การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยกับ “บีอาร์เอ็น” ครั้งที่ 4 จบลงแล้ว ด้วยข้อตกลง “ริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ใช้เดือนแห่งการถือศีลอดเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติปฏิบัติการทางทหาร พร้อมตั้ง 3 คณะทำงานร่วมลดความรุนแรง-หารือกับประชาชนในพื้นที่-แสวงหาทางออกทางการเมือง
การพูดคุยฯ มีขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. ถึง 1-2 เม.ย.65 โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ภายหลังการพูดคุยฯเสร็จสิ้นลง ผู้แทนจากรัฐบาลไทยได้ออกเเถลงการณ์ผลการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 4 ระบุว่า
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน 2565 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้มีการพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ทั้งนี้ ผลการพูดคุยฯ มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นหมุดหมายที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 คณะพูดคุยฯ และ BRN ได้รับรองเอกสาร “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะพูดคุยกันในรายละเอียด โดยกำหนดให้มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเกียรติและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อบรรลุทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตามแนวคิดชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2) ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องร่วมกันใน “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และสร้างความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุย ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
3) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พูดคุยเรื่องบทบาทและขอบเขตหน้าที่การทำงานของคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยในประเด็นสารัตถะ 3 คณะ ประกอบไปด้วย
หนึ่ง คณะทำงานร่วมเรื่องการลดความรุนแรง
สอง คณะทำงานร่วมเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่
สาม คณะศึกษาร่วมเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีการมอบหมายบุคคลผู้ประสานงานเพื่อประสานการปฏิบัติของคณะดังกล่าว
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอความร่วมมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดตามสถานการณ์ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน โดยทั้งสองฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
@@ ตกลงหยุดยิงยาวถึงเดือนเซาวาล - รายอ 6
มีรายงานจากทีมงานคณะพูดคุยฯว่า ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งผู้ประสานงาน (contact persons) มีตัวแทนฝ่ายละ 3 คน และจะใช้เดือนรอมฎอนเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติปฏิบัติการทางการทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. - 14 พ.ค.65 เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบสุข และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายในการหารือต่อไป
สำหรับกรอบเวลาวันที่ 3 เม.ย. ถึง 14 พ.ค.นั้น เป็นกรอบเวลามากกว่าเดือนรอมฎอนทั้งเดือน (ดูดวงจันทร์กำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ในวันที่ 2 เม.ย.) แต่เป็นการตกลงยุติความรุนแรงต่อเนื่องจากเดือนรอมฎอน ไปถึงเดือนเซาวาล (เดือนต่อจากเดือนรอมฎอน) อีก 10 วัน ซึ่งเป็นช่วงฮารีรายอ และในพื้นที่จะมีพี่น้องมุสลิมจำนวนมากถือศีลอดต่ออีก 6 วัน จากนั้นจะมีวันรายออีกครั้ง เรียกว่า รายอ 6
@@ แถลงการณ์บีอาร์เอ็นเน้นมีผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ
อีกด้านหนึ่ง คือความเคลื่อนไหวจากฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือ Party B บนโต๊ะพูดคุยสันติสุข ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Abdulrohman Bin Haji Daud เนื้อความระบุว่า
สำนักเลขาธิการการเจรจาสันติภาพแนวร่วมปฏิวัติปาตานีมาเลย์แห่งชาติ (BRN) ออกแถลงการณ์ หลังเจรจาสันติภาพ รอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 31-1 เมษายน 2565 ณ ประเทศมาเลเซีย ว่า เราขอขอบคุณรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัน ศรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ และพนักงานทั้งหมดของสำนักเลขาธิการการเจรจา ที่มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อความสำเร็จของกระบวนการเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ระหว่างบีอาร์เอ็น และ PEDP/RTG ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.2022 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2565 และขอขอบคุณสื่อพันธมิตรที่พร้อมจะเข้าร่วมในวันนี้ และอย่าลืมขอบคุณชาวปาตานีนับล้านไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน
ในการเจรจาครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้น ได้แก่
1. การทำให้หลักการทั่วไปเป็นทางการซึ่งลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติสองคน และเสร็จสิ้นโดยการแลกเปลี่ยนจดหมายยืนยันโดย BRN และ RTG เพื่อเป็นหลักประกันความตกลงของหลักการทั่วไป
2. ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนจนถึงวันที่ 10 เชาวาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน - 14 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ข้อตกลงนี้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนปาตานีในพื้นที่โดยเฉพาะ และตามกระบวนการสร้างความมั่นใจระหว่างทั้งสองฝ่ายในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่มีความหมายในปาตานี
3. ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอกรอบการทำงานหรือ TOR ที่เกี่ยวข้องกับคณะทำงานร่วม (JWG) ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาทางการเมือง 2) การปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3) การลดความรุนแรงทั้งสองฝ่าย
4. ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งบุคคลที่ติดต่อภายใต้การจัดเตรียมของสำนักเลขาธิการของผู้อำนวยความสะดวกสำหรับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญแต่ละประเด็นที่อยู่ใน "หลักการทั่วไป" โดยมีคณะทำงานสามคนสำหรับแต่ละฝ่าย
นี่คือข้อมูลที่เราสามารถนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ และหวังว่าเพื่อนๆ สื่อจะรับทราบ
@@ ชาวบ้านเชื่อหยุดความรุนแรง “ทำได้”
จากการสอบถามความเห็นชาวบ้านในพื้นที่ นางเยาว์วดี ดอเลาะ ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีถ้าสามารถหยุดความรุนแรงได้ ชาวบ้านจะได้ใช้ชีวิตปกติ ก็ภาวนาขอให้สงบไปตลอดจริงๆ
“ส่วนตัวมองว่ามันทำได้ เพราะทหารก็คุมกำลังของเขาได้ ที่ก่อเหตุกันอยู่บีอาร์เอ็นก็คุมคนของเขา ถ้าสองฝ่ายนี้ตกลงร่วมกันจะหยุดยิง มันก็ทำได้อยู่แล้ว ปัญหาในภาคใต้ก็ 2 กลุ่มนี้แหละที่เป็นตัวหลัก”
นายเตาฮิต เจะมูดอ ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า ข้อตกลงหยุดความรุนแรงสามารถทำได้ถ้าเขาจะทำ ทหารคุมคนของทหาร บีอาร์เอ็นคุมคนของตัวเอง ต่างคนต่างคุมคนของตัวเอง
“สำคัญต้องทั้งสองฝ่ายต้องไว้ใจและจริงใจด้วย เพราะระหว่างทางของการทำเรื่องแบบนี้มันไม่ได้เป็นการปูพรมแน่ เหมือนเราทำดี ย่อมมีอุปสรรคที่จะต้องฝ่าฟันให้มันผ่านไปให้ได้ แต่ถ้าทำเรื่องไม่ดี ทุกอย่างราบรื่นหมด การหยุดยิงก็เหมือนกัน ที่สำคัญก็ต้องมีกลไกในการตรวจสอบ เมื่อมีเหตุก็อย่าให้เกิดประเด็นประเภทที่ว่าทหารเริ่มก่อน บีอาร์เอ็นจึงต้องโต้กลับ หรือบีอาร์เอ็นเริ่มก่อนทหารจึงต้องปิดล้อม กลไกที่ดีต้องไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น” นายเตาฮิต กล่าว