กลายเป็นเรื่องขึ้นมาสำหรับการอภิปราบงบประมาณกระทรวงกลาโหมของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่อ้างว่าพบการตั้งงบประมาณกว่า 7 ล้านบาทเพื่อตรวจอุปกรณ์ “จีที 200” หรือ “เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก”
โดย ส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า จะตรวจให้เสียงบประมาณไปทำไม เพราะเป็นที่รู้กันทั้งโลกว่าอุปกรณ์ชนิดนี้ใช้งานไม่ได้จริง
ข้อกล่าวหาของ ส.ส.พรรคก้าวไกล มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก ไปตรวจทำไม ใช้งบแบบไม่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะรู้กันทั้งโลกว่าเป็นอุปกรณ์ลวงโลก ขณะที่ค่าตรวจก็แพงมาก ซึ่งประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงมาแล้ว โดยเฉพาะโฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์
แต่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก “คนในทีมตรวจจีที 200”
@@ ทีมตรวจ “จีที 200” แจงเหตุใช้งบเครื่องละหมื่น
แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการนี้ และได้ประสานงานโดยตรงกับ สวทช. หน่วยรับตรวจ จีที 2200 ให้ข้อมูลว่า งบประมาณ 10,000 บาทต่อเครื่อง คือค่าใช้จ่ายในการให้ สวทช.ตรวจสอบว่าเครื่อง จีที 200 ใช้การไม่ได้จริงๆ เพื่อนำผลการตรวจที่ได้ไปประกอบการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เป็นคนตรวจรับเครื่อง จีที 200 อีกทีหนึ่ง ซึ่งจะฟ้องทั้งแพ่งและอาญา ถือเป็นกระบวนการที่ต้องทำเพื่อความชัดเจน
ส่วนสาเหตุที่มีอัตราค่าตรวจถึง 10,000 บาท ก็เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจมีราคาสูง ต้องนำเข้ามาจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี เพื่อนำมาประกอบกันเป็นเครื่องตรวจวัดประสิทธิภาพของอุปกรณ์จีที 200 โดยต้องตรวจทุกเครื่อง เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ในทางคดี หรือเป็นช่องในการต่อสู้คดีของหน่วยงานที่ตรวจรับเครื่อง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับราชการ
กระบวนการตรวจเพื่อใช้เป็นหลักฐานในทางคดีนั้น ไม่สามารถตรวจแค่บางเครื่องได้ แต่ต้องตรวจทุกเครื่องเพื่อความชัดเจน เพราะใช้ความรู้สึกไม่ได้ ต้องมีข้อมูลรองรับจากอุปกรณ์ที่มีความน่าเชื่อถือ
ยกตัวอย่าง การฟ้องคดีกับคณะกรรมการตรวจรับสินค้าของหน่วยงานที่จัดซื้อ ถ้าไม่มีผลตรวจทุกเครื่องไปยืนยัน มีเฉพาะบางเครื่องเป็นตัวอย่าง จะเป็นช่องทางให้กรรมการตรวจรับสินค้า อ้างว่า ไม่ใช่เครื่องที่ตนเองตรวจรับ นอกจากนั้นการจัดซื้อยังมีหลายล็อต อุปกรณ์ประกอบไม่เหมือนกัน จึงต้องไล่ตรวจทีละเครื่อง ผู้ที่ทำการตรวจ และอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจก็ต้องมีมาตรฐาน เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีน้ำหนักในทางคดี โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้สามารถฟ้องร้องทางแพ่งเอากับผู้ที่ถูกฟ้องได้
สำหรับการตรวจของกระทรวงกลาโหม จะแบ่ง จีที 200 ออกเป็น 2 ล็อต ล็อตละ 350 เครื่อง โดยพิ้นที่ตรวจ ใช้อาคาร 1 หลังในการทำกระบวนการ โดยต้องใช้อุปกรณ์จากเยอรมนี และอังกฤษ มาใช้ในการตรวจ เพื่อความน่าเชื่อถือ และป้องกันการถูกฟ้องกลับ
ข้อกล่าวหาประเด็นที่ 2 ของ ส.ส.ก้าวไกล คือ การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องจัดซื้อ จีที 200 ไม่คืบหน้า
เรื่องนี้แหล่งข่าวในคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยจัดซื้อ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วคดีมี 2 ส่วน คือ “ผู้ขาย” กับ “ผู้ซื้อ”
คดีในส่วนของผู้ขาย ทุกคดีอยู่ในชั้นศาล ฝ่ายผู้ขาย ผู้นำเข้า แพ้คดีทั้งหมด มีทั้งโทษจำคุกและปรับ โทษจำคุกสูงถึง 9 ปี และมีคดีแพ่ง ในส่วนของกรมราชองครักษ์ มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดไปแล้ว ให้กรมราชองครักษ์ชนะคดี บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย) โดยศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 9 ล้านบาท
คดีในส่วนของผู้ซื้อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว 20 สำนวน มีผู้เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน ตำแหน่งสูงสุดเป็นระดับ 10 เทียบเท่าอธิบดี มีชื่อเป็น ส.ว. และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.
แหล่งข่าวจากกองทัพบก เผยว่า คดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นศาล ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกือบทั้งหมดเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และกรรมการตรวจรับสินค้า ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางขึ้นศาลกันเป็นว่าเล่น ถือเป็นคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องมากที่สุดคดีหนึ่ง
@@ จาก จีที 200 ถึง “เรือเหี่ยว” ลดเครดิตกองทัพ
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่มีปัญหาการใช้งาน ไม่ได้มีแค่ จีที 200 เท่านั้น แต่ยังมี “เรือเหาะตรวจการณ์” งบประมาณ 350 ล้านบาท ที่ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ขึ้นบินก็ตก ต้องร่อนลงจอดฉุกเฉินหลายครั้ง และผ้าใบก็รั่วก่อนใช้งานจริง จนต้องเคลมกับบริษัทที่จัดซื้อกันวุ่นวาย
สรุปว่าตั้งแต่ซื้อเรือเหาะ และได้รับการส่งมอบมาเมื่อกลางปี 2552 เรือเหาะไม่เคยทำหน้าที่ได้จริงเลย จนต้องปลดประจำการณ์ไปในที่สุด โดยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์
“เรือเหาะ” ถูกขนานนามว่าเป็น “เรือเหี่ยว” เพราะไม่สามารถบินสูงได้ตามสเปค และผ้าใบยังมีรูรั่ว จนเกิดเสียงวิจารณ์ว่าซื้อเรือเหาะมือ 2 มาหรือเปล่า
ต่อมาได้มีการเคลมผ้าใบกับบริษัทจัดจำหน่าย จากนั้นก็ได้พยายามนำขึ้นบิน แต่ปรากฏว่า บินทีไร ก็บินได้แค่เตี้ยๆ เสี่ยงถูกคนร้ายยิงตก และการบินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ที่ต้องร่อนลงจอดฉุกเฉิน จนเรือเหาะได้รับความเสียหาย โดยครั้งหนึ่งเป็นการร่อนลงจอดใกล้โรงเก็บ แล้วเกิดเสียหลัก/ อีกครั้งหนึ่งร่อนลงจอดกลางทุ่งนาใน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
ทั้ง “เรือเหาะ” และ “จีที 200” จัดซื้อในยุคที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยทั้ง พลเอก อนุพงษ์ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็น ผบ.ทบ. เคยลงไปตรวจความพร้อมของเรือเหาะและโรงเก็บเรือเหาะมาแล้วทั้งคู่ ที่กองพลทหารราบที่ 15 อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ปัจจุบัน พลเอกอนุพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
“เรือเหาะ - เรือเหี่ยว” เป็นอากาศยานทางยุทธวิธีที่ใช้ในสงครามอิรัก หรือสงครามทะเลทราย เปรียบเสมือน “ดวงตาบนฟากฟ้า” มองเห็นข้าศึกได้ในระยะไกล และจับความเคลื่อนไหวของข้าศึกได้อย่างแม่นยำ
แต่ยุทธบริเวณของไทย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นป่าร้อนชื้น ไม่ใช่ทะเลทราย การใช้เรือเหาะขึ้นลาดตระเวนไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวของคนร้ายได้ และยังเสี่ยงถูกยิงตกได้ง่าย เพราะระยะบินทำได้ไม่สูงเท่าที่ระบุในสเปค ประกอบกับพื้นที่ชายแดนใต้เป็นภูเขา มีเทือกเขาหลายลูก ทั้งเขาบูโด เขาตะเว ยิ่งไม่เหมาะกับการใช้เรือเหาะในทางยุทธการ
ที่สำคัญเรือเหาะที่ใช้ในกิจการอื่น เช่น ถ่ายทำภาพยนตร์ ราคาอยู่ในหลักสิบล้านเท่านั้น ไม่ใช่หลักร้อยล้านแบบเรือเหาะของกองทัพบกไทย
@@ บิ๊กล็อต “เรือดำน้ำ - ยูเอวี - เอฟ-35” เข้าคิวถูกซักฟอก
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีปัญหา ไม่สามารถใช้งานได้จริง สูญงบไปเป็นพันล้านบาท ทั้ง “เรือเหาะ” และ “จีที 200” ทำให้ความเชื่อมั่นเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกองทัพลดต่ำลง
ขณะที่การจัดซื้อที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็มีปัญหา โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์สำคัญ 3 ชนิดที่กองทัพกำลังตั้งงบจัดซื้อ บางชนิดก็จ่ายเงินไปแล้ว
1.เรือดำน้ำ ชั้นหยวนคลาส S-26T จากจีน ทั้งล็อต 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท ลำแรกราวๆ 13,000 ล้านบาท จ่ายเงินไปแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถติดตั้งเครื่องยนต์ของเยอรมนีได้ตามสัญญาที่ทำกันไว้ ทำให้เรื่องนี้มีปัญหา เพราะผิดสัญญา ยังไม่รู้จะมีทางออกอย่างไร แถมเรือดำน้ำจีนก็ไม่ได้เป้าหมายแรกที่กำลังพลของกองทัพเรืออยากได้ แต่จีนใช้แผนการตลาด “ซื้อ 2 แถม 1” ทำให้ไทยตัดสินใจซื้อ แม้จะมีกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลจากฝ่ายค้านระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีบทบาทอย่างสูง ตั้งแต่สมัยเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล คสช. / และลูกหลานของคนใกล้ชิดก็เป็นนายหน้าขายเรือดำน้ำด้วย
2.อากาศยานไร้คนขับ หรือ “ยูเอวี” ใช้ตรวจการณ์ชายฝั่งของกองทัพเรือ รุ่น HERMES 900 ราคากว่า 4,000 ล้านบาท โดน ส.ส.เพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แฉกลางสภาว่ามีการวิ่งเต้นเปลี่ยนสเปค ไม่ให้มีอาวุธติดบนยูเอวี แล้วจะเพิ่มจำนวนเครื่องจาก 3 ลำ เป็น 7 ลำ งบประมาณเท่าเดิม
แต่มีการทักท้วงว่า ราคายังแพงกว่าที่ประเทศอื่นซื้อครึ่งต่อครึ่ง มีเงินหล่นเป็นพันล้านหรือไม่ นี่ยังไม่นับเรื่องประวัติอุบัติเหตุตกของยูเอวีที่ฝ่ายค้านนำมาแฉด้วย
เรื่องนี้ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงประเด็นเดียว คือเรื่องยูเอวีที่มีประวัติตกบ่อย โดยบอกว่าไม่ใช่รุ่นเดียวกับที่กองทัพเรือไทยซื้อ
3.เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 กองทัพอากาศของบแล้วในปีนี้ แต่กลายเป็นการจัดซื้อเครื่องเปล่า ไม่มีอาวุธ โดยให้เหตุผลเรื่องการประหยัดงบ และไม่ต้องการให้กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องราคาว่าแพงเกินไปหรือไม่ในฐานะเครื่องเปล่า และคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่
เรื่องนี้ พลเอกชัยชาญ ชี้แจงเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องซื้อ เพราะเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทยจะถูกปลดประจำการเกือบหมดภายในทศวรรษ 2570
ส่วนกองทัพอากาศ ใช้วิธีพาเด็กๆ เยาวชนไปดูหนังเรื่อง “ท็อปกัน มาร์เวอร์ริค” หวังจุดประกายความอยากเป็นนักบิน จะได้ไม่ต่อต้านการจัดซื้อเครื่องบินรบของ ทอ.