“การพูดคุยที่เป็นอยู่วันนี้ คือบีอาร์เอ็นกำลังแสวงหาแนวทางเพื่อให้เขาได้เปรียบ การเจรจาของเขากับรัฐไทยแค่การยื้อเวลา แต่ไม่ล้มโต๊ะเจรจา ขณะที่รัฐไทยก็อยากเจรจา เพราะงบประมาณมีเยอะ”
เป็นทัศนะจากอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย เจ้าของฉายา “กูรูบีอาร์เอ็น” เพราะเคยศึกษาโครงสร้างองค์กรบีอาร์เอ็นเอาไว้อย่างละเอียด และเขียนเป็นตำราให้นายทหารรุ่นน้องๆ ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคงได้ศึกษา ก่อนเดินทางลงไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ทีมข่าวอิศรา” ขอสัมภาษณ์ พล.อ.สำเร็จ ตั้งแต่ก่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ รอบที่ 4 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.65 ท่ามกลางข่าวที่ว่าฝ่ายความมั่นคงไทยเสนอหยุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นช่วงเดือนรอมฎอน หากฝ่ายบีอาร์เอ็น หรือผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ก่อเหตุรุนแรงขึ้นก่อน เพื่อให้รอมฎอนปีนี้เป็น “รอมฎอนแห่งสันติสุข”
ที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้กลับบ้าน ไปมัสยิดเพื่อประกอบศาสนกิจ “เอี๊ยะติกาฟ” อันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนด้วย
ข้อเสนอนี้เป็นเงื่อนไขที่แรง และพุ่งตรงไปยังขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้ความรุนแรงในการขับเคลื่อนเรียกร้องเอกราชอย่างชัดเจน จนน่าวิตกว่า บีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยฯ จะรับเงื่อนไขหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ยอมรับ
“ถ้าบีอาร์เอ็นยอมรับและทำจริงอย่างที่คุย ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ได้ผลระดับหนึ่ง” พล.อ.สำเร็จ เอ่ยขึ้นเป็นคำตอบของคำถามแรก ก่อนจะขยายความถึงคำถามต่อมา
“ถ้าถามว่าบีอาร์เอ็นเสียเปรียบไหม รัฐจะเสียเปรียบไหม อันนี้แล้วแต่จะมอง อยู่ที่เจตนาของแต่ละฝ่ายว่ามองเรื่องนี้อย่างไร แต่เงื่อนไขที่บอกว่าถ้า 20 วันแรกของรอมฎอนไม่มีเหตุจากบีอาร์เอ็น แล้วอนุญาตให้คนของบีอาร์เอ็นมาเยี่ยมพี่น้องในหมู่บ้านของตัวเองได้ ข้อนี้ตอบได้เลยว่าเขาไม่มาหรอก เพราะปกติเขาแอบมาอยู่แล้ว อันนี้เป็นประเด็นที่ฝ่ายเราเองที่ไม่รู้เรื่อง”
อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้รับการยอมรับว่ารู้จักโครงสร้างบีอาร์เอ็นเป็นอย่างดี ชี้ว่าสิ่งที่ต้องทำในช่วงที่มีข้อตกลงยุติการก่อเหตุรุนแรง คือต้องมีกลไกลตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด
“เรื่องเหตุการณ์ที่ต้องสงบช่วงรอมฎอนต้องให้ชัดเจน นับเฉพาะเหตุที่ชัดเจนว่าเป็นเหตุที่เกิดจากบีอาร์เอ็น เช่นเ หตุระเบิดนี่ชัดๆ เลย เพราะส่วนมากเหตุระเบิดจะเกิดจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่มีระเบิดหรอก เรื่องของเหตุระเบิดเกิดจากบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น แต่บีอาร์เอ็นไม่ยอมรับ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ควรแยกให้ออก แต่เท่าที่ดูคือยังมองไม่ออก เวลาฝ่ายรัฐแยกผู้เห็นต่างฯเป็นกลุ่มหนึ่ง ผู้ก่อเหตุรุนแรง หรืออาร์เคเค เป็นอีกกลุ่ม เขามองแยกกัน แต่ความจริงมันเป็นกลุ่มเดียวกัน”
พล.อ.สำเร็จ ขมวดปมเป็นข้อสรุปที่ทำให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐในปัจจุบันอาจจะยังไม่รู้จักองค์กรบีอาร์เอ็นดีพอ
“ถ้าคุณไปทำงานภาคใต้ อาจคุยกับบีอาร์เอ็นแล้ว แต่คุณแยกไม่ออก จริงๆ เขาคือบีอาร์เอ็น คุณไม่รู้เอง”
อดีตรองแม่ทัพ ซึ่งเคยมีบทบาทบนโต๊ะพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ในอดีต ชี้จุดอ่อนเรื่องการระบุสาเหตุของเหตุรุนแรงว่า มีกระบวนการมากมาย ทำให้ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเหตุรุนแรงเกิดจากใคร ทั้งที่จริงๆ ก็ทราบกันดีอยู่
“อย่างเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. (ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย) ระบุชื่อได้เลยเป็นบีอาร์เอ็น แต่กระบวนการทำงานจริงต้องรอออกหมายจับก่อน ทั้งที่คนตายไปแล้ว คนเจ็บไปแล้ว ถนนเสียหายไปแล้ว ผมรู้ว่าใครเป็นใคร แต่ผมเสนอไม่ได้ เราพูดไปก่อนไม่ได้”
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ และคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่ธรรมดา ทำให้ พล.อ.สำเร็จ ยอมรับว่า บีอาร์เอ็นชิงความได้เปรียบจากฝ่ายรัฐไทยได้เสมอ
“บีอาร์เอ็นเป็นร้อยๆ คนนะที่ผมคุย และไม่ใช่ตัวเล็กๆ มีทั้งโต๊ะอีหม่าม อุสตาซ คนไหนที่ว่าไม่ใช่บีอาร์เอ็นก็บอกมาสักคน ผมรู้จัก เพราะเคยคุยกับเขาเป็นร้อยๆ คน ปัญหาคือรัฐบาลเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้”
“จริงๆ บีอาร์เอ็นจะเสื่อมไปด้วยตัวของเขาเอง คนมลายูเอาคนฉลาดมาสู้กับเรา คนฉลาดๆ ที่ตายไป ผมคุยกับพวกนี้ ระดับนำๆ ทั้งนั้น”
ขณะที่โครงสร้างการแก้ไขปัญหาของฝ่ายไทย พล.อ.สำเร็จ มองว่ายังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะระดับนโยบาย
“ทุกวันนี้กำหนดนโยบายไม่ถูก ผู้ปฏิบัติก็ไปต่อยาก จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านรักเรา ก็แค่ทำดี จริงใจ อย่าไป มารยาสาไถย คุยตรงๆ เอาศัตรูมาเป็นมิตร”
อดีตรองแม่ทัพภาค 4 อธิบายถึงหลักการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ว่ามีอยู่ 5 ข้อ คือ
1.การปฏิบัติการข่าวสาร
2.การปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ
3.ปรับปรุงสถาพแวดล้อมให้ช่วยเหลือประชาชน
4.การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร
5.การบริหารจิตวิทยา
“อย่างที่สู้กับคอมมิวนิสต์ ที่เขาพ่ายแพ้ก็เพราะ 5 ข้อนี้ อันนี้คือสิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องทำ อย่างคอมมิวนิสต์มีฐานที่มั่น เราก็เอาเครื่องบินไปโจมตี ฐานเขาพัง เขาสลาย แต่เรื่องของสามจังหวัด ไม่มีแบบนั้น เราจะทอย่างไร ก็ต้องตัดรอน แต่ละลำดับขั้นไปตามโครงสร้างขั้นบันได เดี๋ยวก็หมด โอกาสมี แต่ไม่ทำกัน ถ้าทำถูกทาง ความสงบเกิดแน่ แต่ความคิดเห็นทางการเมืองก็ยังมี ก็ว่ากันไป”
ฟังจากหางเสียงของ พล.อ.สำเร็จ ดูจะยังไม่ค่อยพอใจผลงานที่ผ่านมาในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเท่าใดนัก และยังเห็นว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ก็ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เปรียบ ขณะที่ฝ่ายรัฐไทยมีกับดักเรื่องงบประมาณ
“การพูดคุยที่เป็นอยู่วันนี้ คือบีอาร์เอ็นกำลังแสวงหาแนวทางเพื่อให้เขาได้เปรียบ การเจรจาของเขากับรัฐไทยเป็นแค่การยื้อเวลา แต่ไม่ล้มโต๊ะเจรจา ขณะที่รัฐไทยเขาก็อยากเจรจา เพราะงบประมาณมีเยอะ”
อดีตรองแม่ทัพภาค 4 บอกว่า ถ้าตนเป็นผู้มีอำนาจ จะไม่เอาการพูดคุยเจรจาในรูปแบบนี้ และคณะที่ไปพูดคุยต้องมีข้อมูลของบีอาร์เอ็นมากกว่าที่เป็นอยู่
“ถ้าเป็นผม ผมไม่เอาเจรจาแบบนี้ จากที่คุยกับคนข้างใน (หมายถึงในขบวนการบีอาร์เอ็น) เขาบอกว่าเขายื้อ แต่ไม่ล้มโต๊ะเจรจา คือตอนนี้คนเขารู้ไต๋กันแล้ว ส่วนฝ่ายรัฐที่เป็นคณะทำงาน ก็มีงบทำงาน ก็อยากคุยอยากเจรจา ทั้งๆที่รู้เรื่องเกี่ยวกับคนทั้ง 7 คนที่มาคุยค่อนข้างน้อย คุยกี่ครั้งแล้วมันได้ผลหรือไม่ คนที่อยู่ในคณะทำงานหลายคนเคยอยู่กับผมมาก่อน เขาก็มาเล่าให้ฟัง”
เป็นข้อสังเกตทิ้งท้ายจากคนนอกวงที่มีประสบการณ์...
เพราะ พล.อ.สำเร็จ เอง นอกจากจะเป็นอดีตนักรบหมวกแดงที่ลงไปปฏิบัติราชการสนามที่ช่ายแดนใต้, เป็นผู้ศึกษาโครงสร้างองค์กรบีอาร์เอ็นจนสามารถเขียนตำราได้เป็นสิบๆ เล่ม, เคยเปิด “บ้านกรงนก” ในค่ายสิรินธร ฐานที่มั่นของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อพูดคุยแบบเปิดเผยกับ “คนในขบวนการ” แล้ว
สมัยก่อนเกษียณยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับ “โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 56 ด้วย