ฮือฮาประดิษฐ์ “เอ็ม 16 - อาร์พีจี” ร่วมขบวนแห่รายอ เอ็นจีโอห่วงไม่เหมาะกับเด็ก-สตรี สื่อสารแง่ลบ ทหารไม่เครียด ชี้แค่กีฬาสี เคลียร์จบแล้ว
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอะไรให้ตื่นตะลึงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตลอด ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้ มีประเด็นเยาวชนชายหญิงในพื้นที่พร้อมใจกันแต่งชุดมลายู ช่วงเทศกาลฮารีรายอ อีดิ้ลฟิตรี หรือ “รายอปอซอ” ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด จนฝ่ายความมั่นคงต้องสั่งตรวจสอบว่า มีวัตถุประสงค์ในเชิงความมั่นคงหรือไม่ เพราะเป็นการรวมตัวของเยาวชนนับหมื่นคน แต่งกายด้วยชุดมลายูอย่างพร้อมเพรียงจนน่าตกใจ กว่าจะเคลียร์กันลงตัวก็ใช้เวลาพอสมควร และมี ส.ส.หยิบมาอภิปรายในสภาด้วย
ล่าสุดในช่วงเทศกาลฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา หรือ “รายอฮัจย์” ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้กับมุสลิมทั่วโลกที่ได้ไปแสวงบุญฮัจย์ ที่นครเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปรากฏว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นอีก
เมื่อมีภาพและคลิปวีดีโอ “ขบวนแห่” ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ขบวนแห่แบบแฟนซี” ถูกโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพจต้นทางชื่อว่า “Berita Melayu Patani”
หากส่องดีๆ จะเห็นว่า ขบวนแห่นี้ดูแปลกๆ เพราะสิ่งของที่นำมาแห่ ไม่ใช่ดอกไม้ หรือของตกแต่งที่เป็นแนวสวยงามหรือดูเป็นสิริมงคล แต่กลับเป็นอาวุธสงครามชนิดต่างๆ ทั้งเอ็ม 16 อาก้า อาร์พีจี เครื่องยิงลูกระเบิด โดยคนที่อยู่ในขบวนแห่มีทั้งหญิงและชาย ใช้รถกระบะเป็นพาหนะ ในคลิปมีการเปิดเพลงภาษามลายูหรือภาษาอาหรับด้วย
หลังคลิปที่ว่านี้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลายคนสับสนว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงหรือไม่
ทีมข่าวได้ใช้แอปพลิเคชั่น “กูเกิล แปลภาษา” เพื่อแปลข้อความที่อธิบายใต้คลิปในเพจดังกล่าว ซึ่งเขียนเป็นภาษามลายู สรุปความได้ว่า เป็นการเฉลิมฉลองหลังจากฉลอง Aidil Adha (อีดิ้ลอัฎฮา) ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ ต.ดุซงยอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา และยังมีข้อความที่อธิบายวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “สร้างความสามัคคีในความหลากหลายเพื่อสะท้อนความเป็นจริงหลากหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา และหลากหลายวัฒนธรรมของปาตานี”
คำอธิบายของเพจ “Berita Melayu Patani” ยังอ้างว่า การฉลองแบบนี้จัดขึ้นในทุกภูมิภาค และในภาคใต้ของประเทศไทย
@@ เอ็นจีโอห่วงไม่เหมาะกับเด็ก-สตรี สื่อสารแง่ลบ
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและผู้ใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปเขียนคอมเมนท์เชิงให้สติ และไม่เห็นด้วยกับขบวนแห่ลักษณะนี้
อัญชนา บอกกับทีมข่าวว่า เข้าใจเรื่องการจัดกิจกรรม แต่มองว่าขาดการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อเด็กและผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้ง การมีภาพอาวุธ ผู้หญิงและเด็กถือปืน ถืออาวุธสงคราม ถือว่าขาดการตระหนักในแง่ของการถูกดึงไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ เช่น ไอเอส ตาลีบัน ในคลิปมีการพูดถึงตาลีบัน
เท่าที่ทราบมีผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ตำรวจ และผู้นำชุมชนมาเปิดงานด้วย แต่ไม่ได้ตระหนักถึงตรงนี้เลย ภาพสื่อไปทำให้เกิด Islamophobia (กระแสหวาดกลัวอิสลาม) และอาจทำให้คนที่ดูภาพ ดูคลิป เชื่อว่ามุสลิมในพื้นที่สนับสนุนความรุนแรงได้ แต่ทราบมาว่า เป็นการตัดสินใจร่วมกันของชุมชนและเป็นพื้นที่สีแดงที่ถูกกดทับจากเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด ทราบว่าเป็นกิจกรรมของชาวบ้าน หมู่ 3 บ้านสุแฆ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
ฉะนั้นเห็นว่า ควรมีการทำความเข้าใจกับชุมชนหรือผู้นำชุมชน พวกเขาอาจไม่รู้ ไม่ได้ตระหนักถึงสังคมภายนอก ทุกฝ่ายควรสื่อสารเพื่อให้เกิดการตระหนักว่า สังคมไม่ควรสนับสนุนเรื่องอาวุธและความรุนแรง ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับความรุนแรงมากว่า 18 ปี ภาพทหารถือปืน รถถัง มันฝังอยูในใจเด็กและเยาวชน แต่ผู้ใหญ่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองนี้อย่างไรให้เด็กและเยาวชนปฎิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ตอนนี้พยายามประสานเพื่อให้ชุมชนแถลงแบบไม่ให้ชุมชนเสียใจ
@@ ทหารไม่เครียด ชี้แค่กีฬาสี เคลียร์จบแล้ว
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นกิจกรรมของชาวบ้านที่จัดขึ้น เป็นงานกีฬาสีที่ไม่ได้มีความประสงค์ในเรื่องของความมั่นคง
โดยคนที่ทำเป็นช่างไม้ ต้องการแสดงความแปลก เพื่อให้อีก 2 สีที่แข่งขันกันได้ชื่นชม ช่างไม้แอบทำเพื่อไม่ให้อีก 2 สีได้รู้ว่าทำอะไรเพื่อความสนุก ให้ชาวบ้านได้หัวเราะ มีความสุขกันในช่วงรายอ
พ.อ.เกียรติศักดิ์ บอกด้วยว่า หลังจากทราบเรื่องได้มีการตรวจสอบและได้พูดคุยจนเข้าใจกันแล้ว ไม่มีอะไรจริงๆ
ขณะที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 บอกกับทีมข่าวว่า ทราบว่าเป็นกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ดุซุงยอ เบื้องต้นให้เชิญผู้บริหารโรงเรียนและแกนนำชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเป็นมาอย่างไร ยืนยันว่าไม่เกี่ยวเรื่องความมั่นคง