การต่อสู้ทางการเมืองย้ายไปขบเหลี่ยมเฉือนคมกันในโลกออนไลน์ หลายๆ กรณีดุเดือดยิ่งกว่าในโลกความจริงเสียอีก...
โดยเฉพาะเมื่อ “ผู้ว่าฯมหาชน” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประสบความสำเร็จจากการใช้โซเชียลมีเดียสร้างความสนใจทางการเมือง จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นเป็นประวัติศาสตร์ ส่งผลให้นักการเมืองและผู้นำทางการเมืองหลายคน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เปิดตัวใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้น
อย่างเช่นการไลฟ์สดของเพจ “ไทยคู่ฟ้า” ในวันที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จโครงการ “ล้อ เรือ ราง” เชื่อมโยงการขนส่งแบบบูรณาการ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการไลฟ์สดแข่งกันผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งไปอีกงานหนึ่ง และไลฟ์สดเหมือนกัน
ผู้ว่าฯชัชชาติ กับการไลฟ์สดดูจะเป็นของคู่กัน เพราะแม้เดินทางไปต่างประเทศในภารกิจส่วนตัวกับครอบครัวก็ยังไลฟ์ แต่สำหรับผู้นำทางการเมืองบางคน อย่างเช่นนายกฯประยุทธ์ ดูประดักประเดิดและไม่ราบรื่นเป็นเนื้อเดียวกันนัก แม้แต่ถ่ายภาพนิ่งบนเครื่องบินยังถูกวิจารณ์ยับ
แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์รองรับเป้าหมายทางการเมือง ไม่ว่าจะแบบคล่องแคล่ว หรือแบบติดๆ ดับๆ ย่อมก่อผลกระทบตามมาทั้งด้านบวกและลบ
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความเตือนสติและเสนอข้อพึงระวังในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าติดตาม
@@ ประโยชน์ vs โทษในมุมกลับ
1.โลกออนไลน์ทำให้มนุษย์ได้รับประโยชน์อย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ
-แสดงตัวตนว่า ตนเองเป็นใคร
-ใช้สำหรับการสื่อสาร เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ตามที่ตัวเองต้องการ
-แสดงออกถึงพฤติกรรมการปฏิสัมพันธ์ของตัวเองกับบุคคลอื่นๆ
คุณสมบัติของโซเชียลมีเดียสามารถทำให้ผู้คนบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นของโลกออนไลน์ได้ทุกประการ นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังถูกออกแบบให้มีการแสดงความชอบ (Like) ความไม่ชอบ (Dislike) การมีผู้ติดตาม (Follower) การแสดงความเห็น (Comment) และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นฟังก์ชันที่สร้างความสนใจให้กับผู้คน และเป็นโมเดลทางธุรกิจของโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น
2.ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณสมบัติของโซเชียลมีเดียซึ่งนอกจากจะสามารถสร้าง “ไวรัล” ได้โดยง่ายแล้ว โซเชียลมีเดียยังสามารถควบคุมและสร้างความรับรู้ของผู้คนด้วยอัลกอริทึม ซึ่งทำหน้าที่เสมือน Information DJ ที่คอยคัดเลือกข้อมูลที่ถูกใจผู้คนมาให้ตลอดเวลา ผสมผสานกับฟังก์ชันอื่นๆ ที่สร้าง แฟนคลับที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน จนทำให้กลายเป็นกลุ่มก้อนที่มีความเห็น ความชอบ ไปในทางเดียวกันที่เข้มข้น (Tight knit group) และมีไม่น้อยที่กลายเป็นกลุ่มก้อนที่ผู้เห็นต่างไม่สามารถแตะต้องได้ แม้ว่าความเห็นต่างนั้นจะมีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงที่คนทั่วๆ ไปพอจะรับฟังได้ก็ตาม ดังที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป
@@ เข้าถึง vs เข้าใจผิด
3.การที่โซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้ในทางการเมือง และโดยผู้บริหารระดับสูง เช่น กรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความทันสมัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว เหตุผลสำคัญคือการใช้โซเชียลมีเดียสามารถลดช่องว่างของผู้คนในการเข้าถึงผู้บริหารได้อย่างทั่วถึงและฉับไวทันเหตุการณ์
ในขณะเดียวกันผู้บริหารสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารถึงกิจกรรมที่ตัวเองได้ทำในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงความเอาใจใส่ต่องานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ
แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังของผู้บริหารในการนำเสนอนโยบายต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อต้องการความรวดเร็ว คือความเร็วของโซเชียลมีเดียไม่ต่างจากการลัดวงจรในการทำงานของกระบวนการปกติของเจ้าพนักงานที่ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองหรือประมวลผลข้อมูลก่อนออกคำสั่งในทางปฏิบัติ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งการสื่อสารล่วงหน้าของผู้บริหารผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อผู้รับข่าวสารและผู้ปฏิบัติ จนทำให้เกิดความสับสนอยู่บ่อยครั้ง และหากข้อมูลนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญหรืออ่อนไหว ความผิดพลาดของการสื่อสารอาจส่งผลเสียต่อทั้งผู้ที่สื่อสารหรือส่วนรวมได้ในทันที
@@ เช็คเรทติ้ง vs เสพติด
4.การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเสมือนการเลือกระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและการแสดงความเป็นตัวตนในโลกออนไลน์เพื่อการเรียกร้องความสนใจ และการวัดกระแสความนิยมจากคนกลุ่มใหญ่
การเรียกร้องความสนใจ(Attention) มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเสพติด (Addiction) และโดพามีน (Dopamine) ในสมองของมนุษย์ ซึ่งเป็นวงจร 3 ประสานที่แยกกันแทบไม่ออก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียในการเรียกร้องความสนใจจากผู้คน จึงมักไม่สามารถหยุดการใช้โซเชียลมีเดียได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดหรือสถานการณ์ใดก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องแสดงออกด้วยการใช้โซเชียลมีเดียเลยก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องโหยหาถึงการแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าหากขาดโซเชียลมีเดียแล้วชีวิตของตนเองจะหมดคุณค่าหรือขาดการติดต่อกับผู้คนโดยสิ้นเชิง
เท่ากับว่าคนบางคนกำลังเลือกที่จะอยู่กับโลกโซเชียลฯ เพื่อแสดงตัวตนของตนเองมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง การใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะที่เกินความพอดี อาจมีแนวโน้มที่คนผู้นั้นตกไปอยู่ในกับดักของการเสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นการเสพติดทางพฤติกรรมประเภทหนึ่งก็เป็นได้
@@ เวทีสร้างสรรค์ vs วิวาท
5.การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารหรือแสดงตัวตนของผู้บริหารระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก สามารถกระทำได้ แต่ก็ควรอยู่บนความพอดีและความเหมาะสม ต้องเลือกระหว่างการอยู่ในโลกแห่งความจริง กับกระจกที่หักเหของโลกออนไลน์
เพราะการเผยแพร่กิจกรรมใดๆ หรือแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกที่ไร้ภูมิคุ้มกัน (Safe guard) ย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างจนกลายเป็นเหตุวิวาทะระหว่างแฟนคลับกับผู้เห็นต่างบนบัญชีโซเชียลมีเดียของบุคคลนั้นอยู่เสมอๆ จนนำไปสู่เหตุไม่พึงประสงค์ได้ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เจ้าของบัญชีมีเจตนาที่จะใช้บัญชีของตัวเองเป็นเวทีของความสร้างสรรค์ และการนำเสนอนโยบายผู้บริหารเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับกลายเป็นเวทีของการวิวาททางวาจาของผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ใครเลย
@@ สนองตอบทันใจ vs กาลเทศะ
6.การใช้โซเชียลมีเดียของใครก็ตามจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องของกาลเทศะและความเหมาะสมที่บุคคลคนนั้นจะต้องเลือกระหว่างการมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง กับการนำอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ที่เหมือนกับการแสดงที่ต้องมีการเตรียมการให้ดูดี รวดเร็วทันใจผู้คน และมักแต่งเติมให้เกินความจริงอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นการโชว์แบบไลฟ์สดก็ตาม
และควรต้องยอมรับผลกระทบไม่ว่าจะเกิดจากข้อมูลที่ตัวเองเผยแพร่โดยตรง หรือข้อมูลที่สาดโคลนกันไปมาระหว่างแฟนคลับกับผู้เห็นต่าง ซึ่งไม่ควรยอมให้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มที่ตนเองเป็นเจ้าของบัญชี