“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะประชุมกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ขยายเวลา พ.ร.ก.ชายแดนใต้อีก 3 เดือน นับเป็นรอบที่ 67 ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้เมื่อ ก.ค.48 หรือ 17 ปีก่อน ประเมินภาพรวมดีขึ้น เหตุรุนแรงลด ทั้งๆ ที่มีระเบิดรับทันควัน รองนายกฯสั่งทัพ 4 กอ.รมน. เข้มงวดการข่าวและเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน
วันพฤหัสบดีที่ 10 มี.ค.65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่1/2565 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการปฎิบัติงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ห้วงระหว่างวันที่ 20 ธ.ค.64 ถึง 10 ก.พ.65 ซึ่งภาพรวมสถานการณ์การก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยดี รวมถึงรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปรับลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีแนวโน้มและโอกาสปรับลดพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในการขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ยกเว้น อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ไม้แก่น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา ทั้งนี้ตั้งแต่ 20 มี.ค.ถึง 19 มิ.ย.65
โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 67 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ในการนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้เข้มงวดงานด้านการข่าวและเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน รวมถึงเร่งพิจารณาการปรับลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น มีทั้งหมด 33 อำเภอ ยกเลิกไปแล้ว 9 อำเภอ จึงเหลือใช้อยู่ 24 อำเภอ
การขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หนนี้ นับเป็นครั้งที่ 67 ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้บังคับในท้องที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.ปี 2548 นับรวมถึงปัจจุบันเกือบ 17 ปีเต็ม
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันเดียวกันนี้ มีเหตุระเบิดหน้าโรงเรียนใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ประชาชนและทหารพรานได้รับบาดเจ็บถึง 8 ราย ทั้งๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงประเมินสถานการณ์ว่า มีแนวโน้มดีขึ้น