หลังเกิดข่าวใหญ่จากเหตุปิดล้อม-ยิงปะทะที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง บริเวณซอยด้านหลัง “ศูนย์มัรกัสยะลา” ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้หลายคนสงสัยว่า เหตุใดพื้นที่แถบนั้นจึงมีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงไปเช่าบ้านและซ่อนตัวอยู่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่มองว่า มาเช่าบ้านเพื่อเตรียมก่อเหตุ หรือไม่ก็คอยสนับสนุนการก่อเหตุ (เรียกว่าเป็นพวกทำหน้าที่ โลจิสติกส์)
“ศูนย์มัรกัสยะลา” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย มัสยิดอิล - นูร (มัรกัสยะลา)” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามของมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ย่านตลาดเก่า อำเภอเมืองยะลา
ศูนย์ดะวะห์แห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ มีที่นั่งล้อมรอบ ด้านในมีอาคารมัสยิด 1 หลัง ห้องน้ำ 30 ห้อง อาคารห้องครัว 1 หลัง มีอาคารโรงเรียนสอนท่องจำอัลกุรอาน (โรงเรียนฮาฟิส) 1 หลัง มีเด็กเรียนท่องจำคัมภีร์อัลกุอาน จำนวนประมาณ 600 คน เป็นชายล้วน
สำหรับกิจกรรมในมัสยิด มีการละหมาด 5 เวลา นอกนั้นเป็นงานดะวะห์ ประกอบด้วย ประชุมประจำวัน อ่านตะเล็ม (หนังสือปฎิบัติศาสนกิจ) แบ่งเวลาเยี่ยมเยียนพบปะคนในหมู่บ้านเพื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่พระเจ้า และแบ่งเวลาออกทำงานดะวะห์ 3 วันต่อหนึ่งเดือน
นี่คือกิจวัตรประจำวันภายในศูนย์มัรกัสยะลา และที่นี่ยังรับกลุ่มดะวะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดโปรแกรมส่งไปทำงานดะวะห์ยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยผ่านการอนุมัติจาก “ศูนย์มัรกัสยะลา”
คำว่า “ดะวะห์” หมายถึงการเดินทางเผยแผ่ศาสนา ถ้าเทียบกับศาสนาพุทธก็คล้ายๆ ธุดงค์ โดยดะวะห์ของศาสนาอิสลาม มุสลิมสามารถทำได้โดยไม่ต้องเป็นนักบวชหรืออิหม่าม
การดะวะห์ มีแบบที่ใช้เวลาสั้นที่สุด คือ 3 วัน และยาวที่สุด 4 เดือน เรียกว่า “ดะวะห์ประชาชาติ” ออกเผยแผ่ศาสนาได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มที่ออกดะวะห์จะมีการรวมกลุ่มกันของผู้เผยแผ่ศาสนา เรียกว่า “โยร์” ซึ่งมีจัดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง พื้นที่โดยรอบ “มัรกัสยะลา” เป็นพื้นที่อ่อนไหว ถูกจับตามาอย่างต่อเนื่อง เพราะ
1.เป็นการรวมตัวของมุสลิมชายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากพื้นที่อื่นที่เป็นกลุ่มดะวะห์ (มาจากพื้นที่อื่น หรือประเทศอื่น) เนื่องจากศูนย์ดะวะห์แห่งนี้ ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ กลุ่มดะวะห์จะมารวมตัวกัน และเชิญชวนประชาชนทำความดีละเว้นความชั่ว
2.มีการรวมกลุ่มคนจากหลากหลายประเทศ บางประเทศก็ถูกจับตาทางความมั่นคง จึงมีความกังวลว่าอาจมีกลุ่มหัวรุนแรงแฝงตัวมาได้
3.มีโรงเรียนฮาฟิส หรือโรงเรียนสอนอัลกุรอาน โดยโรงเรียนลักษณะนี้ รับเด็กและเยาวชนมาอยู่อาศัยแบบกินนอน สอนเฉพาะผู้ชาย ทำให้เป็นแหล่งรวมตัว และเสี่ยงต่อโรคระบาดด้วย อย่างช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็เคยมีข่าวเด็กโรงเรียนนี้ติดโควิด และเป็นกลุ่มเสี่ยงแทบยกโรงเรียน
4.เมื่อมีคนมารวมตัวกันมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มดะวะห์ พื้นที่โดยรอบจึงมีที่พักมาก เช่น บ้านเช่า อาจกลายเป็นแหล่งซ่องสุมแฝงตัวของกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายปฏิบัติการ ระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงมองว่า “ศูนย์มัรกัสยะลา” และพื้นที่โดยรอบ อาจถูกผู้ไม่หวังดีใช้แฝงตัว หรือหลบซ่อนตัวหลังก่อเหตุรุนแรง
แต่จากการสอบถามชาวบ้าน และคนในมัรกัส กลับมองอีกมุมหนึ่งว่า จุดเกิดเหตุยิงปะทะ ห่างจาก “มัรกัสยะลา” ไกลมาก ประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงขอทุกฝ่ายอย่าเหมารวม โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ขอให้ลดอคติ การนำเสนอข่าวควรระบุให้ชัดว่าเกิดเหตุที่ไหน บ้านเลขที่เท่าไหร่ หมู่บ้านอะไร
“หากทางการมองว่า มัรกัสเป็นที่ซ่อนตัวของผู้ไม่หวังดี ผมว่าทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐก็มองเป็นแบบนี้ทั้งหมด และหากมองอีกด้านหนึ่ง วัดก็กลายเป็นที่แปลงร่างให้กับบางกลุ่มเหมือนกัน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่อย่าสร้างภาพบนอัตลักษณ์ความศรัทธาของพื่น้องมุสลิม อย่างเคสปิดล้อมครั้งนี้ ให้ระบุจุดเกิดเหตุให้ชัดเจนว่าเกิดเหตุที่บ้านเลขที่อะไร ชื่อหมู่บ้านอะไร ไม่ใช่ว่าพออยู่ใกล้ศูนย์มัรกัสยะลา ก็นำเสนอข้อมูลโดยเอาพื้นที่มัรกัสเข้ามาเกี่ยวโยงด้วย แบบนี้เมื่อไหร่รัฐจะทำงาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”ผู้นำดะวะห์ในพื้นที่หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณตลาดเก่ายะลา กล่าวว่า เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับมัรกัสเลย จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากมัรกัสครึ่งกิโลฯ ไม่ได้อยู่บริเวณมัรกัสด้วยซ้ำ อย่ามาเหมาโยงมัรกัสให้เสียหาย
“คนที่มีอคติกับอะไร ก็มักจะโยงเป็นธรรมดา คนพวกนั้นเขาไปอยู่บ้านเช่าตั้งแต่เดือนรอมฎอน ไม่มีใครรู้จักเขาเลย เขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับมัรกัสเลย ยังดีที่รองผู้ว่าฯยะลา และรองแม่ทัพภาคที่ 4 มาพูดแก้ข่าวแล้วว่าไม่เกี่ยวกับมัรกัส” ชาวบ้านย่านตลาดเก่า ระบุ
นี่คืออีกหนึ่งมุมมองที่แตกต่างระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งความต่างนี้ดูจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสภาพปัญหาที่ยืดเยื้อเนิ่นนาน...