มีข้อสังเกตและประเด็นที่น่าขบคิดวิเคราะห์กันต่อ หลังเห็นคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
1.คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะแบบทิ้งขาด มีคนแนะให้ทดลองเปรียบเทียบกับข้อมูล 2 ชุด เพื่อวัดคะแนนนิยมที่แท้จริง
-เทียบกับกระแส “จำลองฟีเวอร์” ในอดีต (เลือกตั้งปี 2528 กับ 2533 ในนามกลุ่มรวมพลัง และพรรคพลังธรรม) ว่าคุณชัชชาติชนะในสัดส่วนคะแนนนิยมที่มากกว่าหรือไม่ เพราะครั้งนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เอาชนะโดยได้คะแนนจากคนทุกกลุ่ม ไม่เว้นคนชั้นกลาง คนวัยทำงาน และข้าราชการ ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ พล.ต.จำลอง เป็นผู้ว่าฯมหาชน ซึ่งคุณชัชชาติน่าจะเจริญรอยตาม
-เทียบคะแนนสูงสุดว่าจะทุบสถิติ 1.2 ล้านคะแนนที่ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เคยคว้าชัยและทำเอาไว้ในปี 2556 ได้หรือไม่
2.ถอดรหัสการเมืองจากการโหวตให้คุณชัชชาติแบบถล่มทลาย
-สรุปได้หรือไม่ว่าเป็นการโหวตเลือกคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล เพราะหลายคนชี้ชวนให้ตีความว่าเป็นการโหวตต้านรัฐประหาร โหวตต้านรัฐบาล โหวตต้าน “3ป.”
-เฉพาะในแง่ของการโหวตต้านรัฐบาล หรือ “3 ป.” น่าจะต้องดูคะแนน ส.ก.ของพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วย ถ้าสอบตกหมด หรือเข้าวินน้อยมาก ก็น่าจะชี้ชัดได้ระดับหนึ่ง
3.การมีชื่อ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ติด 1 ใน 3 (ณ เวลา 21.00 น. ช่วงลุ้นคะแนน) โดยได้คะแนนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ถือว่าน่าสนใจ ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเทคะแนนให้คุณชัชชาติ
4.หากนำคะแนนคุณชัชชาติ ซึ่งมีคะแนนเพื่อไทยรวมอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย บวกกับคะแนนของคุณวิโรจน์ แล้วจำลองภาพการเมืองสนามใหญ่ อาจได้เห็นทิศทางของ 2 พรรคการเมืองที่สามารถจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต
5.ประเด็นพรรคเพื่อไทยจะเอาชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนี้ ย้งสรุปฟันธงได้ยาก เพราะ...
-พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร แต่ไปอิงกับคะแนนของคุณชัชชาติซึ่งมีคะแนนนิยมส่วนตัวเยอะ และมี “คะแนนข้ามขั้ว” ไม่น้อย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่
-พรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ จะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ยากขึ้น เนื่องจากมีฐานเสียงทับซ้อนกัน
6.ผลการเลือกตั้งที่ออกมา สะท้อนว่าฐานคะแนนของพรรคก้าวไกลไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มเด็กสามนิ้ว หรือนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างที่หลายคนปรามาส แต่คะแนนนิยมกระจายอยู่หลายๆ กลุ่ม
เพราะแม้ศึกชิงผู้ว่าฯกทม.หนนี้ ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลจะไม่โดดเด่น และแฟนคลับหลายคนผิดหวังจนหันไปเลือกคุณชัชชาติแทน แต่พรรคก้าวไกลก็ยังได้คะแนนค่อนข้างสูง
7.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทรุดลงกว่าเดิมตามที่หลายคนแอบแช่ง แต่ยังรักษาฐานคะแนนไว้ได้พอสมควร ทั้งๆ ที่เจอมรสุมหลายลูกค่อนข้างหนัก ทั้งในส่วนของพรรคเอง และตัวผู้สมัครอย่าง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
8.การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.หนนี้ ถูกผูกโยงกับประเด็นการเมืองค่อนข้างมาก จนกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช่เลือกแค่ “ผู้บริหาร กทม.” และถูกตั้งคำถามจากผู้มีประสบการณ์หลายๆ คน เช่น ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ว่า เรากำลังเลือกผู้ว่าฯมา “พัฒนาเมือง” หรือ “ทำการเมือง” กันแน่
-ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาจัดการเลือกตั้งกันในวันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารพอดี ทำให้กลายเป็นกระแสการเมือง และบางกลุ่ม บางพรรคแสวงประโยชน์ทางการเมืองได้
-วันเลือกตั้งยังตรงกับช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1/2565 ด้วย ซึ่งเป็นสมัยประชุมที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้
-เป็นการลือกตั้งในกระแสคนเบื่อรัฐบาลที่อยู่มานานเกินไป และผิดหวังกับการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อนที่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้คาดเดาผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.ได้ไม่ยากนัก
ผลการเลือกตั้งคงทำให้หลายคนสะใจ โดยเฉพาะกลุ่มขั้วการเมืองตรงข้ามรัฐบาล แต่เมื่อความสะใจผ่านพ้นไป นับจากนั้นก็จะเข้าสู่ “หนังชีวิต” ของจริง เพราะปัญหาของ กทม.ไม่มีปัญหาไหนแก้ง่ายเลย
ปัญหาเฉพาะหน้าที่สุดคือฝนตก น้ำท่วม เนื่องจากเลือกตั้งเข้ามาในหน้าฝนพอดี ปีแรกคนยังเห่อกันอยู่ เจอน้ำท่วม รถติด คงไม่โดนด่าอะไรมาก แต่ปีต่อๆ ไปถ้ายังทำอะไรให้ดีกว่าเดิมไม่ได้ น่าจะโดนหนัก เพราะแบกความคาดหวังของผู้คนเอาไว้มาก
นอกจากนั้นยังมีนโยบายหาเสียงสวยหรู แต่ทำจริงสำเร็จยากมาก อย่าง “ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว” เพราะมีปัญหาที่เป็นประเด็นทางเทคนิคกฎหมาย และสัญญาสัมปทานสุดซับซ้อน ทั้งยังเชื่อมโยงกับการเมืองด้วย
น่าแปลกหรือไม่ที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวตกเป็นเป้า ทั้งที่ยังมีรถไฟฟ้าที่ลงทุน หรือทั้งลงทุนและเดินรถโดยหน่วยงานรัฐอีก 3 สาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงค์ มีราคาค่าโดยสารต่อกิโลเมตรสูงกว่าสายทีเขียว แต่กลับไม่ถูกตั้งคำถามใดๆ
ตอนหาเสียง พูดอะไรก็พูดได้ แต่เวลาลงมือทำงานจริง อาจกลายเป็นอีกเรื่อง แม้แฟนคลับจะหนุนเนื่องหนาแน่น แต่การเมืองแบ่งฝ่ายแบบนี้ การตรวจสอบจะเข้มข้น เรียกว่าพลาดไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว...
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าฯกทม.ท่านใหม่ครับ!
——————————
ที่มา : คอลัมน์โหมโรง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.65