กลายเป็นประเด็นดราม่า และงัดไอโอสาดใส่กันไม่หยุด หลังเกิดการรวมตัวกันของเยาวชนชาย-หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พร้อมใจกันแต่งกายด้วย “ชุดมลายู” ไปรวมตัวกัน 2 ครั้ง ด้วยจำนวนนับหมื่นคนหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
ภาพการรวมตัวกันของ “เปอร์มูดอ” หรือ “เยาวชนมลายู” อย่างพร้อมเพรียง พร้อมใจ และเป็นระเบียบ สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว บ้างก็กังวลว่าจะกระทบกับความมั่นคงหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพิ่งทำข้อตกลงหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทย และผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ
บางฝ่ายจึงเกรงว่ากิจกรรมนี้จะเป็นการ “แสดงพลัง” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองบนโต๊ะพูดคุยเจรจาในระยะต่อไป หลังจากโชว์ศักยภาพ “สั่งหยุดยิง” ให้ดูแล้ว
แน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงเองก็มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความกังวล ระดับผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งหลวมๆ ให้ตรวจสอบ...
@@ สั่งเช็คข่าววุ่น “วิธีรวมตัว”
เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัตินายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ช่วงรายอ 3 รายอ 6 ต้องบอกว่า “วุ่นเลย” เพราะเจ้านายมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อมูลของเปอร์มูดอที่ออกมารวมตัวในพื้นที่ แต่ละจุด ว่านัดแนะรวมกันที่ไหนก่อนที่จะเคลื่อนไปหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี (รวมตัวกันครั้งแรก 4 พ.ค.)
“งานเข้าเลยวันนั้น เพราะพวกเยาวชนนัดรวมตัวกันบริเวณจุดสำคัญของแต่ละอำเภอเพื่อนัดหมาย เยาวชนแต่ละชุมชน แต่ละตำบล ของแต่ละอำเภอ มารวมกันตรงจุดนัดพบเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ จากนั้นก็เคลื่อนขบวนไปที่สายบุรี มีทั้งที่เดินทางไปโดยรถยนต์ และรถจักรยานยนต์”
@@ เข้าทาง? ฮือแชร์ข่าว จนท.ค้น-คุกคาม
เมื่อมีการสั่งตรวจสอบ ก็ต้องมีการขยับเคลื่อนไหวของกำลังพล ซึ่งก็กลายเป็น “เข้าทาง” ของฝ่ายที่ต้องการโจมตีรัฐอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องที่มีการแชร์หรือกล่าวหาในสื่อสังคมออนไลน์ มีทั้งที่เกิดขึ้นจริง และการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
เช่น ข้อความหนึ่งในหลายๆ ข้อความที่แชร์กันเมื่อวันที่ 5 พ.ค.65 หลังเยาวชนเปอร์มูดอรวมตัวได้ 1 วัน
“#ชุดนอกเครื่องแบบเข้าตรวจค้นชาวบ้านไร้ข้อหาพร้อมกล่าวหาเป็นคนปลูกระดมให้เยาวชนให้ชุดมลายูในวันรายอ” โดยอ้างข้อมูลว่าจุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
บางข้อความที่มีการแชร์กัน อ้างว่าเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ข่มขู่และกล่าวหาชาวบ้านว่าเป็นคนปลูกระดมให้เยาวชนใส่ชุดมลายูในวันรายอ พร้อมตั้งคำถาม ติดแฮชแท็กว่า #ใส่ชุดมลายูผิดตรงไหน? #เยาวชนหลงไหลและรักษาอัตลักษณ์คนมลายูปาตานีผิดกฎหมายด้วยหรือ?
ต่อมาหลังการรวมตัวกันของเยาวชนหญิง ก็มีการเผยแพร่ข่าวทั้งในสื่อสังคม และเว็บไซต์ เช่น ข่าวที่อ้างว่ามีการตั้งด่านสกัดถนนในพื้นที่บ้านต้นไทร อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อไม่ให้เยาวชนหญิงไปรวมตัวที่มัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ
มีการประชาสัมพันธ์พร้อมติดแฮชแท็ก #ถ้าเจอด่านสกัดให้ประชาชนถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ส่งข้อมูลทางเพจได้ครับ เช่น ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม อย่างไร
ข้อเขียนลักษณะนี้ชัดเจนว่าต้องการนำภาพไปแชร์ต่อ ซึ่งก็มีภาพแชร์กันจริงๆ
นอกจากนั้นยังมีข่าวอ้างว่า ทหารพรานบางหน่วยเข้าพบผู้นำท้องที่ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พยายามบังคับและข่มขู่ให้รายงานข้อมูลแกนนำเยาวชนที่ไปรวมตัวกัน
ข่าวลักษณะนี้ยังมีอีกหลายข่าว แม้บางข่าวจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ก็ถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดภาพลบกับฝ่ายความมั่นคง
@@ โฆษกทหารแจงข่าวเท็จ ภาพเก่า จ้องโจมตี
ฝ่ายความมั่นคงเงียบมาระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาแถลงแก้ข่าวโดย พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
เหตุการณ์ที่ฝ่ายรัฐออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการ คือ ข่าวทหารพรานกว่า 10 นาย เข้าไปที่หมู่บ้านโฉลง ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เพื่อข่มขู่หาข้อมูลผู้ไปร่วมงานฉลองฮารีรายอ (รวมตัวแต่งชุดมลายู)
พ.อ.เกียรติศักดิ์ บอกว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบในทันที แต่ไม่พบว่ามีกำลังพลของหน่วยในพื้นที่เข้าไปข่มขู่เยาวชนตามที่เพจที่นำเสนอข่าวได้แอบอ้าง โดยภาพที่ปรากฎในเพจ เป็นภาพเก่าเมื่อวันที่ 4 พ.ค.65 เวลา 10.30 น.โดยหน่วยเฉพาะกิจกรรมทหารพรานที่ 47 ได้จัดกำลังเข้าไปสนับสนุนภารกิจของนายอำเภอกรงปินัง และติดตามความคืบหน้าในการสร้างบ้านในราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ ดังนั้นภาพและข้อความที่เพจดังกล่าวนำมาเสนอ จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
การแถลงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังได้ระบุชื่อเพจ ชื่อเว็บไซต์ และนามปากการของผู้เขียนที่ปล่อยข่าวเท็จ สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานความมั่นคงด้วย
@@ ระดับปฏิบัติ ย้ำ แค่ทำความเข้าใจ ไม่มีปิดล้อม-ข่มขู่
เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ยืนยันว่า มีการตรวจสอบข้อมูลเยาวชนที่ไปรวมตัวจริง แต่มองว่าเป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ และสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้มีการข่มขู่ใดๆ และไม่มีการปิดล้อมตรวจค้น มีแต่รูปแบบของการเข้าไปเยี่ยมเยียนและ สร้างความเข้าใจเท่านั้น
@@ เสียงเยาวชน...ทำไมมองเราเป็นคนร้าย
เยาวชนรายหนึ่งที่ได้ไปร่วมกิจกรรมรวมตัวกัน เผยความรู้สึกว่า พวกเราตกเป็นคนร้ายแล้ว ทั้งที่พวกเราแค่ออกไปรวมตัวทำสิ่งดีๆ ชูความมีพลังของเยาวชน ต้องการสานต่อประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง
“มันผิดด้วยหรือที่ทำเรื่องแบบนี้ จริงอยู่ทหารบอกว่ามันไม่ผิด แต่สิ่งที่ทหารทำในพื้นที่ตอนนี้ มีการหาข้อมูลของกลุ่มเยาวชน ทำให้ทุกคนกลัวมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พวกเราเสียขวัญกันหมด เพราะทหารเหมารวมว่าพวกเราเป็นกองกำลังของขบวนการก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆที่พวกเราคือเยาวชนเท่านั้น ไม่มีอาวุธอะไรจะไปสู้กับทหาร และไม่เคยคิดเลย”
เยาวชนหญิงรายหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งคำถามว่า ไหนรัฐบอกว่าต้องการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรม ของทุกชาติศาสนา แค่การแต่งกาย ทหารยังเหมารวมว่าพวกเราคือ “กองกำลัง” มันโหดมากกับเรื่องนี้ และถือว่าย้อนแย้งกับที่โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้สัมภาษณ์เอาไว้
@@ สายสืบโซเชียลฯ จับผิด โบกธงบีอาร์เอ็น
กระแสวิจารณ์เรื่องการรวมตัวของเยาวชนดำเนินไปอย่างกว้างขวาง และมีการหาข้อมูลหลักฐานจากภาพถ่าย ตลอดจนคลิปวีดีโอที่ออกมา เพื่อตอกย้ำความไม่ชอบมาพากล เช่น มีการโบกธงคล้ายธงสัญลักษณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็น, มีแกนนำองค์กรในพื้นที่ที่เปิดตัวลงสมัคร ส.ส.กับพรรคการเมืองหนึ่ง ไปร่วมกิจกรรมด้วย
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลที่ได้จากคลิปวีดีโอว่า การรวมตัวของเยาวชนมีการปฏิญาณตนด้วย แต่คำแปลเป็นไทยของคำปฏิญาณภาษามลายูยังแตกต่างกัน บ้างก็ว่าเป็นคำปฏิญาณธรรมดาๆ คล้ายคำปฏิณาณของลูกเสือ เนตรนารี แต่บางคนก็ตีความว่าเป็นคำปฏิญาณในลักษณะประกาศจุดยืนทางการเมืองเรื่องการแยกดินแดน
@@ ไอโอลาม โจมตีพรรคประชาชาติ
ฝ่ายการเมืองที่โดนโจมตีหนัก คือ พรรคประชาชาติ โดยมีการนำรูปถ่าย ส.ส.ของพรรคที่ไปปรากฏตัวในกิจกรรมการรวมตัวของเยาวชน มาแชร์ต่อและอ้างว่าพรรคประชาชนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ และเป็นพรรคอิสลาม
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ หรือ “ทนายแวยูแฮ” ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ปรากฏในภาพ อธิบายกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ไปร่วมงานจริง เพราะเป็นงานแต่งชุดมลายู มีการประสานมาล่วงหน้า กิจกรรมวันนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย
“วันนั้นผมได้ไปร่วมที่มัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด 300 ปี) ได้ประสานงานจาก CAP (สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ; ผู้จัดการ) เขาได้ประสานงานมาว่าจะมีการรวมตัวกันในชุดมลายู ผมในฐานะที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ และตะโละมาเนาะเป็นบ้านเกิดผม บ้านผมอยู่ที่นั่น ผมก็เลยไปร่วมงานในฐานนะที่เจ้าภาพเขาประสานงานมา”
“ดูแล้วไม่มีอะไร เปอร์มูดอแต่งกายชุดมลายูจาก จ.นราธิวาส ทุกอำเภอไปรวมที่นั่น เห็นแล้วมีความภาคภูมิใจมากกว่าที่เยาวชนบ้านเรามีความตื่นตัวในเรื่องของการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมากขึ้น ทราบว่ากิจกรรมแบบนี้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ช่วงโควิด 2 ปีได้หยุดกิจกรรมไป พอโควิดคลี่คลาย ก็เกิดการตื่นตัวขึ้นมา วันนั้นผมไปรวมตัวที่มัสยิดตะโละมาเนาะ กิจกรรมวันนั้นไม่มีอะไร มีการขับรถจักรยานยนต์ของเยาวชน และมีการแปรอักษร”
@@ ส.ส.กมลศักดิ์ วอนเลิกใส่ไข่ แนะรัฐลดอคติ
ทนายแวยูแฮ บอกว่า ช่วงบ่ายที่มีการรวมตัวที่ อ.สายบุรี (หาดวาสุกรี) ตนไม่ได้ไป แต่กลับมีการใส่สีตีไข่ อยากขอให้ลดอคติ และเปิดใจกว้างกับคนมลายูในพื้นที่
“ผมไม่ทราบว่าใครไปตีความหรือใส่ไข่จนเห็นภาพที่มันน่ากลัว ผมไม่ทราบว่าคนเหล่านั้นมีเจตนาอย่างไร ผมอยากให้เข้าใจ ไม่อยากให้มีอคติ กับเรื่องเหล่านี้ อยากให้เปิดใจกว้างกับคนมลายูบ้านเรา เพราะว่าสิ่งที่เป็นปัญหา มันเกิดจากความอคติ การแต่งกายไม่ใช่เรื่องผิด น้องๆ ก็ถามผม ในฐานนะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ในฐานนะที่ผมเป็น ส.ส.ในพื้นที่ ว่ามีปัญหาอะไรไม่ ลักษณะการรวมตัวแบบนี้ ผมบอกว่าจริงๆ มันเป็นหน้าที่ และนโยบายของรัฐด้วยซ้ำที่ต้องส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละชุมชน”
“แต่ว่าความเป็นมลายูเรา รัฐเองก็ทอดทิ้ง ไม่ได้มาดูแลให้ความสำคัญ การตื่นตัวของเยาวชน การตื่นตัวของคนพื้นที่ แท้จริงไม่ได้เกิดจากรัฐ ลองรัฐหันมาดูแลเขาสิ ผมว่าตรงนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา คือการพยายามใส่ไข่ คำปฏิญาณก็ไปแปลความให้กลายเป็นประเด็นความมั่นคง ปัญหาอย่างนี้ ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเงื่อนไขมาโดยตลอด”
ทนายแวยูแฮ บอกด้วยว่า จริงๆ คำปฎิญาณของเยาวชน รัฐสมควรนำมาแปลให้ถูกต้อง แล้วนำมาพิจารณา เพราะนั่นคือความต้องการที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่ที่นี่ กล่าวโดยสรุป เขาต้องการความเป็นธรรม เขาต้องการเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาต้องการการกินดีอยู่ดี ไม่ได้มีส่วนไหนตอนไหนที่ระบุว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนอะไรเลย แล้วพอเสร็จกิจกรรม ก็มีการแยกย้ายโดยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น