มุสลิมปัตตานีแห่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ พร้อมทองรูปพรรณ เตรียมไว้ใส่รับวันฮารีรายอ พ่อค้าแม่ค้ารับทรัพย์อื้อ บางร้านขายดีถึงกับต้องมีบัตรคิว ขณะที่ร้านทองนราธิวาสก็คึกคักแม้ราคาทองจะสูงขึ้น แห่ทั้งซื้อทั้งจำนำแน่นร้านจนต้องแบ่งโซน ส่วนที่อยู่ต่างจังหวัด ทั้งเรียน ทั้งทำงาน ก็นั่งรถไฟกลับบ้านร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว
แม้เศรษฐกิจจะดิ่งอย่างไร แต่เดือนรอมฎอนของทุกปี โดยเฉพาะช่วงกลางและท้ายเดือน จะมีพี่น้องมุสลิมออกมาจับจ่ายซื้อหาชุดรายอหรือเสื้อผ้าใหม่ และทองรูปพรรณเพื่อสวมใส่ในวันฮารีรายอ ซึ่งปีนี้อยู่ราวๆ ต้นเดือนพฤษภาคม
ทำให้เกือบทุกร้านมียอดขายสูงขึ้น และดีกว่าปีที่แล้วมาก ร้านเครื่องแต่งกายชายหญิง และเสื้อผ้าเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างโกยรายได้กันอย่างคึกคัก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้พอสมควร
@@ ELRAH แบรนด์มาเลย์นำโด่งรายอปีนี้
ปรากกฎการณ์วัยรุ่นชายแดนใต้เข้าคิวรอซื้อชุดรายอ ELRAH แบรนด์นำเข้าจากมาเลเซีย จากร้านหน้าโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถึงกับต้องมีบัตรคิว พร้อมเปิดขายกันถึงตีสามในแต่ละวัน คือปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งก่อนถึงเทศกาลฮารีรายอ
“รายอนี้วัยรุ่นชอบแบรนด์นี้กันมาก เนื้อผ้าดี กระดุมสวย แบบดี เนี้ยบ ราคาสูงแต่ใช้ได้นาน แบบเสื้อและกางเกงที่ชอบชุดละ 1,990 บาท เก็บเงินไว้เพื่อมาซื้อใช้ตอนวันรายอ” เด็กหนุ่มมุสลิมรายหนึ่งบอกพลางเลือกหาเสื้อผ้าในแบบที่ใช่ เพื่อใช้สวมใส่ในวันสำคัญ
แบรนด์นี้มีทั้งเสื้อและกางเกง ชุดโต๊ป เสื้อลดราคา 1 แถม 1 และชุดผู้หญิงให้เลือกกันหลากแบบ ตามสมัยนิยม ดีไซน์ทันสมัย ถูกใจวัยรุ่นและวัยทำงาน พ่อแม่พาลูกๆ มาดู ขณะที่สามีภรรยาพากันมาเลือกเซ็ตครอบครัว
“ขายดีครับ ขายดีเกือบทุกรุ่น มีหลายรุ่นมาก จำไม่หมด มีชื่อของแต่ละรุ่น ราคาแตกต่างกันตามเนื้อผ้าและแบบ เปิดร้านขายกันจนวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน เปิดทุกวัน ช่วงแรก 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ช่วงสอง 20.45 น.ถึงตี 3 ตอนนี้เปิดร้านในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดเพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องมาซื้อที่นี่ที่เดียว” พนักงานขายของ ELRAH บอกถึงความปังของแบรนด์
อีกแห่งที่ปังไม่แพ้กัน คือร้านขายเสื้อผ้ามือสองจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เปิดในย่านปูยุด ชานเมืองปัตตานี
“เปิดร้านตรงนี้มา 5-6 เดือน เปิดตรงหน้าบ้าน ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ก่อนนี้ไลฟ์สด ขายออนไลน์ เมื่อของมาก็ไลฟ์และโพสต์ขายในเพจ ลูกค้าต่างจังหวัดเยอะมาก ออนไลน์เป็นช่องทางที่ดีมาก เดือนนี้มาขายหน้าร้าน ลูกค้าบอกต่อๆ กัน เมื่อคนที่ยังไม่ได้ซื้อได้ดูผ้าของเพื่อน จะถามว่าซื้อที่ไหน เราก็ได้ลูกค้าเพิ่มจากลูกค้าที่ซื้อไป มีทั้งลูกค้าประจำและขาจร เพราะย่านนี้เป็นถนนสายหลักของปัตตานีและยะลาที่มีคนผ่านไปมาเยอะ” อุสตาซฮารีส มะดง เจ้าของร้านและเพจ “เสื้อโต๊ปพรีเมี่ยม By Abu Bushra” ย่านปูยุด เล่าให้ฟังถึงกิจการที่กำลังไปได้ดี
“เราเปิดผ้าของดูไบ ไม่ใช่ผ้าเกรดบ้านเรา รับของมาจากเพื่อนอีกที ยอมรับว่าผ้าเขาดี ราคาไม่แพงเลย ไม่ต้องรอคิวตัด เปิดร้านทุกวันจนถึงแก้บวช หลังละหมาดตะรอเวียะห์ทุกคืนจะเปิดอีกที คนมาเลือกซื้อเยอะ เราอยากช่วยให้ได้สัมผัสผ้าดีๆ กับเศรษฐกิจแบบนี้ เป็นชุดใหม่ที่รับได้ ถ้าเด็กฮาฟิสมาซื้อจะให้ราคาพิเศษ” อุสตาซฮาริส บอกถึงโปรโมชั่น
ส่วน อุสมาน สาและ หลานชายเจ้าของ WIJAYA Shop ย่านจะบังติกอในเมืองปัตตานี ให้ข้อมูลคล้ายๆ กัน
“ปีนี้ขายดีกันมาตั้งแต่เริ่มเข้ารอมฎอนเลย ลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ รายได้ดีกว่าปีที่แล้วเยอะ เราผลิตเสื้อและโต๊ปผู้ชายล้วน เป็นแบรนด์เราเองคือ WIJAYA ผลิตในสามจังหวัด แหล่งใหญ่ที่จะบังติกอ และปูยุด มีลูกค้าเยอะไม่แพ้ในเมืองเช่นกัน”
@@ ร้านทองปัตตานีเฮ ขายดีก่อนถึงวันฮารีรายอ
ใกล้เทศกาลฮารีรายอบรรยากาศ ย่านร้านขายทองกว่า 10 ร้าน บนถนนฤาดี ใจกลางเมืองปัตตานี คลาคล่ำไปด้วยผู้คน พี่น้องมุสลิมในปัตตานีพันกันมาเลือกซื้อทองรูปพรรณ ทั้งกำไล แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ตุ้มหู เพื่อเตรียมไว้สวมใส่ในช่วงเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
เจ้าของห้างทองหลายร้านให้ข้อมูลตรงกันว่า ในช่วงเดือนถือศีลอดปีนี้มีประชาชนมาเลือกซื้อทองรูปพรรณกันมาก แม้ว่าราคาทองมีการปรับขึ้น-ลงอย่างต่อเนื่อง แต่พี่น้องมุสลิมก็ยังคงมาเลือกซื้ออย่างไม่ขาดสาย
“โดยปกติแล้วพี่น้องมุสลิมก็จะนิยมซื้อทองรูปพรรณเหมือนทุกปี แต่ปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งประชาชนที่ทำงานในพื้นที่และต่างจังหวัดกลับมาฉลองวันรายอ แห่มาซื้อทอง ยิ่งช่วง 2-3 วันก่อนรายอคึกคักมากทีเดียว การที่ทองขายดีในปีนี้ด้วยเศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลง ทำให้ดูดีไปทุกเรื่อง ร้านทองในพื้นที่จึงขายดีทุกจังหวัด”
ขณะที่ลูกค้าที่มาเลือกซื้อทองเล่าว่า ปีนี้มีเงินเก็บ จึงมาซื้อทองให้กับตนเองและครอบครัว ปีที่แล้วไม่ได้ซื้อ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี อีกทั้งอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีเงินเก็บเลย
“ดีใจมากที่ปีนี้มีเงินและได้มาซื้อทองให้กับครอบครัว เพราะเทศกาลฮารียารอทุกคนก็อยากใส่อะไรใหม่ๆ บ้าง”
@@นราธิวาส มุสลิมแห่ซื้อ-จำนำทองแน่นร้าน!
ขณะที่บรรยากาศตามร้านทองในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสก็คึกคักไม่แพ้กันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพราะมีหญิงมุสลิมทั้งในพื้นที่และใกล้เคียงเดินทางมาเลือกซื้อทองรูปพรรณ ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไลข้อมือ จนแน่นร้าน
ลูกค้ามีทุกรูปแบบ ทั้งมาซื้อใหม่ มาแลกเปลี่ยน และมาจำนำ ซึ่งบางคนก็จะพากันมาทั้งครอบครัว ซื้อทองให้ลูกและตนเอง ขณะที่บางคนก็ออกมาจำนำทองโดยทางร้านได้แยกโซนไว้ต่างหากสำหรับลูกค้าที่มาซื้อใหม่และลูกค้าที่มาจำนำ ขณะที่ทางร้านทองทุกร้านมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยตั้งเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้ประชาชนได้ล้างมือ พร้อมกับประชาสัมพันธ์การสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าร้าน อีกทั้งมีฉากพลาสติกกั้นระหว่างพนักงานขายและลูกค้า
ราคาทองช่วงนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในวันที่ 30 เม.ย. ราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 30,650 บาท ราคาขายบาทละ 30,750 บาท และราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 30,096 บาท ราคาขายบาทละ 31,250 บาท
นอกจากนั้น ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสพลุกพล่านไปด้วยพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางจากพื้นที่ต่างๆ ที่ออกมาจับจ่ายเลือกซื้อเสื้อผ้า เพื่อเตรียมไว้สวมใส่ต้อนรับวันฮารีรายอ ทำให้บรรยากาศที่ร้านค้า ซึ่งมีทั้งจำหน่ายเสื้อผ้าและชุดรายอเด็ก ผู้ใหญ่ เสื้อโต๊ป ผ้าละหมาด ผ้าคลุมศีรษะสตรี ผ้าโสร่งชาย หมวกกะปิเยาะห์ และอื่นๆ มีคนมาต่อคิวซื้อแน่นร้าน
@@ แห่กลับภูมิลำเนาร่วมฉลองรายอ
บรรยากาศการเดินทางกลับภูมิลำเนาของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ที่เดินทางไปศึกษาหรือทำงานต่างถิ่น เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองวันฮารีรายอร่วมกับครอบครัว เป็นไปอย่างคึกคัก หนาแน่น โดยที่สถานีรถไฟยะลามีพี่น้องมุสลิมจำนวนมากโดยสารมากับขบวนรถไฟ โดยเฉพาะขบวนรถเร็ว 171 กรุงเทพฯ – สุไหงโกลก คนแน่นโบกี้ เมื่อม้าเหล็กเทียบชานชลาในเวลาประมาณ 11.10 น. ของวันเสาร์นี้ 30 เม.ย. ปรากฏว่ามีผู้โดยสารลงที่สถานีรถไฟยะลาเป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับรถไฟขบวนธรรมดาที่วิ่งขึ้น-ล่องระหว่างจังหวัด จากสุไหงโก-ลก ไปสุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช มีผู้โดยสารเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวเต็มทุกขบวนเช่นกัน
เจ้าหน้าที่รถไฟบอกว่า ช่วงใกล้รายอมีพี่น้องมุสลิมเดินทางไปมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ที่นั่งเต็มทุกขบวน โดยทางสถานีรถไฟยะลาได้จัดเจ้าหน้าที่รถไฟ และตำรวจรถไฟ ไว้คอยดูแลอำนวยความสะดวก รวมถึง รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งที่บริเวณสถานีรถไฟ และภายในโบกี้รถไฟ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
สำหรับวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค 65 สำนักจุฬาราชมนตรีได้กำหนดให้ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล หรือ วันอีฎิลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1443 หากมีผู้เห็นดวงจันทร์ ก็จะกำหนดใหห้วันที่ 2 พ.ค.65 เป็นวันตรุษอีฎิลฟิตริ (วันรายอปอซอ) หากไม่เห็นดวงจันทร์ วันตรุษอีฎิลฟิตริจะตรงกับวันที่ 3 พ.ค 65 โดยทางจังหวัดยะลาได้ออกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ 1 วัน