ปรากฏการณ์ “หลวงปู่แสง” กลายเป็นกระแสตีกลับแรงไปที่ “นักสร้างคอนเทนต์” ซึ่งใช้โซเชียลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ผสานกับสื่อกระแสหลักที่เป็น “สื่อแมส” เข้าถึงมวลชนหมู่มากอย่างโทรทัศน์
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ผ่านกระบวนการจัดการ และมีผลประโยชน์ทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินแอบแฝงอยู่
พันธศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างตรงไปตรงมา...
@@ พระ-สีกา กับโลกออนไลน์
ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เรื่องของพระกับสีกามักเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดเสมอ ไม่แพ้ข่าวอื่นๆ
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มักมีข่าวฉาวเรื่องพระกับผู้หญิงอยู่หลายกรณี และจบลงด้วยการลาสิกขา
อย่างกรณีล่าสุดที่เกี่ยวกับอดีตพระหนุ่มนักเทศน์ระดับเซเลบ ปรากฏว่าทั้งอดีตพระผู้ที่เป็นข่าวและพระผู้ที่นำคลิปมาเปิดเผยบนโซเชียลมีเดียก็ถูกขุดคุ้ยประวัติย้อนหลังจนกระทั่งไม่สามารถทนอยู่ในสมณเพศได้
แสดงให้เห็นว่าในโลกออนไลน์ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นมานานเท่าใด ก็สามารถถูกขุดคุ้ยขึ้นมาหาเหตุได้ หากสื่อนั้นถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผนวกกับเครื่องมือสืบค้น (Search engine) ซึ่งเป็นเครื่องมือประกอบที่ทำให้การค้นหาข้อมูลเป็นได้ได้โดยง่าย รวมถึงข้อมูลที่มาจากโซเชียลมีเดียที่แต่ละคนอาจเก็บไว้ และพร้อมที่จะนำมาเผยแพร่ในทันทีเมื่อจังหวะเวลามาถึง
@@ พระ-ฆราวาส ติดกับดักโซเชียลฯ
ในด้านหนึ่ง การเข้ามามีบทบาทของโซเชียลมีเดีย เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแผ่ธรรมะ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่พระใช้โซเชียลมีเดียจนเกินเลย จนทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมต่อการใช้โซเชียลมีเดียของพระอยู่เสมอๆ แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ (Attention seeker)
ผนวกกับโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความสนใจ (Attention builder) ซึ่งไม่ว่าฆราวาสหรือพระล้วนตกอยู่ในวงจรของการขายธุรกิจความสนใจจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เจ้าของแพลตฟอร์มสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนให้เข้าไปติดกับทั้งสิ้น และเมื่อใดก็ตามที่เข้าไปติดกับของโซเชียลมีเดีย ทุกคนจึงต้องไขว่คว้าหาจำนวนยอดไลค์ ยอดแชร์ และยอดการอ่านกันทุกคน และมีจำนวนไม่น้อยหลุดจากชีวิตจริงเข้าไปแสดงบทบาทบนโลกออนไลน์จนเกินขอบเขต
นักจิตวิทยามักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์ (Online disinhibition) ซึ่งทั้งพระและฆราวาสล้วนถูกควบคุมด้วยอำนาจของโซเชียลมีเดียจนแสดงออกเกินเลยได้ทั้งสิ้น
@@ ศาลเตี้ยรุมประชาทัณฑ์คนในผ้าเหลือง?
การที่ข่าวของพระสงฆ์ที่ประพฤติตัวเสื่อมเสียมักได้รับความสนใจของผู้คน ถูกนำเสนอเป็นข่าวทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดียและสื่อหลัก ย่อมทำให้การแพร่กระจายของข่าวสารเกี่ยวกับพระสงฆ์แพร่ไปอย่างกว้างขวาง และด้วยความที่โซเชียลมีเดียเป็น “สื่อสารสองทาง” จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์กันอย่างสนุกมือ ทั้งๆ ที่เห็นเพียงภาพซึ่งในหลายกรณีไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่ครบถ้วนได้
นอกจากนี้ยังมีบุคคลซึ่งทำตัวเองเสมือน “ตำรวจพระ" เที่ยวเดินสายให้จับพระพร้อมกับสื่อบางส่วน ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน ยิ่งเป็นเรื่องแปลกและกระทำราวกับว่าบ้านเมืองเราขาดระบบระเบียบการปกครองเกี่ยวกับสงฆ์ และกำลังสร้างความสงสัยแก่พุทธศาสนิกชนอยู่ไม่น้อยว่าบุคคลและสื่อบางกลุ่มกระทำการในลักษณะนี้ได้อย่างไร แม้จะอ้างว่ามีเจตนาที่ดีก็ตาม
การเดินสายวิ่งไล่จับพระจากฆราวาสที่มิได้มีหน้าที่ใดๆ เลย โดยมีสื่อยกโขยงกันไปทำข่าวแบบไลฟ์สด เผยแพร่ทั้งทางโซเชียลมีเดียและสื่อหลักเกือบทุกแห่งนั้น นอกจากเป็นกิริยาที่ชาวพุทธยากจะยอมรับได้แล้ว ยังล่อแหลมต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพระสงฆ์อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมที่กระทำอยู่ในขณะนี้นอกจากกระทบกระเทือนต่อจิตใจชาวพุทธแล้ว เชื่อได้ว่าย่อมกระทบกระเทือนจิตใจต่อพระสงฆ์นับแสนรูปอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
และหากปล่อยไว้โดยไม่มีใครเข้าไปท้วงติงหรือใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการ แทนที่จะเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนา กลับเป็นการทำลายระเบียบแบบแผนของวงการสงฆ์และศรัทธาของผู้คนต่อวงการสงฆ์ในภาพรวม ซึ่งไม่ต่างจากการใช้ศาลเตี้ยบนสื่อรุมประชาทัณฑ์คนในผ้าเหลืองโดยไม่มีใครห้ามปรามได้
@@ เมื่อโซเชียลฯหลอมรวมสื่อหลัก...พังหรือพุ่ง?
การนำเสนอข่าวของบุคคลพยายามจับผิดพระสงฆ์อย่างเกาะติดนั้น ในด้านหนึ่งเป็นการทำหน้าที่ของสื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่งสื่อบางสำนักกลับให้ท้ายต่อการกระทำดังกล่าวโดยมิได้ท้วงติงถึงความเหมาะสม
นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของสื่อหลักกับสื่อโซเชียลฯที่หลอมรวมกันจนแยกไม่ออก และหากรวมกันมากจนเกิดพลังมากพอก็จะเกิดทั้งพลังในทางสร้างความเปลี่ยนแปลง และในทางกลับกันก็อาจจะเป็นพลังทำลายล้างสูงยิ่ง หากจะนำไปใช้ทำลายใครก็ตามที่เป็นเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย โดยไม่สามารถแก้ไขให้กลับไปสู่ศรัทธาของผู้คนได้ดังเดิม
การกระทำของคนบางกลุ่มและสื่อบางแห่ง สำนักพุทธฯ (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ต้องไม่นิ่งเฉย เพราะนอกจากจะต้องกวดขันเรื่องพระธรรมวินัยของพระสงฆ์แล้ว ยังควรต้องออกมาตักเตือนถึงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องที่เข้าไปก้าวก่ายกิจการของสงฆ์ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ เลยด้วย เพราะถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพระสงฆ์
@@ เกาะโซเชียลฯ...ดังง่ายก็ดับได้
ท่ามกลางฝุ่นตลบกรณี “หลวงปู่แสง” สิ่งที่มองเห็นลางๆ นอกจากทัวร์ลงผู้ที่สร้างคอนเทนต์แล้ว ยังมีความพยายาม “หาแสง” จากคนที่ “อับแสง” ไปเพราะโซเชียลฯด้วย
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อธิบายเรื่องนี้ว่า โลกโซเชียลฯเป็นโลกที่ไม่ชอบความเงียบเ พราะความเงียบไม่สร้างความสนใจให้ผู้คน ดังนั้นโซเชียลมีเดียจึงชอบความวุ่นวายบนแพลตฟอร์ม ยิ่งวุ่นวายมากยิ่งมีคุณค่ามาก
อย่างวิธีการไล่จับพระแบบที่กระทำกัน นอกจากจะทำลายระเบียบแบบแผนของสงฆ์แล้ว ดีไม่ดีสิ่งที่ทำไปอาจกลับมาแว้งกัดตัวเองได้ทุกเมื่อ เพราะโซเชียลมีเดียไม่มี safe guard ให้กับใครเลย
ขณะเดียวกัน ผู้ที่โด่งดังมาจากโลกโซเชียลฯหลายคนดับไปเพราะโซเชียลฯ แต่อยากกลับมาอีกครั้งด้วยการเกาะกระแสเหตุการณ์ดังๆ แต่จะกลับมาได้หรือไม่นั้นอยู่ที่การนำเสนอของตัวเอง และ feedback ที่ได้รับด้วย ถ้า feedback ไม่ดี ก็อาจดับซ้ำสองก็เป็นได้
@@ ผลประโยชน์รุมทึ้ง - แพลตฟอร์มลอยตัว
อีกหนึ่งประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ก็คือ โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งหารายได้ด้วยตัวของมันเอง
เช่น เวลาถ่ายทอดสดและมีคนดูจำนวนมากๆ สิ่งตอบแทนนอกเหนือจากยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ คือตัวเงินที่ได้จากแพลตฟอร์ม (เพราะแพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากคอนเทนต์ที่มีคนสนใจมากๆ) ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นการหาผลประโยชน์ที่แฝงได้เหมือนกัน
พฤติกรรมการไล่จับพระ และมีการถ่ายทอดผ่านสื่อเพื่อยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือเงินทอนจากแพลตฟอร์ม ไม่ต่างจากการหาผลประโยชน์จากพระโดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ
สิ่งที่ปรากฏเท่าที่เห็นกันโดยทั่วไป เป็นเหมือนความขัดแย้งระหว่างการใช้ความก้าวร้าวที่ผสมผสานกับเจตนาการทำความดี ซึ่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับได้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นไปในทางตรงกันข้าม และลดทอนความเชื่อถือของบุคคลดังกล่าวอย่างรวดเร็วเพียงชั่วพริบตา แม้ว่าจะอ้างว่ากระทำด้วยเจตนาดีเพียงใดก็ตาม
ข้อสังเกตอีกอย่างคือแพลตฟอร์มลอยตัวเ พราะถือว่าธุระไม่ใช่ ปล่อยให้ user ฟัดกันเอง แต่เจ้าของนั่งดูตัวเลขรายได้อยู่ ณ ที่ใดบนโลกใบนี้