กรรมการสิทธิฯ เผยเรื่องร้องเรียนภาคใต้ 464 คำร้อง ประเด็นสิทธิในกระบวนยุติธรรมกรณีซ้อมทรมานมากที่สุด ส่งทีมตรวจเยี่ยม 6 ศูนย์ซักถามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ติดกล้องวงจรปิด เก็บภาพเคลื่อนไหวให้นานพอสำหรับการตรวจสอบ พร้อมแนะมาตรการลดขัดแย้งหลังปฏิบัติการวิสามัญฯ
วันพุธที่ 20 ก.ค.65 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงว่า ตามที่ กสม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พ.ย.63 ให้จัดตั้งสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของ กสม. ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.65 ที่อาคารสันติภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถนนปุณณกัณฑ์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
และในวันนี้ได้มีการจัดสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เนื่องในโอกาสเปิดสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่
@@ 464 เรื่องร้องเรียน กรณีซ้อมทรมานมากสุด
กรรมการสิทธิฯ ระบุถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ว่า นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.60 ถึงปัจจุบัน (30 มิ.ย.65) กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 464 คำร้อง โดยเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่
1.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ
2.สิทธิและสถานะบุคคล เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือจัดทำล่าช้า
3.สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง กระทำการตรวจค้น ควบคุมตัว และปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
@@ เสนอวิธีลดปมขัดแย้งหลังวิสามัญฯ
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบครึ่งปีแรกของปี 65 พบว่า มีสถิติข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่รายงานว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.65 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 200 ครั้ง ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยบางส่วนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
นอกจากนี้ในปี 65 มีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันและนำมาซึ่งการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยหรือบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคงหลายกรณี ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานความมั่นคงในประเด็นการวิสามัญฆาตกรรม เช่น การให้องค์กรอิสระ ตัวแทนญาติ และผู้นำศาสนา สามารถเข้าร่วมตรวจสอบหลักฐานการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในรัศมีที่กำหนดได้, การติดตั้งกล้องระหว่างการปฏิบัติงานไว้บนหมวกหรือเสื้อที่ตัวเจ้าหน้าที่ และการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
ไม่นานมานี้ กสม. โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้มีการหารือร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ถึงแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและแนวทางในการเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบด้วย
@@ เดินหน้าให้หน่วยอื่นประเมินสภาพจิตใจ “คนเข้าค่ายทหาร”
ในช่วงที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม.ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงกลาโหมรายงานว่า ได้อบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ให้กระทรวงกลาโหมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตรวจประเมินสุขภาพจิตใจของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการซักถาม ทั้งก่อนและหลัง และเปิดโอกาสให้สามารถร้องขอการตรวจร่างกายและประเมินสภาพจิตใจจากแพทย์ที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานความมั่นคงควบคู่ไปกับการตรวจของแพทย์ในสังกัดหน่วยงานความมั่นคงนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว
“พื้นที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ด้วยความซับซ้อนของสถานการณ์ปัญหาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งพลังงานและอุตสาหกรรม กสม.จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ ซึ่งสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้นี้ เป็นกลไกในระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ กสม.จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดภาคใต้ได้รับความสะดวกและสามารถเข้าถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” กรรมการสิทธิฯ กล่าว
@@ ตรวจเยี่ยม 6 ศูนย์ซักถาม ยอมรับมีพัฒนาการ
กรรมการสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มการร้องเรียนลดลง กรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการละเมิดหรือสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นประเด็นที่ กสม.มีความห่วงกังวลและได้ประสานแนวทางตรวจสอบและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย.65 กสม. โดย นายสุชาติ เศรษฐมาลินี และ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิฯ พร้อมด้วยที่ปรึกษา กสม.และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม.ส่วนกลาง และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้เข้าตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยมี พล.ร.ต.วรพล สิทธิจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนให้ข้อมูล และหารือร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
จากการหารือร่วมกัน ทางผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยินดีให้ความร่วมมือกับ กสม. เพื่อให้การตรวจสอบคำร้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวเนื่องกับคดีความมั่นคงมีความรวดเร็วมากขึ้น และเสนอให้มีการสัมมนาประจำปีเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง
สำหรับผลการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถามทั้ง 6 แห่งนั้น ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเห็นถึงพัฒนาการของหน่วยงานแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม คณะตรวจเยี่ยมได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการ เพื่อให้หน่วยงานรับไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น ควรมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการควบคุมตัวและซักถาม โดยต้องจัดเก็บข้อมูลในอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการบันทึกในระยะเวลาที่นานเพียงพอต่อการตรวจสอบ, ควรมีการปรับปรุงสภาพภายในห้องพักของผู้ต้องสงสัยให้เหมาะสมมากขึ้น และการตรวจร่างกายบุคคลต้องสงสัย ควรใช้แพทย์จากโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของสถานที่ควบคุมตัว หรือหากเป็นไปได้ ควรมีความเห็นที่สองในทาง การแพทย์ด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้คณะตรวจเยี่ยมได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว
“ที่ประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 ก.ค.65 ได้รับทราบรายงานผลการหารือและตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว โดยเห็นว่า กระบวนการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวจะเป็นกลไกที่สำคัญในการเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ตลอดจนสามารถสร้างความตระหนักและส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้ในสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ” กรรมการสิทธิฯ ระบุ