“ปัญหาสามจังหวัด ผมว่าดีที่สุดควรแก้ที่การศึกษา สองให้มีโอกาสได้งานทำ ปรับปรุงให้เศรษฐกิจดีขึ้น...ปัญหาการศึกษาสำคัญมาก เข้าใจว่าโลกวันนี้เจริญมาก ถ้าเราไม่มีความรู้ก็ไม่เจริญ...เราต้องแข่งกับทุกชาติ ถ้าเขาวิ่ง เราก็ต้องวิ่งให้เร็วขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาวิ่ง เราเดิน ก็เหมือนกับว่าเราถอยหลัง”
เป็นวิสัยทัศน์ของ ศ.กิตติคุณ ดร.ตอร์ลา ฮัสซัน (Professor Emeritus Dato' Dr Torla Hassan) นักการศึกษาชื่อดังที่มีผลงานเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งในมาเลเซีย และอีกหลายประเทศ
ชื่อเสียงของ ดร.ตอร์ลา เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา แต่น้อยคนที่จะทราบว่า ดร.ตอร์ลา เป็นคนไทย และเป็นชาวนราธิวาสโดยกำเนิด เรียนจบการศึกษาภาคบังคับในวัยเด็กที่โรงเรียนใน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และจบมัธยมปลายที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามียะห์ อำเภอเมืองนราธิวาส ก่อนได้รับทุนจาก ต่วน สุวรรณศาสน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไปศีกษาต่อที่ประเทศคูเวต
ต่อมาระหว่างเรียนในระดับปริญญาโท ก็ได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย และทุนจากซาอุดิอาระเบีย ให้เรียนจนจบปริญญาเอกที่ประเทศสก๊อตแลนด์ แล้วกลับมาทำงานที่มาเลเซีย
ทำงานได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับโอกาสใหม่ มหาวิทยาลัยบรูไนยืมตัวไปสอน อยู่ที่บรูไน 5 ปีเศษ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยในมาเลเซียจะเปิดคณะแพทยศาสตร์ ที่กวนตัน รัฐปะหัง ตอนนั้นก็ได้รับการทาบทามให้มาเตรียมความพร้อมและบริหาร ทั้งที่ไม่ได้จบแพทย์มา
บริหารคณะแพทย์ได้ 2 ปี ก็ได้รับเชิญจาก นายอันวาร์ อิบรอฮิม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปเปิดสาขาของมหาวิทยาลัยที่ตรังกานู 2 ปี แล้วกลับมามหาวิทยาลัยที่กัวลาลัมเปอร์ เปิดสาขาคณะวิทยาศาสตร์ และแต่งตั้งให้เป็นคณบดีของ International Institute of Islamic Thought and Civilization (ISTAC) ซึ่งเป็นคณะระดับปริญญาโท ไม่มีปริญญาตรี
ดร.ตอร์ลา เป็นคณบดีที่ ISTAC และยังไปเป็นคณบดีที่สถาบันการศึกษาอื่นอีกหลายแห่ง เคยเป็นถึงระดับรองอธิการบดี จากนั้นประเทศคูเวตเชิญไปเป็นอธิการบดี ให้อยู่ 10 ปีแต่ไปอยู่ได้ 10 เดือน ก็เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงกลับมาอยู่ที่มาเลเซียจนถึงปัจจุบัน
ต้นเดือน มิ.ย.65 พรรคประชาชาติไปจัดกิจกรรมพบปะผู้ประกอบการร้านต้มยำ รวมทั้งคนสามจังหวัดที่ไปทำงานในมาเลเซีย และได้นัดพบกับ ดร.ตอร์ลา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” ด้วย
“ข้อความสำคัญ” ที่ ดร.ตอร์ลา เน้นย้ำเป็นพิเศษ ก็คือเรื่องการศึกษาและการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อเพิ่ม “ขีดแข่งขัน” ให้สามารถอยู่ได้ในโลกที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ผมคิดว่าเด็กในสามจังหวัดที่เรียนดีจบมาแล้วก็เยอะ แต่ว่าต้องปรับปรุง เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ต้องเปลี่ยนตามโลก โอกาสการทำงานก็เหมือนกัน ไม่เฉพาะแต่ทางใต้ แต่ทั่วประเทศก็ต้องปรับ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ เพราะถ้าไม่ปรับ ต่อไปจะไม่ทันเขา”
หนึ่งใน “อาวุธทางปัญญา” ที่ ดร.ตอร์ลา แนะนำให้ต้องส่งเสริม คือความสามารถด้านภาษา
“การลงทุนต้องรู้ภาษาให้มาก ต่างชาติมาลงทุน ถ้าไม่มีความรู้เรื่องภาษาก็ยาก การศึกษาก็เหมือนกัน ต้องปรับปรุง ไม่ใช่เรียนทฤษฎีอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเอาตำรา 20-30 ปีที่แล้วมาสอน อย่างน้อยเดือนหนึ่งต้องอยู่กับบริษัท ต้องเน้นหลักการปฏิบัติ”
แน่นอนว่าการศึกษาคือการสร้างคน ซึ่งการสร้างคนให้มีความพร้อมในโลกยุคปัจจุบันนี้ ต้องปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องภาษาที่ทิ้งไม่ได้
“ตอนนี้เราหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษ เพราะโลกเจริญขึ้น การคมนาคมต่างๆ มีความเชื่อมโยงกัน ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นพวกเราต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งในมหาวิทยาลัย ในแคมป์ฝึกอบรมดูงาน ควรใช้ภาษาอังกฤษ ต้องรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย อาจจะมีภาษาจีนด้วย”
“ขณะเดียวกันก็ให้มีการอบรมในด้านธุรกิจ เราต้องผลิตนักศึกษาที่จบมาแล้วทำงานเองได้ ไม่ใช่ว่ารอแต่เข้ารับราชการ เพราะราชการก็ต้องจำกัด ฉะนั้นต้องให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ด้านการค้า หลังจากนั้นก็แล้วแต่เขาว่าจะทำอะไร อย่างน้อยให้เขาได้มีโอกาส ได้เรียนรู้ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาต้องจบไปแล้วผลิตอะไรได้เอง ไม่ใช่ว่ารอแต่งานจากคนอื่น เขาผลิตงานได้ เขาจะเปิดโอกาสให้คนอื่นมาหาเขา ไม่ใช่ว่าเขาไปหาคนอื่น อันนี้สำคัญมาก”
แม้จะไม่ได้พำนักในประเทศไทยบ้านเกิด แต่ ดร.ตอร์ลา ก็ยังได้สัมผัสกับเด็กไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เด็กบ้านเราที่มาเรียนในประเทศมาเลเซียมีจำนวนพันกว่าคน เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่มีประมาณ 3 พันกว่าคน แต่ตอนนี้จำนวนน้อยลง เพราะค่าธรรมเนียมสูง แล้วเขาหาทุนไม่ค่อยได้ คือมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ มีนักศึกษามาจาก 120 ประเทศ ต้องแข่งกับเขา เด็กจากบ้านเราเก่งจริง แต่ด้านภาษาอ่อน ผมถึงบอกว่าเรื่องภาษาสำคัญมาก ภาษาอังกฤษต้องเก่ง”
“มี 2–3 อย่างที่เป็นกุญแจของการศึกษาต่อและความสำเร็จ คือภาษา สามารถไปเรียนสังคมจิตวิทยา การเมืองได้สบาย ถ้าวิทยาศาสตร์ดี ก็เรียนวิศวะสบาย ถ้าคณิตศาสตร์ไม่ดี เราเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เรียนวิศวะก็ไม่ได้”
ปัญหาที่ ดร.ตอร์ลา ค้นพบจากเด็กชายแดนใต้ คือเลือกเรียนตามเพื่อน และไม่เรียนในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ
“เด็กบ้านเราส่วนมากจะเรียนตามเพื่อน เพื่อนเรียนอะไรก็เรียนตาม ไม่ทราบว่าการแนะแนวที่โรงเรียนเป็นอย่างไร เพราะเด็กเลือกเรียนสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีตลาดงานที่บ้านเรา หรือเลือกเรียนสาขาที่คนเรียนกันน้อย แต่เรียนตามเพื่อนๆ เลือกวิชาอะไรก็เรียนตามเขา กลับไปล้นตลาด อันนี้สำคัญ”
เมื่อถามถึงปัญหาการเมืองในประเทศไทย ซึ่งติดกับดักมานานเกือบ 2 ทศวรรษ และฉุดรั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ ไปเกือบหมด ดร.ตอร์ลา ออกตัวว่า ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองในประเทศไทย แต่ก็ได้ส่งสารสำคัญถึงสังคมบ้านเมืองบ้านเรา
“ผมไม่ค่อยได้ติดตามอะไรมาก แต่พอรู้บ้าง เราไม่ค่อยสามัคคีกัน นักการเมืองทางใต้เรามีไม่มาก เราต่างคนต่างอยู่ เรามีผู้นำดีๆ ไม่กี่คนในประวัติศาสตร์เรา อนาคตข้างหน้าก็เหมือนกัน เราไปไม่ได้ถ้าเราไม่ร่วมมือช่วยกัน อยากเห็นความสามัคคีกัน ต้องแก้ปัญหาตรงนี้”
นี่คือวิสัยทัศน์ของ ดร.ตอร์ลา ที่เติบโตจากนราธิวาส กระทั่งไปโด่งดังในระดับนานาชาติ
คณะของพรรคประชาชาติที่ไปพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ดร.ตอร์ลา นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค รวมทั้งแกนนำและผู้บริหารพรรค ส.ส.ของพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ที่ไปกันอย่างพร้อมหน้า
ทุกคนได้ชื่นชมในผลงานของ ดร.ตอร์ลา โดยเฉพาะด้านการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นนักบริหารที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ