ประชาชนจากหลายภาคส่วนร่วมประชุมที่มัสยิดกลาง พร้อมลงมติยื่นหนังสือขับไล่ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี อ้างไม่ทำตามคำสั่งศาลปกครอง กรณีสั่งเพิกถอนระเบียบการแต่งกาย เปิดทางนักเรียนมุสลิมแต่งตัวตามหลักศาสนาอิสลาม
เมื่อเวลา 13.30 น. วันพุธที่ 25 พ.ค. 65 ที่ห้องประชุมสำนักงานมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายสายัณห์ สุขจันทร์ ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม พร้อมด้วย ตัวแทนผู้นำศาสนา ตัวแทนภาคประชาสังคม ประชาชนและผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลปัตตานี กว่า 50 คน ได้จัดประชุมร่วมกัน โดยมี นายอุดร น้อยทับทิม ประธานมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามเพื่อการพัฒนายะลา เป็นประธานในที่ประชุม
แนวทางการประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางรูปแบบกิจกรรมในการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องใน 2 เรื่อง คือ
1.เรียกร้องให้ทางโรงเรียนปฏิบัติตามศาลปกครองยะลา ที่ได้มีคำพิพากษาให้เด็กนักเรียนสามารถคลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) ได้
และ 2.ขอให้ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ออกจากโรงเรียน
@@ ดีเดย์ 8 มิ.ย. รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ
การยื่นหนังสือให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นสายบังคับบัญชาสูงสุดของจังหวัดปัตตานี ที่มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลข้าราชการทุกส่วนในจังหวัดปัตตานี เพื่อรับเรื่องพิจารณาตามบทบาทหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้เกิดความสันติอย่างแท้จริง
โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการยื่นหนังสื่อถึงผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 8 มิ.ย.65 โดยส่งตัวแทนประมาณ 30 คน โดยมีผู้ปกครองของนักเรียนร่วมด้วย พร้อมทั้งทางที่ประชุมได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เดินทางเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานในวันนั้นด้วย
@@ อ้างคนมุสลิมทั่วประเทศไม่สบายใจ
นายสายัณห์ สุขจันทร์ ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการกำหนดแนวทางที่จะยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้ทำการขับ ผอ.โรงเรียนออกจาก โรงเรียนแห่งนี้ เพื่อลดปัญหาแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้บานปลาย เพราะตนเองเชื่อว่า ความรู้สึกของคนมุสลิมทั่วประเทศ รู้สึกไม่สบายใจมาก
ตนเคยเรียกร้องเรื่องฮิญาบมา 10 กว่าปี ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชาวไทยพุทธ 90 เปอร์เซ็นต์ มีนักเรียนมุสลิมหญิงชั้น ม.6 เพียงแค่คนเดียวที่ต้องการคลุมฮิญาบ ผอ.โรงเรียนแห่งนั้นได้อนุญาตให้คลุมฮิญาบได้ พร้อมทั้งนำเด็กหญิงมาพูดหน้าเสาธง และบอกเพื่อน ๆ ว่า การคลุมฮิญาบมีผลดีอย่างไร นี่คือตัวอย่าง แม้มีเพียงแค่คนเดียวก็ยังดำเนินการ
แต่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี มีเด็กนักเรียนมุสลิมจำนวนมาก แค่กลับคลุมฮิญาบไม่ได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทย อันนี้เป็นปัญหาที่ตนรู้สึกว่าสร้างความบอบช้ำ ซึ่ง ซึ่ง ผอ.โรงเรียนควรหยุดได้แล้ว ตั้งแต่ศาลปกครองจังหวัดยะลามีคำสั่งมา เพราะเหตุผลที่ศาลปกครองให้มา กฎอะไรก็ตาม จะขัดต่อกฎรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแม่ไม่ได้ ซึ่งมันชัดอยู่แล้ว ดังนั้นควรต้องยึดหลักตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ
@@ ท้าสำนักพุทธฯ ประกาศ "ที่ธรณีสงฆ์" คลุมฮิญาบไม่ได้
ถึงแม้ว่าจะมีบางกลุ่มอ้างว่าเป็น "ที่ธรณีสงฆ์" คลุมฮิญาบไม่ได้ ก็ขอท้าว่า ถ้าเกิดพิสูจน์ว่ามีข้อบัญญัติใดในพระไตรปิฎก ว่าเมื่อเด็กมุสลิมคลุมฮิญาบใน "ที่ธรณีสงฆ์" ในโรงเรียน แล้วทำให้พระอาบัติ ปาราชิก ก็ขอให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติวินิจฉัยออกมา ประกาศออกมา ทางเด็กมุสลิมจะไม่เรียนโรงเรียนวัดทั่วประเทศเลย เพราะอิสลามสอนว่า เราจะไม่เบียดเบียนศาสนาอื่นที่จะทำให้ศาสนาอื่นเสียหาย
"เพราะฉะนั้นในวันนี้เป็นเรื่องของศาสนา หรือเรื่องของอารมณ์คนกันแน่ เพราะผมเชื่อว่าพุทธและมุสลิมมีหลักคำสอนที่ดีอยู่แล้ว ในเรื่องของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ประเด็นในเรื่องของที่ธรณีสงฆ์ควรหยุดได้แล้ว" ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม กล่าว
@@ โต้ปมไม่ใช่คนพื้นที่ ย้อนผู้ว่าฯ ผอ.โรงเรียน ก็คนนอก
ส่วนที่มีกระแสในพื้นที่ว่า ผู้ที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ ไม่ใช่คนในพื้นที่ปัตตานี จะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในพื้นที่หรือไม่นั้น
นายสายัณห์ กล่าวว่า ตนเองในฐานะนักสิทธิมนุษยชน ตนไม่ได้ทำเฉพาะเคสนี้ เราทำเรื่องเรียกร้องสิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญมา 10 กว่าปีแล้ว เพาะฉะนั้นทั่วทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทย เราสามารถเรียกร้องตามกฎหมายได้หมด ถ้าเรายึดติดอย่างนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผอ.โรงเรียน ข้าราชการ หลายคนก็ไม่ใช่คนในพื้นที่เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าเอาตรงนี้มาเป็นข้ออ้าง ต้องถามว่าตนเป็นคนไทยหรือไม่ ถ้าตนเป็นคนไทยก็คือจบ สามารถไปได้ทั่วราชอาณาจักรไทย ไม่มีกฎหมายห้าม
@@ 4 ข้อสังเกตปมที่ธรณีสงฆ์ - คงระเบียบการแต่งกาย
มีข้อสังเกตจากผู้เกี่ยวข้องทางฝั่งโรงเรียน ในหลายประเด็นจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้
1.ประเด็นเรื่อง “ที่ธรณีสงฆ์” มีระบุในคำพิพากษาของศาลอยู่แล้ว ทางโรงเรียนไม่สามารถอ้างประเด็นนี้ได้ชัดเจนนัก เพราะโรงเรียนปลูกสร้างบนที่ “ธรณีสงฆ์” ของวัดนพวงศาราม บางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด
แต่ประเด็น “ที่ธรณีสงฆ์” ที่ถูกหยิบมาพูดถึงจากทางฝั่งคนพุทธ ก็เพราะมีระเบียบกระทรวงศึกษาฯ และกฎมหาเถรสมาคมระบุว่า ถ้าเป็นโรงเรียนที่ตั้งบนที่ธรณีสงฆ์ พูดง่ายๆ คือ”โรงเรียนวัด” ให้พระ (เจ้าอาวาส) เป็นผู้มีอำนาจในการออกกฎระเบียบต่างๆ และดูแลความสงบเรียบร้อยภายในโรงเรียน
ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดผิดอาบัติ ปาราชิก อะไรอย่างที่พูด เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจเท่านั้น และในคำพิพากษาก็มีระบุไว้
2.สาเหตุที่ ผอ.โรงเรียน ยังออกประกาศคำสั่งให้ยึดตามระเบียบเดิมของโรงเรียน คือแต่งกายตามหลักศาสนาไม่ได้ ก็เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ยังมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็เป็นสิทธิของโรงเรียนที่จะอุทธรณ์ได้ เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ระเบียบของโรงเรียนจึงยังไม่ถูกยกเลิก แต่ศาลยังคงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของผู้ฟ้องคดีเอาไว้ ซึ่งมี 20 คน ให้แต่งกายตามหลักศาสนาได้ ทางโรงเรียนก็ปฏิบัติตามนั้น และผู้ปกครองก็พาเด็กแต่งกายตามหลักศาสนาไปส่งโรงเรียน โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
3.ข้อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯย้าย ผอ.โรงเรียน ไม่แน่ว่าผู้ว่าฯ จะมีอำนาจทำได้หรือไม่ เพราะข้าราชการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะขึ้นตรงกับหน่วยงานต้นสังกัดของตน ปลัดกระทรวง หรือ รัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ
4.ระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีมีมานานแล้ว และไม่เคยมีปัญหา ทางโรงเรียนให้ข้อมูลในมุมของโรงเรียนว่า ที่ไม่อนุญาตให้แต่งกายตามหลักศาสนา ก็เพื่อความเท่าเทียมของเด็กทุกคน จะได้แต่งกายเหมือนกัน และทางโรงเรียนได้แจ้งระเบียบนี้ให้เด็กและผู้ปกครองทราบตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนแล้วและที่ผ่านมากว่า 50 ปีก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร
นี่คือข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย สองขั้วความคิดเกี่ยวกับการแต่งกายตามหลักศาสนาของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการกล่าวขานถึงในแง่ “สังคมพหุวัฒนธรรม”