“การเปิดใจยอมรับในความต่างของกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างทางความเชื่อ การนับถือศาสนา ความอดทนและการเปิดใจ คือสะพานที่จะนำไปสู้ของการพูดคุย และการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์”
นี่คือส่วนหนึ่งของคำปาฐกาในหัวข้อ “ความเอื้ออาทรระหว่างศาสนากับการสร้างสัมพันธภาพ” โดย ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา (Dr. Muhammad bin Abdulkarim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ที่หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เดินทางไปที่สำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะจุฬาราชมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นายอรุณ บุญชม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นายสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี ให้การต้อนรับ
เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ได้พบปะพี่น้องมุสลิม และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเอื้ออาทรระหว่างศาสนากับการสร้างสัมพันธภาพ” โดยระบุตอนหนึ่งว่า สะพานของการสร้างความสมานฉันท์ สะพานของการสร้าง สัมพันธภาพ คือการยอมรับความเห็นที่แตกต่าง
การเดินทางเยือนประเทศไทย ได้เห็นภาพบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของพี่น้องมุสลิมที่น่าชื่นชมในความเป็นพหุวัฒนธรรม เชื่อว่าการเปิดใจยอมรับในความต่างของกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างทางความเชื่อ การนับถือศาสนา ความอดทนและการเปิดใจ คือสะพานที่จะนำไปสู่การพูดคุย และการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้น
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นแบบอย่างที่ดี ชัดเจนมากๆ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า อีหม่ามที่ประเสริฐที่สุด ที่ดีที่สุด คือการที่เราได้มีความอดทน มีใจที่เอื้ออาทร เปิดใจ และยอมรับในสิ่งที่แตกต่าง เสรีภาพในการนับถือศาสนาคือการไม่บังคับในการนับถือศาสนา ไม่ว่าศาสนาไหนก็ต้องยอมรับในความแตกต่างของศาสนานั้น
ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้โปรดประทานความสงบ ร่มเย็น และความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศไทย และเกิดสันติสุขโดยทั่วกัน
@@ สร้างสะพาน ไม่สร้างกำแพง
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้การต้อนรับ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เพราะได้รอคอยมานาน และคิดว่าสมกับการรอคอย ถือเป็นความโชคดีที่มีบุคคลระดับนี้มาเยี่ยม และเป็น “อาคันตุกะ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก
“เราได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของท่านที่ได้ปาฐกถาในหัวข้อที่น่าจะได้ไปเป็นบทเรียนที่ดีได้ คือ ความเอื้ออาทรระหว่างศาสนากับการสร้างสัมพันธภาพ ท่านพยายามนำเสนอความมุ่งหมายที่จนไปสู่สันติสุข นั่นก็คือ ‘การเปิดใจ’ เพราะการไม่เปิดใจก็ทำอะไรไม่ได้ ‘การยอมรับความต่าง’ ถ้าหากเรายังไม่ยอมรับ ยังไม่เปิดใจ การสร้างสะพานก็ไม่เกิดขึ้น เราก็จะสร้างกำแพงอย่างเดียว การปาฐกถาของ ดร.มุฮัมมัด ในวันนี้ เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างมหาศาล”
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชอบ คือที่ท่านได้กล่าวไว้ถึงการฟัตวา หรือการออกวินิจฉัยในเรื่องของข้อกำหนดในเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ท่านบอกว่าจะต้องคำนึงถึงบริบท ต้องคำนึงถึงสถานที่ และเวลาด้วย ฟัตวาหนึ่งไม่สามารถใช้กับมุสลิมทั่วโลกได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นข้อกำหนดทางศาสนบัญญัติที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคม และการอยู่ร่วมกัน
“ท่านชื่นชมพี่น้องมุสลิมไทยในการเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างที่ดีในการสร้างความสมานฉันท์ สร้างความสงบ ร่มเย็น เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับกระแสความสุดโต่ง กระแสความเกลียดกลัว กระแสความเกลียดชังอิสลาม เราต้องนำความอดทน การเปิดใจที่ท่านได้กล่าววันนี้ มาเป็นเกราะป้องกันกระแสต่างๆ” ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี กล่าว