สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่อนหนังสือแจงกำลังพลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอยู่ในตำแหน่งเดิม เหตุมียื่นคำร้องขอย้ายออกนอกพื้นที่จำนวนมาก แต่กำลังพลขาดแคลน ขอแรงอยู่ต่อ แต่เข้าใจในความเสียสละ ทำงานในพื้นที่เสี่ยง พิจารณาปล่อยตัวบางส่วนออกนอกหน่วยแบบไร้เงื่อนไข แต่ต้องประจำปลายด้ามขวานตั้งแต่ก่อนปี 57
กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุมัติการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิม จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2565 (สิ้นปีงบประมาณ) จนมีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของกำลังพล และไม่ให้ความสำคัญกับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกหนังสือชี้แจงว่า จากสถานภาพกำลังพลระดับรองสารวัตร (รอง สว.) และผู้บังคับหมู่ (ผบ.หมู่) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่า มีอัตราการครองตำแหน่งตามอัตราอนุญาตอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะระดับ รอง สว. ซึ่งมีคนครองตำแหน่งเพียงร้อยละ 50 เศษ ในขณะที่ต้องปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ในสายงานปกติที่มีความหนักหน่วงอยู่แล้ว และต้องปฏิบัติภารกิจตามสายงาน กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย
อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่มีความเสี่ยงสูง อาจเกิดการสูญเสียจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ส่งผลให้กำลังพลเกิดความเครียด มีความเหนื่อยล้า
ในแต่ละปีจึงมีคำร้องขอรับการแต่งตั้งออกนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยในวาระปี 2564 นี้ มีผู้ยื่นคําร้องขอรับการแต่งตั้งออกนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับ รอง สว. จํานวน 166 ราย และ ผบ.หมู่ จํานวน 892 ราย ซึ่งหากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พิจารณาปล่อยตัวทุกราย จะส่งผลให้หน่วยขาดแคลนกําลังพลมากยิ่งขึ้น จึงมีความจําเป็นต้องสงวนกําลังพลส่วนนี้ไว้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีกําลังพลเข้ามาเพิ่มเติมและทดแทนให้เพียงพอต่อภารกิจ
แต่ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย เป็นขวัญกําลังใจ และเพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้าของกําลังพลที่ทํางานตรากตรําอยู่ในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จึงพิจารณาปล่อยตัวข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2557 ย้อนลงไปให้ได้รับการแต่งตั้งตามที่ร้องขอ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือขอกําลังพลทดแทนแต่อย่างใด
โดยระดับ รอง สว. ปล่อยตัวจํานวน 47 ราย ได้รับการแต่งตั้งตามที่ร้องขอจํานวน 31 ราย และ ผบ.หมู่ ปล่อยตัว 288 ราย ได้รับการแต่งตั้งตามที่ร้องขอ จํานวน 209 ราย แต่เนื่องจากนักเรียนนายสิบตำรวจที่กําลังฝึกอบรม ซึ่งจะลงมาเพิ่มเติมและทดแทนกําลังพลดังกล่าว จะจบการศึกษาใน 30 ก.ย.2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงอนุมัติให้กําลังพลที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกราย ทั้งระดับ รอง สว. และ ผบ.หมู่ อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิมต่อไปจนถึง 30 ก.ย.2565 โดยเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติเช่นเดิมทุกปี เพื่อให้หน่วยสามารถขับเคลื่อนงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพได้ต่อไป
อีกทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของกําลังพลที่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปไหนให้เบาบางลงได้ โดยข้าราชการตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิมทุกราย ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้โดยครบถ้วน
สําหรับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวบางรายที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งตามที่ร้องขอ ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าตําแหน่งในหน่วยงานที่ร้องขอไม่มีตําแหน่งว่าง และคงจะได้รับการแต่งตั้งตามที่ร้องขอในโอกาสต่อไป
สรุปสถานภาพและข้อมูลการแต่งตั้ง ระดับ รอง สว. และ ผบ.หมู่ วาระประจําปี 2564 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
1. ระดับ รอง สว.
1.1 อัตราอนุญาต 1,620 อัตรา มีคนครอง 892 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 55.06 ของอัตราอนุญาต
1.2 ข้อมูลการแต่งตั้ง วาระประจําปี 2564
1.2.1 หมุนเวียนใน 3 จชต. 70 ราย
1.2.2 ออกนอก 3 จชต. 31 ราย (ภ.9 ตอนบน 12 ราย, นอก ภ.9 19 ราย)
1.2.3 เข้า 3 จชต. 19 ราย (จาก ภ.9 ตอนบน 11 ราย, จากนอก ภ.9 8 ราย)
1.2.4 หลังการแต่งตั้งมีคนครอง 880 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 54.32 ของอัตราอนุญาต
*หลังการแต่งตั้งมีกำลังพลลดลง 12 อัตรา
2. ผบ.หมู่
2.1 อัตราอนุญาต 11,844 อัตรา มีคนครอง 10,040 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 84.77 ของอัตราอนุญาต
2.2 ข้อมูลการแต่งตั้ง วาระประจําปี 2564
2.2.1 หมุนเวียนใน 3 จชต. 379 ราย
2.2.2 ออกนอก 3 จชต. 209 ราย (ภ.9 ตอนบน 124 ราย, นอก ภ.9 85 ราย)
2.2.3 เข้า 3 จชต. 42 ราย (จาก ภ.9 ตอนบน 19 ราย, จากนอก ภ.9 23 ราย)
2.2.4 หลังการแต่งตั้งมีคนครอง 9,873 อัตรา (คิดเป็นร้อยละ 83.35 ของอัตราอนุญาต)
* หลังการแต่งตั้งมีกําลังพลลดลง 167 ราย