ขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวผมไม่ปักใจเชื่อนักว่าคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโมมีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือมีอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นบนเรือ
แต่ปัญหาที่ทำให้คดีนี้ไม่ได้รับความเเชื่อมั่นเชื่อถือจากประชาชน ถึงขั้นมีกลุ่มคนออกมารวมตัวกันเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคุณแตงโม ส่วนหนึ่งก็เพราะความบกพร่อง และการทำงานแบบไม่เท่าทัน “สื่อบุคคล” รวมทั้ง “สื่อสังคมออนไลน์” ของตำรวจนั่นเอง
ปัญหานี้แยกออกมาจากปรากฏการณ์ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักที่ถูกนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลักตลอดกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับมีกลุ่มหิวแสง และนักล่าแสงออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลกระตุ้นความอยากรู้ หรือ “อยากเผือก” ของผู้คน ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นปัญหาที่สังคมต้องหยิบยกไปสรุปบทเรียนกันต่างหาก
สำหรับบทความนี้จะเขียนถึงเฉพาะปัญหาการทำงานของตำรวจ ซึ่งผมมองว่ายังทำงานแบบเก่า จึงไม่เท่าทันสื่อโซเชียลฯ และสื่อกระแสหลักซึ่งวันนี้ก็ “หลอมรวม” หรือบางสื่อก็ “ทำตัว” เป็นสื่อโซเชียลฯไปแล้ว
การทำงานของตำรวจ (ไม่เฉพาะคดีนี้) ยังทำเหมือน “สื่อเก่า” หรือ “สื่อดั้งเดิม” ทำให้ถูก disrupted จากสื่อใหม่ สื่อบุคคล และสื่อสังคม จนหาที่ยืนแทบไม่ได้
แต่ตำรวจนั้นหนักกว่า เพราะ “สื่อเก่า” หรือ “สื่อกระแสหลัก” ที่ไม่ปรับตัว ก็แค่เจ๊ง หรือหายไปจากสนามข่าว แต่ตำรวจหายไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีทั้งหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
การที่กระแสสังคมฝุ่นตลบ ไม่สงบ และโต้แย้งกันอย่างหนักหน่วง บางคนอินถึงขนาดโทรด่าตำรวจ โทรด่าสื่อ (กระแสหลัก) หรือจัดกิจกรรมทวงคืนความยุติธรรม เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าตำรวจ “สอบตก” เพราะไม่สามารถทำให้สังคมสงบเรียบร้อย และเชื่อมั่นว่าคดีคดีหนึ่งจะถูกปิดลงได้อย่างเป็นธรรมกับคนตาย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นคดี “คนตกน้ำ” ธรรมดาๆ ไม่น่าจะใช่คดีวางแผนฆ่าอย่างแยบยล สลับซับซ้อน หากจะมีผู้กระทำผิด ก็น่าจะกระทำในลักษณะเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันทันด่วนมากกว่า
จุดอ่อนของตำรวจในคดีนี้ก็คือ
1.การละเลย ไม่ได้กักตัว หรือเรียกตัวสอบปากคำคนที่อยู่บนเรือทันทีหลังเกิดเหตุ ปล่อยให้คนบนเรือออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปได้ และยังไปนัดพบหารือ ตกลงนัดแนะกัน ซึ่งเชื่อว่ามีการตกลงเรื่องคำให้การให้สอดคล้องกัน
ความบกพร่องเรื่องนี้อาจมีสาเหตุมาจากช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน และเกิดเหตุกลางแม่น้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมุ่งค้นหาคุณแตงโม เพราะมีหวังว่าอาจยังมีชีวิต (แต่คนบนเรืออีก 5 คนดูเหมือนจะรู้ว่าไม่มีหวัง เพราะพากันกลับทั้งหมด จุดนี้น่าจะเป็นพิรุธที่ตำรวจน่าจะต้องเร่งล็อกตัวมาสอบปากคำ)
2.การไม่ได้กักตัวหรือสอบปากคำคนที่อยู่บนเรือทันที ยังทำให้ตำรวจไม่สามารถตรวจหาสารเสพติด และปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนำซ้ำยังไม่มีการยึดเรือไว้เป็นของกลาง และนำไปเก็บรักษาในที่ที่มีความปลอดภัย ไม่ถูกรบกวนพยานหลักฐานอย่างทันท่วงทีอีกด้วย
เรื่องนี้ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้ผู้กระทำผิดบางคน (ถ้ามี) รอดจากการถูกดำเนินคดีไปเลย และเมื่อไม่มีผลการตรวจหาสารเสพติดหรือปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อการตั้งประเด็นในคดีที่อาจผิดเพี้ยนไป เพราะไม่มีหลักฐานสำคัญ 2 ชิ้นนี้
จุดอ่อนหรือความบกพร่อง 2 เรื่องแรก จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนบทเรียนและนำมาสู่การปฏิรูปเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำอีก
3.การไม่ยอมแถลงหรือให้ข่าวเมื่อมีคำถาม ข้อสงสัย หรือการเปิดหลักฐานใหม่ๆ ขึ้นในสื่อกระแสหลัก หรือสื่อสังคมออนไลน์
เรื่องนี้อาจสวนทางกับวัฒนธรรมการทำงานของตำรวจ และอาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการนำความลับของสำนวนมาเปิดเผย จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง
แนวทางที่เป็นไปได้ คือ ตำรวจต้องทำงานกับสื่อ หรือควบคู่ไปกับสื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เช่น เปิดรับข้อมูลต่างๆ ที่สื่อโซเขียลฯช่วยขุดคุ้ย แล้วตั้งทีมขึ้นมาคัดแยกว่าชิ้นไหนเป็นประโยชน์ ชิ้นไหนไม่เป็นประโยชน์ หรือขัดกับหลักฐานหลักที่ได้มา จึงไม่ควรให้ความสำคัญ
จากนั้นก็แถลงข่าวบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ จะได้ไม่สับสนกับข้อมูลที่ล้นทะลัก ขณะเดียวกันตำรวจก็จะไม่ตกเป็นจำเลย หรือมีสถานะเหมือนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสื่อโซเชียลฯด้วย
ยกตัวอย่างเช่น คลิปที่อ้างว่ามีคนตกเรือใกล้กับท่าเรือเทเวศร์ หากหลักฐานนี้ไม่มีน้ำหนัก เพราะตำรวจมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าคุณแตงโมตกเรืออีกจุดหนึ่งแน่นอน ก็น่าจะสามารถออกมาชี้แจงหรือปฏิเสธหลักฐานนี้ได้ทันที ไม่ใช่ปล่อยให้คนเขื่อ หรือนำไปโยงกับหลักฐานอื่นจนเกิดมโนภาพหรือจินตนาการที่แก้ไขยาก
สุดท้าย สำหรับคดีคุณแตงโม เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้แล้ว ควรจะทำอย่างไรต่อไป...
ผมเห็นด้วยกับการโอนคดีไปให้พนักงานสอบสวนชุดใหม่ โดยระดมทีมงานที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกันทำงาน แต่ไม่จำเป็นต้องโอนคดีไปให้ ดีเอสไอ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะการรับคดีลักษณะนี้เป็น “คดีพิเศษ” อาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
อีกอย่าง กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาทุกจุด และต้องปฏิรูปทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะตำรวจ (ต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจบ้าง) อย่างคดี “บอสรอดทุกข้อหา” เห็นชัดว่าทั้งตำรวจและอัยการต่างมีปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน แถมบรรดากรรมาธิการในสภาก็มีเอี่ยวด้วย
และหากย้อนคดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ก็มีหลายคดีที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ และไม่ควรฝากความหวังไว้มากนัก เพราะดีเอสไอก็ไม่ได้มีผลงานอะไรเด่นชัด โดยเฉพาะในปีหลังๆ แทบคลี่คลายสำคัญๆ อะไรไม่ได้เลย
ผมมองดีเอสไอวันนี้เป็นเพียงหน่วยงานที่รองรับอารมณ์คนไม่พอใจตำรวจ แต่สุดท้ายบทสรุปของคดีก็ไม่หนีตำรวจ บางเรื่องออกทะเลไปไกลกว่าด้วยซ้ำ
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มี.ค. เป็นวันครบรอบ 18 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีนี้ก็เป็นคดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบ แต่หาคนผิดไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์อุ้มทนายสมชาย เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ (เกือบจะตรงข้ามกับ สน.หัวหมาก) ในเวลากลางวันแสกๆ
หรืออย่างคดี คุณธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ผู้กุมความลับเกี่ยวกับการโอนที่ของคหบดีและนักการเมืองมากมาย คุณธวัชชัยเสียชีวิตปริศนาคาห้องขังของดีเอสไอเอง เมื่อปี 59 แต่ก็ไม่สามารถสรุปคดีให้สังคมและญาติคลายความข้องใจได้ ผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ขัดกับสภาพกายภาพของศพที่พบอย่างสิ้นเชิง แม้แต่กล้องวงจรปิดบนอาคารดีเอสไอชั้นที่เกิดเหตุ ยังตรวจสอบไม่ได้ อ้างว่ากล้องเสีย แล้วจะฝากความหวังไว้ได้อย่างไร
ทื่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีแนวคิดยุบดีเอสไอ เพราะทำงานไม่ต่างอะไรกับ “กรมตำรวจ สาขา 2” เพียงแต่เงินเดือนสูงกว่า หนำซ้ำกระบวนการทำงานก็ถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจได้ไม่แพ้ตำรวจ อดีตอธิบดีดีเอสไอบางคนป่านนี้ยังเดินขึ้น-ลงศาล เพราะถูกฟ้องมากมายหลายคดี บางคดีก็ติดคุกเพราะรับใช้ฝ่ายการเมือง
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจไทยนั้นเก่ง คลี่คลายคดีสำคัญหลายๆ คดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่บางคดีก็บิดเบี้ยวเพราะถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ทั้งฝ่ายการเมืองและผู้บังคับบัญชา แต่หากสังคมช่วยกันตรวจสอบ หรือโอนคดีไปให้หน่วยตำรวจด้วยกันที่มีความสามารถ และเช่ือถือได้ ก็น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีกว่า
เช่น คดีฆ่าผู้ว่าฯยโสธร เมื่อปี 44 ในโรงแรมกลางกรุงเทพฯ ที่มีการจับ “ผู้พันตึ๋ง” จนสะเทือนเลื่อนลั่นวงการนักเลงและนักฆ่า คดีนี้ทีแรกก็ทำท่าจะเอาผิด “ตัวการใหญ่” ไม่ได้ และแนวทางการสอบสวนใกล้จะถึงทางตัน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อมีการโอนคดีจากนครบาลไปให้กองปราบ ทำให้สุดท้ายเอาผิดได้ยกก๊วน
ฉากที่ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง (รองผบ.ตร.ในปัจจุบัน) นำกำลังตำรวจคอมมานโด บุกจับ “ผู้พันตึ๋ง” ขณะกำลังสวมเครื่องแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมตัว จนเกิดการปะทะคารมกันอย่างดุเดือด หวาดเสียว เป็นภาพที่ใครหลายคนที่ผ่านยุคนั้นมายังจำกันได้ดี
หรือคดี “อดีตผู้กำกับโจ้” เมื่อปีที่แล้วที่เป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการตั้งแต่ชั้นสอบสวน ซึ่งควรนำมาเป็นแนวทางการปฏิรูปการทำงานของกระบวนการยุติธรรมลำดับต้นโดยด่วน
ผมคิดว่าเราไม่ควรติเรือทั้งโกลน และควรให้ตำรวจได้ปรับวิธีการทำงาน เพราะ ผบ.ตร.ท่านนี้ก็เชื่อถือได้ในฝีมือและความตรงไปตรงมา ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็ควรต้องเดินหน้าปฏิรูปกันอย่างจริงจัง
เพื่อไม่ให้แตงโมตายฟรี ตามแฮชแท็กที่ติดกันแพร่หลายในสื่อสังคม...