เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบความสำเร็จจากข้อตกลง “รอมฎอนสันติ” หรือลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดที่ผ่านมา ก็มีความเคลื่อนไหวในเชิงความมั่นคงเกิดขึ้นมาเป็นระลอก
1.เกิดกิจกรรมรวมตัวของเยาวชนมลายูมุสลิมทั้งชายและหญิง โดยให้เหตุผลเรื่องการถ่ายภาพชุดมลายู เพื่อรักษาประเพณีการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ แต่ในทางความมั่นคงกังวลว่าอาจเป็นการส่งส้ญญาณ “รุกทางการเมือง” ของกลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือไม่ หลังจากแสดงให้รัฐบาลไทยเห็นแล้วว่า พวกเขามีตัวตน และควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้จริง
2.กลุ่มแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนเปิดปฏิบัติการเชิงรุกเพิ่มเติมในแง่สัญลักษณ์ เช่น ทำป้ายคล้ายสัญลักษณ์ธงของบีอาร์เอ็น นำไปปักตามหลุมฝังศพ (ในกุโบร์ หรือสุสาน) ของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เสียชีวิตจากเหตุปะทะ กรณีนี้เจ้าหน้าที่พบในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
3.มีปฏิบัติการทั้งก่อเหตุรุนแรง และสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนจากกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มพูโล
ล่าสุดมีการแขวนป้ายผ้าเขียนข้อความ “พร้อมสู้กับสยาม” ซึ่งหมายถึงประเทศไทย และอ้างว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จากการได้รับเอกราช โดยการแขวนป้ายผ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และยังมีการทิ้งใบปลิวในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการตั้งคำถามว่า ความสำเร็จจากการร่วมกัน “ลดเหตุรุนแรง” ช่วงเดือนรอมฎอน ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น กับฝ่ายรัฐบาลไทยนั้น ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์
หรือจะกลายเป็นเข้าแผนของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ตัองการเปิดเกมรุกทางการเมือง หลังจากผ่านห้วงเวลาของการก่อเหตุร้ายเพื่อกดดันให้เกิดโต๊ะพูดคุยเจรจาเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันก็ทำให้สถานการณ์คุกรุ่น เพราะมีกลุ่มที่ตกขบวนการพูดคุย พยายามก่อเหตุเพื่อเรียกร้องความสนใจ และประกาศศักดา