10 วันแรกของเดือนรอมฎอนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าเป็นปีที่เงียบสงบจริงๆ
ปีนี้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯฝ่ายรัฐบาลไทย ทำข้อตกลงกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ร่วมกันลดเงื่อนไขเหตุรุนแรง เพื่อสร้าง “รอมฎอนสันติ”
ผ่านโค้งแรกมาแล้วต้องบอกว่า “เห็นผล”
เหตุรุนแรงไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่เหตุที่เกิดขึ้นยังสามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากอะไร บางเหตุที่ยังสรุปไม่ได้ ก็มีคณะกรรมการประสานงานระหว่าง 2 ฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ
@@ ประมวลเหตุร้าย 10 วันแรกรอมฎอน
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมเหตุการณ์ความรุนแรงห้วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนเอาไว้ (ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.65 เป็นต้นมา)
5 เม.ย. คนร้ายยิง นายแวสะมาแอ แวคาเต เสียชีวิตในท้องที่หมู่ 5 ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่สรุปสาเหตุว่าเป็นเรื่องยาเสพติด
6 เม.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กรงปินัง อายัดตัว นายรุสดี กานุง ชาว ต.ตะเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นบุคคลตามหมายจับของศาลจังหวัดยะลา ลงวันที่ 21 ก.ค.60 สถานที่จับกุม หน้า สภ.เมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา
7 เม.ย. คนร้ายลอบยิง นายซุลกอฮา โตะเลาะ ในท้องที่หมู่ 2 ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิต เจ้าหน้าที่สรุปสาเหตุยาเสพติด
8 เม.ย. คนร้ายขว้างประทัดยักษ์ บริเวณริมถนน หมู่ 4 บ้านพะปูเงาะ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา ยังไม่ทราบสาเหตุคณะประสานงานอยู่ระหว่างตรวจสอบ
9 เม.ย. คนร้ายยิง นายอับดุลมูตอเละ อาแว หรือ “บาบอเละ” อุสตาสโรงเรียนกูแบบอยอ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิต ยังไม่ทราบสาเหตุ คณะประสานงานอยู่ระหว่างตรวจสอบ
10 เม.ย. อส.อภินันท์ เจ๊ะแว ใช้อาวุธปืนยิง นายนิอัสมัน แวหะมะ เสียชีวิต บริเวณหลังมัสยิดสะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่สรุปสาเหตุส่วนตัว ขัดแย้งเรื่องลักทรัพย์
@@ ปล่อยตัวเกลี้ยงศูนย์ซักถาม ครั้งแรกรอบ 18 ปี!
สัญญาณบวกไม่ได้มีแค่เหตุร้ายลดลง แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ลดเงื่อนไขลงอย่างเต็มที่ด้วย
ร.ต.พิทยา พรมแสงรัตน์ หัวหน้าชุดซักถาม ฉก.ขกท.พล.ร.15 (หน่วยเฉพาะกิจ ข่าวกรองทางทหาร กองพลทหารราบที่ 15) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยอดผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทั้งใน จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา ลดลงเป็น 0 กล่าวคือไม่มีผู้ที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลยแม้แต่คนเดียว
มีรายงานว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีไฟใต้ ที่ศูนย์ซักถาม หรือศูนย์ควบคุมตัวต่างๆ ไม่มีผู้ต้องสงส้ยถูกคุมตัวอยู่เลย
"ศูนย์ซักถาม" ของฝ่ายความมั่นคง มีทั้งหมด 6 ศูนย์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 (ฉก.ทพ.43) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
2. ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภารใต้ (ขกท.สน.จชต.) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารเช่นกัน
3. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ (ฉก.นย.ทร.) ตั้งอยู่ที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
4.ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 (ฉก.ทพ.46) ตั้งอยู่ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส
5. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 (ฉก.ทพ.41) ค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา
6. ศูนย์ซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ 229 ผู้เห็นต่างฯ เข้าศูนย์สานใจสู่สันติ
พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประสานงานคุยกันแล้ว และเร่งรัดติดตามหาผู้กระทำผิดเพื่อแสดงความจริงใจ
นอกจากนั้น ฝ่ายความมั่นคงยังได้ลดป้าย “ประกาศจับ - รางวัลนำจับ” ทุกแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
“ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนๆ กับพื้นที่อื่น มีภัยแทรกซ้อน ยาเสพติด อาชญากรรมทั่วไป เหมือนที่อื่น ที่สำคัญต้องระวังมือที่สาม ต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเราก็พยายามเน้น กำชับกำลังพลของเราให้อดทน“
แม่ทัพภาคที่ 4 บอกด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ที่คิดเห็นต่างฯ ขอเข้าร่วมโครงการสานใจสู่สันติแล้ว 229 ราย มีผู้ประสานงาน 66 คนเข้ามาอยู่ที่ศูนย์สานใจสู่สันติแล้ว 55 ราย และจะมีการทยอยเข้ามา ถ้าความมั่นใจเกิดขึ้น
@@ มั่นใจหลังรายอ ผู้เห็นต่างฯแห่ร่วมโครงการ
พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 และผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ได้มีโอกาสกลับภูมิลำเนามาพบปะกับครอบครัวและปฏิบัติศาสนกิจในห้วงเดือนรอมฎอน ผ่านการติดต่อกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ครอบครัว รวมถึงศูนย์สันติวิธี ผ่านโครงการมัสยิดสานใจสู่สันติ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นการพูดคุยกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น ในการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในห้วงเดือนรอมฎอน รวมทั้งได้จัดคณะทำงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากกรณีที่มีการก่อเหตุต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเน้นย้ำให้ตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะไม่เข้าบังคับใช้กฎหมาย และไม่มีการติดตามหรือจับกุมแต่อย่างใด ขอให้เชื่อมั่นในตัวผู้ประสานงาน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อเข้าสู่กระบวนการ จนประสบความสำเร็จออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขกับครอบครัว ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดต่อเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 230 คน คาดว่าหลังจากห้วงเดือนรอมฎอนและรายอนี้ ก็จะมีกลุ่มผู้เห็นต่างฯมาเข้าสู่กระบวนการนี้อีกเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมในการเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป