ททท.ปัตตานี จัดกิจกรรมท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ สัมผัสจังหวัดภาคใต้ชายแดนผ่านเส้นทางรถไฟสายพหุวัฒนธรรม 29-31 ก.ค.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ปลายด้ามขวาน ชูวงแหวนวัฒนธรรม มรดกสังคม ทั้งของดีประจำถิ่น วิถีชีวิต วิถีศรัทธา อาคาร อาหาร อาภรณ์ ดนตรี กวีศิลป์
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี จัดงานแถลงข่าวโครงการท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ สัมผัสจังหวัดภาคใต้ชายแดน (Experience Tourism in Southern Border) ภายใต้กิจกรรม Southern Border Heritage 2022 For Art, Handicraft and Recipe ณ สถานีรถไฟโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี (สถานีรถไฟปัตตานี) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวด้วยรถไฟสายวัฒนธรรม โดยกิจกรรมจะมีขึ้นช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้
งานแถลงข่าวมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสุชาติ ชายมัน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี, นายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอโคกโพธิ์, รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, นายเริงศักดิ์ ศิริสงคราม สารวัตรงานปฏิบัติการโดยสารภูมิภาค 4 การรถไฟแห่งประเทศไทย, นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี, นางรดา จิรานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก
สำหรับกิจกรรม Southern Border Heritage 2020 For Art, Handicraft and Recipe ตามโครงการการท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ สัมผัสจังหวัดภาคใต้ชายแดน 2022 เน้นการจัดการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีประสบการณ์แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของดีประจำถิ่น วิถีชีวิต วิถีศรัทธา อาคาร อาหาร อาภรณ์ ดนตรี กวีศิลป์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านเส้นทางรถไฟสายพหุวัฒนธรรม
เริ่มต้นจากสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก จำนวน 3 วัน โดยมีรายละเอียดที่สำคัญคือ
กิจกรรมส่วนที่ 1 Talk in Train (ทอล์คอินเทรน)
กิจกรรมส่วนที่ 2 Market of Art, Handicraft and Recipe
กิจกรรมส่วนที่ 3 การนำสื่อมวลชน ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ และนักท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทางกับขบวนรถไฟสายพหุวัฒนธรรม ชมแหล่งท่องเที่ยวตามสถานีที่แวะจอด ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 29-31 ก.ค.65 เพื่อกระตุ้นอัตลักษณ์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้
นายสิรภพ กล่าวว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ประมาณการณ์ต่อหัว เงินเข้าประเทศเราเยอะมาก ตอนโควิดระบาด รายได้นี้หายไป ตอนนี้เริ่มดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเข้ามาพอๆ กับนักท่องเที่ยวอินเดีย สอดคล้องกับการขับเคลื่อนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีเสน่ห์
“ผมเป็นคนปัตตานีไปกรุงเทพฯครั้งแรกก็ขึ้นรถไฟที่นี่ มาเห็นป้ายเดิมๆ ก็มีความสุข การสัญจรทางรถไฟเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง สอดรับกับเส้นทางสายวัฒนธรรม ศิลปะ เหมือนคำพูดของ อ.ศิลป์ พีระศรี คือ ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ศิลปะคือการบันทึกเรื่องราวอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ ศิลปินทุกคนเรียนรู้ความเป็นมนุษย์มาก่อน เราเริ่มต้นขบวนศิลปะและวัฒนธรรมจากใต้สุดของประเทศ ให้สังคมได้มองเห็นความเป็นไปของวิถีชีวิตของพื้นที่นี้ และสิ่งที่ชาวบ้านคิด เรามาร่วมกันต่อยอด ได้ผลแน่นอน” ที่ปรึกษา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว
ร.ศ.อิ่มจิต กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานี สร้างการร่วมแรงร่วมใจกับทุกภาคส่วน ให้ย่านวงแหวนวัฒนธรรมเมืองเก่าปัตตานีเป็นมรดกสังคม เป็นทุนในการต่อยอดเรื่องของอาภรณ์ อาหาร อารมณ์ การสร้างรายได้ในมิติของพื้นที่ มีการเชื่อมข้อมูลไปยังวงแหวนกลาง ทั้งโคกโพธิ์ สายบุรี มายอ ซึ่งทาง ม.อ.ปัตตานีเริ่มทำเรื่องรถไฟ 100 ปีที่โคกโพธิ์ มีนิทรรศการเชื่อมร้อยกับมหาวิทยาลัยทางภาคอื่นๆ เพื่อเป็นรถไฟสายวัฒนธรรม รถไฟเป็นวิถีชีวิต นำความหวัง เศรษฐกิจ เป็นเส้นทางที่ทำให้คนเรามาพบกัน โครงการนี้ได้มาเชื่อมร้อยวงแหวนใหญ่คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นำผู้คนมาดื่มด่ำ เรียนรู้วิถีชีวิตของพื้นที่แห่งนี้
ขณะที่ นายเริงศักดิ์ กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดเดินขบวนรถพิเศษ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อสังคมและพื้นที่ เป็นจุดเริ่มของการเปิดโลกทัศน์การท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง