แม้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 373 เสียงต่อ 7 และงดออกเสียง 23 คนก็ตาม
แต่ ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจากซีกฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชาติ ได้แท็กทีมอภิปรายคัดค้านและประกาศไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลในแง่ของการ “ขัดหลักศาสนา” และเปิดช่องมอมเมาเยาวชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 8 มิ.ย.65 มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... ในวาระแรก ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการ “กลัดกระดุมผิดเม็ด” เพราะนโยบายของรัฐบาลปลดล็อก “กัญชาเสรี” ในวันที่ 9 มิ.ย.65 แต่กฎหมายสำหรับควบคุมการใช้ กลับเพิ่งถูกเสนอเข้าสู่สภา จึงเกรงกันว่าจะกลายเป็น “หลุมดำ” หรือ “สุญญากาศ” ทำให้เกิดการใช้กัญชาผิดเจตนารมณ์ คือไม่ได้ใช้ทางการแพทย์ แต่ใช้ในการเสพติด และแพร่ระบาดในหมู่เยาวชน
บรรยากาศในที่ประชุมสภาค่อนข้างคึกคักดุเดือด เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านผลัดกันลกขึ้นอภิปรายคัดค้านร่างกฎหมายกันอย่างต่อเนื่อง
@@ ชี้เป็น “ฮารอม” ขัดหลักอิสลาม
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในฐานะ ส.ส.นราธิวาส คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เหตุและผลของพรรคประชาชาติจะรับหรือไม่รับหลักการ มี 2 เหตุผล คือ
1.กฎหมายฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อหลักศาสนาอิสลาม ความศรัทธา ความเชื่อในหลักการศาสนาหรือไม่
2.กฎหมายที่เข้าสู่สภา ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับประโยชน์อะไร หรือสามารถแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่
“เราไม่ได้คิดเองพูดเอง วันที่ 15 มิ.ย.64 ทางคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือฉบับที่ 8/2564 ว่า กัญชา กัญชง ถือเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกับสุรา หากจะนำมาใช้ทางการแพทย์ สามารถนำมาใช้ได้กรณีจำเป็นเท่านั้น นั่นหมายความว่ากรณีที่ไม่มียารักษาอื่นเลยที่จะรักษาโรคเหล่านั้นถึงอนุญาตให้เป็นสิ่งที่ฮาลาลได้ จึงหมายความว่ากัญชายังเป็นสิ่งที่ฮารอม (ต้องห้าม ตรงข้ามกับ ฮาลาล) ตามหลักความเชื่อในศาสนาอิสลาม เป็นประเด็นที่ผมและพรรคประชาชาติไม่สามารถรับหลักการได้”
@@ คนติดกัญชา 1.89 ล้านคนจะพุ่งขึ้นอีก
นายกมลศักดิ์ อภิปรายต่ออีกว่า ประเด็นต่อมา ประชาชนและประเทศจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ลองนึกภาพในวันข้างหน้า ประเทศเราจะเป็นแหล่งที่มีกัญชามากที่สุด จะทำให้โครงสร้างทางสังคมอย่างสถาบันครอบครัวยิ่งอ่อนแอลง เพราะขนาดเรามีมาตรการ มีกฎหมายเอาผิดกับคนที่เสพหรือจำหน่ายกัญชา เรายังเอาไม่อยู่เลย ลูกหลานหลายๆ ครอบครัวเริ่มต้นการติดยาเสพติดมาจากกัญชา จนนำไปสู่ยาบ้า ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เน้นเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ ทางการแพทย์และการสาธารณสุข แต่ในเรื่องของมาตรการการป้องกัน มีแค่มาตรการห้ามขายกับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเท่านั้น
จากข้อมูลตอนนี้รัฐบาลต้องรักษาคนติดยาเสพติดเฉลี่ย 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน แล้วมีคนที่ติดยาเสพติดกัญชา 1.89 ล้านคน คิดเป็น 4.3 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงมากและเป็นสถิติที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านเป็น “กัญชาเสรี” สถิตินี้น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะประตูในการเข้าสู่สารเสพติดประเภทกัญชามันเปิดกว้าง ใครจะไปควบคุมได้ กัญชาก็ยังคือกัญชา ร้อยปีที่แล้วกัญชาเสพแล้วเมา เสพแล้วยิ้มง่าย เสพแล้วเสียสติง่าย วันนี้ก็เป็นแบบนั้น
@@ โครงการต้านภัยยาเสพติดสูญเปล่า
นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3 พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า พี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ฝากถึงรัฐบาลว่า เรื่องของใบกระท่อมเพิ่งจะผ่านไป ทำไมจะต้องทับถมเรื่องกัญชามาอีก เยาวชนในพื้นที่ 100- 200 คนต่อ 1 หมู่บ้าน อาชีพการงานก็ไม่มี ผู้ใหญ่หลายๆ คนมีความกังวลในเรื่องยาเสพติด
“ที่ผ่านมาเราเสียงบประมาณไม่น้อยในเรื่องการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึก จัดกีฬาต่อต้านยาเสพติด กิจกรรมเหล่านี้มีมากมายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เท่ากับว่าสิ่งที่ทำไปทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในจิตใจของคนในประเทศนี้เลย”
“ผมในฐานะมุสลิม สิ่งที่เรายึดมั่น คือการฟัตวา เป็นข้อสรุปของคณะกรรมอิสลามแห่งประเทศไทย ที่บอกว่ากัญชาเป็นของฮารอม เป็นสิ่งต้องห้าม ผมไม่รู้จะเชื่อใคร ผมต้องเชื่อคณะกรรมการอิสลาม คณะจุฬาราชมนตรีที่เป็นคนพูดเรื่องนี้ เราเป็นห่วงเป็นกังวลว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่จะคิดอย่างไรกับกัญชา ถ้ามีความรู้สึกว่าเป็นบวกกับการได้เสพกัญชา จะทำให้สังคมนี้เป็นอย่างไร”
@@ สรรพคุณรักษาโรค ใช้สมุนไพรอื่นแทนได้
ส่วนผลวิจัยที่ว่ากัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ และรักษาโรคต่างๆ ได้นั้น ส.ส.อับดุลอายี บอกว่า สมุนไพรไม่ใช่เฉพาะกัญชาอย่างเดียว แพทย์แผนไทยก็มีการสรุปออกมาแล้วว่า ในโรคเดียวกัน ยังมีสมุนไพรอีกหลายอย่างที่นำมารักษาทดแทนกัญชาได้
“เคยมี 2 เหตุการณ์ที่เจอกับตัวเอง เหตุการณ์แรก หลานไปฆ่ายาย หดหู่มากเลย และอีกเหตุการณ์พ่อต้องฆ่าลูก เพราะลูกพยายามจะฆ่าพ่อ ทั้งสองเหตุเป็นเรื่องสืบเนื่องจากยาเสพติด ถามว่าวันนี้เรากำลังทำนโยบายและสร้างให้คนห่างจากยาเสพติด เราต้องพยายามไม่เชิญชวนให้คนเข้าใกล้ยาเสพติดถึงจะดีที่สุด แต่วันนี้รัฐบาลก็พยายามเสนอกฎหมายไปเปิดเรื่องของยาเสพติด ปัญหาเยาวชนในอนาคตเป็นสิ่งที่เป็นห่วงอย่างมาก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ตั้งคำถามทิ้งท้าย
@@ อย่ามองแต่รายได้ ต้องคิดถึงปัญหาสังคม
นายกูเฮง ยาวอหะวัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนใต้ อาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างจากสมาชิกหลายๆ ท่าน ทำให้ไม่สามารถรับหลักการในเรื่องนี้ได้ ที่ผ่านมาหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องกระท่อมเสรี เรื่องการพนัน หรือว่าความเท่าเทียมทางเพศ เป็นข้อจำกัดที่พวกตนไม่สามารถรับหลักการได้เช่นกัน
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบ 90 เปอร์เซนต์เป็นคนมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ย่อมไม่ยอมรับเรื่องนี้ เพราะประสบปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตที่ต่ำ การศึกษาก็ต่ำเกือบที่สุดของประเทศ ต้นตอก็มาจากปัญหายาเสพติด
“หากเราปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเสรี ถามว่าเราเคยควบคุมได้ไหม ในเรื่องยาเสพติดในสามจังหวัด ก็ไม่เคยคุมได้ พ่อแม่ตรอมใจมากที่สุดคือปัญหาลูกหลานที่อยู่ในคุกอยู่ในตะราง บางคนต้องหนีไปทำงานมาเลเซีย บางคนต้องหนีมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อจะหนีปัญหาเรื่องยาเสพติด แล้ววันนี้เรามาส่งเสริมเรื่องนี้อีก”
“เข้าใจนะว่ารัฐอยากได้เรื่องนี้ เพื่อเป็นรายได้ ที่อ่านเนื้อหากฎหมายดูส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของรายได้ แต่เราไม่ได้มองเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมที่จะตามมา ต้องถามว่าประชาชนจะได้อะไร ประชาชนพร้อมหรือยังที่จะรับเรื่องนี้ ผมขอเน้นมิติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนได้รับความรู้มากแค่ไหนในเรื่องกัญชา ข้อสำคัญที่สุดคือ มันขัดหลักศาสนาของคนมุสลิม ถ้าผมผ่านเรื่องนี้ จะถูกมองว่าเป็นคนปฏิเสธศาสนา เป็นคนที่เขาไม่ยอมรับในสังคมมุสลิมอีกต่อไป” ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ระบุ
@@ อย่าให้เป็นสยามเมืองยิ้มเพราะเมากัญชา
นายกูเฮง อภิปรายตั้งคำถามว่า วันนี้กระท่อมเราเอาไม่อยู่ กัญชาเราจะเอาอยู่ไหม แต่ที่แน่ๆ ยาเสพติดในสามจังหวัดเราทำอะไรไม่ได้เลย สมัยก่อนที่มีพรรคการเมืองหนึ่งประกาศสงครามยาเสพติด เอาลูกคืนมาสู่ครอบครัว ถามว่านโยบายนี้ถูกตอบโต้อย่างแรงไหมในสังคม ทุกคนด่าว่าโหดเหี้ยม แต่เมื่อมีการประเมินกลับเป็นนโยบายที่ประชาชนยอมรับมากที่สุดในประเทศในเวลานั้น ก็คือนโยบายปราบยาเสพติด
ไม่อยากให้รัฐบาลมองแต่เรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ ถามว่าวันนี้ใครอ่อนแอ ไม่ใช่ประชาชนอ่อนแอ แต่เป็นรัฐที่อ่อนแอ คิดแต่เรื่องรายได้ คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ ไม่แน่ใจว่าเป็นผลประโยชน์ของตัวเอง ของพวกพ้อง หรือของประชาชนกันแน่ เรื่องนี้ประชาชนคิดได้ การจะปล่อยเสรี เราต้องสร้างจิตสำนึกให้ได้ อย่าเน้นแต่รายได้ เพราะว่าการพนันเสรี กระท่อมเสรี อบายมุขทุกอย่างเราเสรีแล้ว แค่อยากให้มีรายได้ แต่เราไม่นึกถึงความเสื่อมโทรม
“ในสามจังหวัดวันนี้ก็แปลก สิ่งที่เสรีทุกอย่างเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลย แต่ถ้าสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์มลายู หรือรักษาวัฒนธรรมมลายู กลับเป็นสิ่งที่รัฐหวาดระแวง ผมก็ไม่เข้าใจหลักคิดหรือตรรกะของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ กัญชาทำให้สมองเสื่อม ยิ้มง่ายๆ แบบโง่ๆ ประเทศไทยก็เป็นดินแดนของรอยยิ้ม land of smile อันนี้อาจจะเป็นนโยบายของรัฐที่จะทำให้คนไทยยิ้มง่าย แต่เป็นยิ้มเพราะเมากัญชา ถ้าผมไม่รับหลักการเรื่องนี้แล้วไม่ได้รับเลือกมาเป็น ส.ส.ในสมัยหน้า ผมก็ยอมนะครับ” ส.ส.กูเฮง กล่าว
อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มี ส.ส.ทั้งหมด 11 คน เป็น ส.ส.จากพรรคประชาชาติ 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 1 คน โดยพรรคประชาชาติเป็นพรรคเดียวที่อยู่ในซีกฝ่ายค้าน ที่เหลือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด