ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรมโพสต์เฟซบุ๊กชวนมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้รวมตัวขับไล่ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี หลังออกคำสั่งตั้งแต่เปิดเทอม ห้ามนักเรียนแต่งกายแบบอิสลามคลุมฮิญาบมาเรียน ยกเว้นคู่พิพาททางคดี ทั้งๆ ที่ศาลปกครองยะลามีคำพิพากษาแล้ว ขณะที่ข้อมูลฝั่งโรงเรียน แจงคดียังไม่ถึงที่สุด
หลังจากที่ศาลปกครองจังหวัดยะลาได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 เม.ย.65 ให้เพิกถอนระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ห้ามไม่ให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม เพราะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน 20 คนที่เป็นผู้ฟ้องคดี นำโดย นายอรุณ เหมมินทร์ ชนะคดีกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ทำให้ผู้ปกครองดีใจที่ลูกหลานของตนเองจะได้สวมเครื่องแต่งกายตามหลักศาสนา ในช่วงเปิดภาคการศึกษา 1/2565 ที่ผ่านมานั้น
แต่ปรากฏว่าช่วงก่อนวันที่ 17 พ.ค.65 ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมใหม่ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้ออกประกาศให้นักเรียนทุกคนแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน เพราะทางโรงเรียนได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด จึงถือว่าคดียังไม่จบ ส่วนนักเรียนผู้ฟ้องคดี 20 คนนั้น สามารถแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามได้ เนื่องจากศาลปกครองจังหวัดยะลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่คำสั่งนี้มีผลเพียงผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 รายเท่านั้น ส่วนนักเรียนรายอื่นที่จะแต่งกายตามข้อกำหนดของหลักศาสนาได้ ต้องรอจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมา หรือมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คดี ซึ่งจะทำให้คดีถึงที่สุด
ล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น.วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.65 ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า "สายัณห์ สุขจันทร์ - Godzam" ได้โพสต์ภาพและข้อความเชิญชวนประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดวันยื่นหนังสือขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
โดยมีข้อความระบุว่า “ประกาศขอเรียนเชิญพี่น้องมุสลิมไทยในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เเละประชาชนทั่วไปที่รักความสันติ รักในการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมกัน เเละที่สำคัญบ่าวของอัลเลาะฮ์ทุกคนที่รักในศาสนาของอัลเลาะฮ์ มาร่วมกันประชุมเพื่อปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ดำเนินการนำ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไปอยู่ในที่ชอบๆ ของเขา เพราะเหตุที่ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี เเสดงพฤติกรรมไม่ชอบการอยู่ร่วมกับนักเรียนมุสลิมที่สวมฮิญาบเข้ามาเรียนหนังสือในโรงเรียน
ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยระเบียบการเเต่งกายของนักเรียนก็ระบุชัดเจนว่า นักเรียนมุสลิมหญิงสามารถสวมฮิญาบ เเละนักเรียนมุสลิมชายสามารถสวมกางเกงขายาวเข้ามาเรียนในโรงเรียนได้ อีกทั้งศาลปกครองยะลาก็มีคำพิพากษาชัดเจนเเล้วว่า กฎของโรงเรียนที่ห้ามมิให้นักเรียนมุสลิมเเต่งชุดนักเรียนเเบบคลุมฮิญาบนั้น เป็นการออกกฎออกคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 31 เด็กนักเรียนมุสลิมย่อมมีสิทธิเเต่งชุดนักเรียนเเบบชุดฮิญาบได้ตามสิทธิ
เเต่ล่าสุดทาง ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานีก็ยังออกหนังสือที่ระบุห้ามมิให้นักเรียนมุสลิมคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองครั้งเเรก เเต่งชุดนักเรียนเเบบสวมฮิญาบเข้ามาในโรงเรียน ดังนั้นเมื่อพฤติกรรมของ ผอ.โรงเรียนเเห่งนี้ ซึ่งอยู่ท่ามกลางสังคมมุสลิมเเละพุทธที่อาศัยอยู่ร่วมกันเเบบพหุวัฒนธรรมที่ยอมรับความเเตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างให้เกียรติการปฏิบัติศาสนกิจของกันเเละกันเสมอมา ไม่สามารถยอมรับในการเเต่งกายตามหลักการศาสนาที่เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองรองรับได้ จึงจำเป็นที่พี่น้องมุสลิมไทยมาลายู ต้องขับไล่ให้ ผอ.ท่านนี้ไปอยู่ในที่ชอบของตน
จึงขอให้พี่น้องมุสลิมมลายูทั้งหลายลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในความเป็นพลเมืองไทยของท่าน ปกป้องเกียรตของลูกหลานขอองท่าน ปกป้องศาสนาของอัลเลาะฮ์ โดยการขานรับคำเรียกร้องของประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม นายสายัณห์ สุขจันทร์ ขอให้ท่านมาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงกันโดยไม่เเบ่งกลุ่มเเบ่งพวกใดๆ ในวันที่ 25 พ.ค.2565 เวลา 13.30 น. ณ. ห้องประชุม มัสยิดกลางปัตตานี”
@@ ปลุกไล่ ผอ.เป็นธรรมหรือไม่ เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด
มีข้อสังเกตต่อการปลุกกระแสเรียกร้องให้รวมตัวกันของผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม และพี่น้องมุสลิมทั่วๆ ไป กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
เนื่องจากคำสั่งของผู้อำนวยการโรงเรียน ออกมาเพื่อยืนยันว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ได้ข้อยุติ คำพิพากษาของศาลปกครองยะลา ยังเป็นศาลปกครองชั้นต้นและทางโรงเรียนได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงยังไม่จบ ฉะนั้นระเบียบการแต่งกายเดิมจึงยังมีผลบังใช้อยู่
ส่วนการอนุญาตนักเรียนผู้ฟ้องคดีแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามได้ (หญิงคลุมฮิญาบ ชายสวมกางเกงขายาว) ก็เพราะศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเอาไว้เฉพาะเด็กกลุ่มนี้ ไม่ให้นักเรียนโดนตัดคะแนน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มี 20 คน ปัจจุบันเหลือ 3 คน เพราะที่เหลือเรียนจบไปแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนอนุญาตให้แต่งกายตามหลักศาสนาได้ เพราะศาลคุ้มครอง ส่วนเด็กคนอื่นๆ ยังแต่งไม่ได้ เพราะคดียังไม่จบ และศาลไม่ได้คุ้มครอง