี มีการทั้งจัดซื้อและติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ หรือ “โครงการเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 สัญญา รวมๆ แล้ว 14,849 ชุด ราคาเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท รวมงบประมาณที่ใช้ไปทั้งหมด 1,011,916,500 บาท (กว่า 1,000 ล้านบาท)
โครงการนี้มี ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และทั้งหมดเป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ (คือไม่มีการประมูล โดยอ้างเหตุผลเป็นพื้นที่ความมั่นคง)
มีการติดตั้งไปกว่า 1 หมื่นจุด ปรากฏว่าโคมไฟติดๆ ดับๆ บ้างก็ดับถาวรไปเลย ทำให้พื้นที่ที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์มืดสนิทเหมือนไม่ได้ติดตั้ง ในหลายพื้นที่มีเสาไฟโดเด่ แต่ไม่ได้ช่วยให้ความสว่างแก่ชาวบ้าน จนมีการร้องเรียนกันขึ้น และภายหลังมีการตรวจสอบ พบว่าเสาไฟที่ชำรุดเสียหาย ใช้การไม่ได้ รอการซ่อม หรือโดนขโมยแบตเตอรี่ มีมากถึงกว่าร้อยละ 70 (ใช้ได้จริงไม่ถึง 30%)
เดือน ก.ย.64 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เพราะมีพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนจากบริษัทผู้รับเหมา และยังชี้มูลความผิดภรรยาของนายพิทยา รวมทั้งบริษัทที่เป็นคู่สัญญาบางบริษัทด้วย ในความผิดฐานจ่ายสินบน และสนับสนุนเจ้าพนักงานให้กระทำความผิด
หลัง ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ก็เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
@@ บิ๊ก ศอ.บต.เมินชี้แจง - เจ้าตัวยันยังทำงานปกติ
ทีมข่าวพยายามติดตามสอบถามหน่วยงานต้นสังกัด ว่าได้ดำเนินการสอบสวน หรือเอาผิดทางวินัยข้าราชการซี 7 ที่ถูกชี้มูลหรือยัง แต่ก็ไม่มีใครยอมเปิดปาก (คดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ด้านหนึ่งจะส่งฟ้องอาญา อีกด้านหนึ่งส่งให้ต้นสังกัดลงโทษทางวินัย โดยไม่ต้องสอบสวนใหม่ พิจารณาโทษได้เลย)
ผ่านมา 10 เดือน ทีมข่าวได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ลงนามในคำสั่งให้ นายพิทยา ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่และยานพาหนะ ศอ.บต. ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ หลังย้ายจากผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อทีมข่าวติดต่อไปเพื่อขอเอกสารและสัมภาษณ์ กลับไม่มีการตอบรับใดๆ
ต่อมาวันที่ 14 ก.ค.65 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามนายพิทยา ปรากฏว่าโทรติด เจ้าตัวรับสาย และยืนยันว่า ยังไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังไม่มีอะไร ตอนนี้ยังทำงานปกติ
เมื่อข้อมูลสวนทางกันแบบนี้ ทีมข่าวจึงพยายามติดต่อ พล.ร.ต.สมเกียรติ ทางโทรศัพท์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่รับสาย
ทีมข่าวก็ไม่ละความพยายาม ยังได้ส่งข้อความทางไลน์ เพื่อสอบถามข้อมูล แต่ก็ไม่มีการอ่านไลน์หรือตอบกลับมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ร.ต.สมเกียรติ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ และติดต่อพูดคุยประสานงานกับผู้สื่อข่าวตามปกติ เพียงแต่ไม่ยอมตอบเรื่องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์ ทั้งๆ ที่ละลายงบไปกว่า 1 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้ติดต่อผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. แต่ก็ไม่มีการรับสายและอ่านข้อความไลน์เช่นเดียวกัน
ขณะที่ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เนื่องจากติดภารกิจอยู่ที่ กรุงเทพฯ
@@ บุกขอพบที่ ศอ.บต. - เพื่อนร่วมงานยันเป็นคนดี
ทีมข่าวยังไม่ลดละ วันที่ 25 ก.ค.65 ได้เดินทางไปยัง ศอ.บต. ที่อำเภอเมือง จ.ยะลา โดยขับรถเข้าไป และสอบถามตั้งแต่ทางเข้า ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ก็ยังเข้าใจว่า ข้าราชการซี 7 รายนี้ยังทำงานอยู่
ทีมข่าวขับรถต่อเข้าไปด้านใน เพื่อไปที่หน้าห้องทำงานของ ผอ.พิทยา แต่ไม่พบตัว อีกทั้งยังโทรหาอีกหลายครั้งก็ไม่รับสาย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่หน้าห้อง ผอ.พิทยา ได้ข้อมูลว่า “เห็นว่ามาทำงานปกติ แต่วันนี้ไม่รู้ไปไหน ทราบว่ากำลังโอนภารกิจงานให้กับคนมาปฏิบัติงานต่อ”
เป็นที่น่าสังเกตว่า หากคำตอบของเจ้าหน้าที่รายนี้เป็นจริง ก็แปลว่าคำสั่ง “ให้ออก” ยังไม่มีผล เพราะเจ้าตัวยังมาทำงานปกติ
จากนั้น ทีมข่าวยังได้สอบถามไปยังข้าราชการระดับ ผอ.อีกคนหนึ่ง ใน ศอ.บต. ได้ข้อมูลว่า ผอ.พิทยา น่าจะไปแบบเงียบๆแล้ว เขาคงน่าจะรู้ตัวดี เพราะว่ามีหนังสือจาก ป.ป.ช.ชี้ผิดวินัยร้ายแรง
ข้าราชการระดับ ผอ.รายนี้ ยังเผยความรู้สึกด้วยว่า คนทำงานทุกคนใน ศอ.บต.รู้สึกท้อกับเรื่องนี้ เขาทำงานเพื่อนาย พอมีเรื่อง นายรอดทุกคน ผอ.พิทยา เป็นคนดี เต็มที่กับคำสั่งนายทุกคน แต่สุดท้ายกลับมาโดนคนเดียว
@@ สุ่มตรวจเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน...ดับ-ไม่มีติด
สำหรับโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์กว่า 14,000 จุด ซึ่งเคยตรวจสอบพบว่า ชำรุด เสียหาย ไฟไม่ติด ไม่ส่องสว่างกว่าร้อยละ 70 นั้น
ทีมข่าวลงพื้นที่สุ่มตรวจอีกครั้ง บริเวณหมู่ 2-3 ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จ.ยะลา ซึ่งมีการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์จำนวนมาก ปรากฏว่าโคมไฟชำรุดเสียหาย ไฟไม่ติด และบางส่วนโคมไฟสูญหาย เหมือนผีหัวขาด และบางส่วนก็แบตเตอรี่หาย
ทีมข่าวลงพื้นที่เพิ่มเติมช่วงพลบค่ำ เวลากลางคืน ที่บ้านเหนือ หมู่ 3 ตำบลลำพะยา พบว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดทั้งหมด ชาวบ้านเล่าว่าตั้งแต่ปักเสามาหลายปี ยังไม่เคยเห็นแสงไฟสว่างเลยจนถึงวันนี้ ก็อยากเห็นแสงสว่างจากเสาไฟต้นนี้เหมือนกัน
หญิงรายหนึ่ง อุ้มลูกออกมาให้ข้อมูลว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ทุกต้นใช้การไม่ได้เลย อาจจะทั้งตำบลด้วยซ้ำ แต่ขอพูดเฉพาะ ทุกต้นที่หมู่บ้านของตน ไม่มีต้นไหนใช้การได้
@@ อบต.ขอรับโอนแต่ต้องซ่อมก่อน - แฉซื้อติดเองถูกกว่าเยอะ
นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้สอบถามนายก อบต.ในหลายๆ พื้นที่ เกี่ยวกับเสาไฟโซลาร์เซลล์ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เสาไฟและโคมไฟชำรุดใช้การไม่ได้จำนวนมาก แต่ไม่มีการซ่อมหรือดำเนินการใดๆ
“ไฟมีประโยชน์มากสำหรับชาวบ้าน ถ้าใช้ได้จริง แต่ตอนนี้ใช้ไม่ได้ มันดับมืดสนิท ทุกคนรู้ดีว่าคือผลงานของใครที่มาสร้างอนุสาวรีย์นี้เอาไว้ จริงๆ ก็มีบางต้นที่ท้องถิ่นจัดหาเอง นำไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงมากๆ ลองซื้อประมาณ 7 ต้น ใช้งบประมาณ ต้นละ 17,000 บาท สามารถใช้งานได้ปกติ ทำมา 3 ปีแล้ว ไม่เห็นต้องใช้งบเยอะแยะ”
“ตอนนี้ อบต.ต้องการเสาไฟมาก อยากให้ ศอ.บต.โอนมาให้ อบต. แต่ต้องซ่อมก่อน หรือให้ อบต.เป็นคณะร่วมดำเนินการแล้วส่งมอบให้ อบต. เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือชาวบ้าน เราไม่ทำงานแบบเอาผักชีมาโรยหน้า เพราะชาวบ้านเลือกเรามาทำงาน“ นายก อบต.รายหนึ่ง กล่าว
ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังบอกด้วยว่า เคยมีการนำเรื่องเสาไฟโซลาร์เซลล์เข้าที่ประชุมฝ่ายบริหาร ศอ.บต.หลายครั้ง แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบ
“ที่ผมซื้อมาทดลองติดตั้ง มีทั้งหลอด ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ใช้มา 3 ปียังไม่มีปัญหา ผมเคยบอกในที่ประชุมแล้วด้วยเรื่องนี้ ว่าสามารถซ่อมได้จริงด้วยงบไม่กี่บาท แล้วโอนให้ อบต. เราพร้อมจะดูแล ข้อแม้ต้องซ่อมให้ใช้ได้ปกติก่อนโอน หรือร่วมกันดำเนินการ ก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร ยุคนี้ทำอะไรผมก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาคิด” นายก อบต.คนเดิม กล่าว
@@ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” มี จนท.แวะดูแลบ้าง
นอกจากเสาไฟโซลาร์เซลล์แล้ว ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ หรือตู้กดน้ำโซลาร์เซลล์ที่ราคาตู้ละกว่า 5 แสนบาท แพงกว่ารถปิคอัพหลายๆ รุ่น ชาวบ้านเรียก “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ด้วย
โครงการจัดซื้อและติดตั้งตู้กรองน้ำครึ่งล้าน อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. สำนักเดียวกับเสาไฟโซลาร์เซลล์
ทีมข่าวลงพื้นที่สังเกตการณ์ “ตู้กรองน้ำ” บริเวณหมู่ 2 ตำบลลำพะยา พบว่าตู้กรองน้ำของ ศอ.บต.ไม่สามารถใช้งานได้ ลองกดดูก็ไม่มีน้ำไหลออกมา
นายธัญญา แก้วเจริญ กำนันตำบลลำพะยา กล่าวว่า ตู้กรองน้ำโซลาร์เซลล์ มีเจ้าหน้าที่มาดูแลบ้าง เมื่อไปเปิดดูน้ำก็ไม่ไหล สงสัยไฟฟ้าดับ แต่ก่อนหน้านี้ยังใช้งานได้บ้าง
@@ ชาวบ้านพาพิสูจน์ตู้กรองน้ำหน่วยงานอื่น
ขณะที่ทีมข่าวกำลังถ่ายภาพเสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดในพื้นที่ตำบลลำพะยา ปรากฏว่ามีชาวบ้านรายหนึ่ง เข้ามาชวนให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปดูตู้กรองน้ำที่ติดตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านเหนือ ต.ลำพะยา ปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานได้ โดยได้ทดลองกดดูจริงๆ ด้วย ก็พบว่าไม่มีน้ำไหล
ชาวบ้านรายนี้เล่าว่า ตู้กรองน้ำที่เห็นนี้ เป็นตู้ของหน่วยงานอื่น ไม่ใช่ ศอ.บต. ใช้งานไม่ได้นานแล้ว อยากให้ผู้รับผิดชอบ มาซ่อม เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์ได้ งบประมาณจะได้ไม่สูญเปล่า