ไม่ผิดคาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หอบความสำเร็จกลับมาจากตะวันออกกลาง ในภารกิจเยือนซาอุดิอาระเบีย
เนื้อหาความสำเร็จดูจะมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์
หากถอดสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี จะพบการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือแบบ “ก้าวกระโดด”
- ให้มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกัน
- จัดตั้งกลไกการหารือทิศทาง ตลอดทั้งความร่วมมือต่างๆ ซึ่งกันและกัน
- ความร่วมมือมุ่งเน้นไปที่การค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว
- แสวงหาความร่วมมือในมิติใหม่ๆ ที่ต่างคนต่างมีศักยภาพ อาทิ เรื่องพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล
- สนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบเวทีต่างๆ ทั้งอาเซียน โอไอซี รวมถึงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้
- เพิ่มความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน โดยเฉพาะไทยในฐานะ “ศูนย์กลางทางการแพทย์” หรือ Medical Hub
- แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 5 พันล้านบาท
- เปิดตลาดแรงงานให้ไทยอีกครั้ง โดยซาอุฯจะมีการก่อสร้างห้องพักกว่า 1 ล้านห้อง ต้องการแรงงานจำนวนมาก
- ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เกื้อหนุนกัน โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ซาอุดิอาระเบีย 2030 ขณะที่ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ
ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นกรอบความร่วมมือที่ได้รับมากกว่าที่มีการคาดการณ์ ในวาระคืนความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ ในรอบ 32 ปี ก็คือ
- คนซาอุฯมาเที่ยวไทย โดยไม่ต้องใช้วีซ่า
- เปิดวีซ่าทำงานให้คนไทยสามารถไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียได้ (เพิ่มโควตาแรงงาน)
- เพิ่มช่องทางการค้า ทั้งนำเข้าและส่งออก
- แต่งตั้งทูต ระดับ “เอกอัครราชทูต” ซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย
@@ ย้อนอดีตสัมพันธ์ร้าว 3 ทศวรรษ
ภารกิจเยือนซาอุฯ เป็นเรื่องใหญ่มากของรัฐบาล และของประเทศ เพราะหากฟื้นสัมพันธ์กลับมาได้ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้เลย เนื่องจากตลาดแรงงานเปิดกว้างในตะวันออกกลาง
เพราะการมีปัญหากับซาอุฯ ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลแค่ประเทศเดียวเดี่ยวๆ แต่ซาอุฯ คือ “พี่ใหญ่” หรือ “ขาใหญ่” ในตะวันออกกลาง และยังเป็นขาใหญ่ใน “โอไอซี” หรือ องค์การความร่วมมืออิสลาม องค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากยูเอ็นด้วย
สาเหตุที่กำหนดการเยือนซาอุดิอาระเบียของนายกฯและคณะ ในช่วงแรกๆ เป็นความลับ เพิ่งจะมาเปิดตอนหลัง แต่ก็เปิดไม่ละเอียด เหตุผลเพราะเกรงจะกระทบความมั่นคง และความสัมพันธ์ที่เปราะบาง เนื่องจากไทยกับซาอุฯ มีปัญหากันมานานหลายสิบปี ถึงขั้นที่ซาอุฯลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต เหลือแค่อุปทูต แถมยังมีการเรียกอุปทูตกลับประเทศในบางช่วงเวลา เพื่อเป็นการประท้วงไทยด้วย
ทั้งๆ ที่ในอดีต ไทยกับซาอุฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาก และซาอุฯเป็นตลาดแรงงานใหญ่ของไทย ถึงขนาดมีการแต่งเพลงที่โยงถึงการเดินทางไปทำงานซาอุฯ ซึ่งเป็นแฟชั่นของคนวัยทำงานในบ้านเรายุคหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ทุกอย่างพังทลายลงเพราะคดีสำคัญ 2 คดี
1.คดีเพชรและเครื่องประดับมูลค่ามหาศาลที่ถูกโจรกรรมจากพระราชวังของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี 2532 ซึ่งแม้ต่อมาจะมีการจับกุม นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยที่ก่อเหตุโจรกรรมมาดำเนินคดีได้ แต่เพชรของกลางบางส่วนได้สูญหายไป และถูกโยงว่าอาจมีการยักยอกของกลางระหว่างกระบวนการทางคดีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย
2.ในปี 2533 ยังมีคดีอุ้มหาย นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นพระญาติสนิทของกษัตริย์ไฟซาล แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดย นายอัลรูไวลี่ ถูกตำรวจเชิญตัวไปสอบปากคำ หลังเกิดคดีสังหารนักการทูตซาอุฯในประเทศไทย แต่หลังจากถูกตำรวจเชิญตัวไปสอบสวนแล้ว เขาก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
หลังเกิดเหตุมีการดำเนินคดีกับตำรวจ 5 นาย นำโดย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ยศและตำแหน่งในภายหลัง) แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ (อัยการสั่งไม่ฟ้อง) กระทั่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ก่อนคดีจะขาดอายุความ 20 ปี โดยมีการตั้งเรื่องฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด และพวก อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษาเด็ดขาดยกฟ้อง คดีจบบริบูรณ์ไปเมื่อปี 2562 นี่เอง
การหายตัวไปของนายอัลรูไวลี่ จึงเป็นความลับดำมืดมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคดีเพชรซาอุฯที่ยังตามหาเพชรที่สูญหายไปไม่ครบ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์ของไทย และยกเลิกโควตาแรงงานเกือบทั้งหมด
@@ ใคร? เบื้องหลังการถ่ายทำ
การเยือนซาอุฯ แบบเต็มคณะครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการฟื้นความสัมพันธ์และเป็นการเยือนระดับผู้นำครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า “เป็นการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีม่านควันกางกั้นมานับเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ไม่ใช่เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ธรรมดา เพราะหลายปีหลายรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ การเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการกระชับความสัมพันธ์ แต่จะมีการรื้อฟื้นการส่งเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศไปประจำในแต่ละประเทศ”
เบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้ มีการพูดคุยตั้งข้อสังเกตกันไปว่า อะไรคือจุดพลิกความสัมพันธ์ ไทยมีอะไรไปแลกกับซาอุฯ หรือทำให้ซาอุฯพึงพอใจมากขึ้นในความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 คดีคาใจหรือไม่
ดอน ปรมัถต์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ไขคำตอบเอาไว้แบบนี้
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทำงานที่ใช้เวลาต่อเนื่องมา 6 ปี นับตั้งแต่ที่ได้มีการหารือ 3 ฝ่ายในระหว่างประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ต.ค.2559 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในขณะนั้น และ นายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น”
“นายกรัฐมนตรีเอาใจใส่และติดตามมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พยายามวางพื้นฐานจนได้ผลลัพธ์อย่างที่เห็น ถ้านายกฯไม่ใส่ใจก็ไม่มาถึงวันนี้ ที่มีการเชิญไปเยือนเพื่อปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องง่าย จากที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ชะงักงันไป 30 กว่าปี วันนี้จึงถือว่าเป็นนิมิตใหม่ จึงถือว่านายกรัฐมนตรี เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้”
“เราจะก้าวข้ามอดีตไป เพราะได้รับการดูแลและจัดการไปจนถึงขั้นที่พอใจซึ่งกันและกันกัน ต่อไปมันต้องข้ามจุดนี้ ไปพูดถึงเรื่องอนาคต ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือน ได้มีการพูดคุยว่าเราจะเดินหน้าความสัมพันธ์ไปในทิศทางไหน และทำอะไรร่วมกันต่อไป”
ฟังจาก “บิ๊กดอน” ย้ำว่าเป็นฝีมือ “บิ๊กตู่” ล้วนๆ รวมถึงการประชุม ACD ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และริเริ่มกรอบการประชุมนี้ด้วย แต่เบื้องหลังยังมีมากกว่านั้น
@@ “บาห์เรน” จิ๊กซอว์สำคัญ ปลดล็อกไฟใต้-ซาอุฯ
มีคำถามต่อมาว่า ทำไม “บาห์เรน” ถึงมีบทบาทสูงในเรื่องนี้...
ถ้ายังจำกันได้ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2549-2550 มีการจัดกระบวนการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ กับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยใช้บาห์เรนเป็นสถานที่พบปะมาแล้ว และมีข่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เดินทางไปด้วยตนเอง
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงไทย ระบุว่า บาห์เรนเป็นพันธมิตรและช่วยเหลือไทยในตะวันออกกลางมาตลอด โดยเฉพาะในการประชุม OIC โดยมีความสัมพันธ์อันดีในระดับราชวงศ์ด้วย
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลการเชื่อมสัมพันธ์ของชาติที่เป็น “ราชอาณาจักร” และเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแบบไทยที่มีคุณลักษณะพิเศษ และสมควรบันทึกเอาไว้
@@ รับมือมหาอำนาจ - บริบทโลกใหม่
ท่ามกลางข่าวดีเรื่องฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ก็มีความเคลื่อนไหวคู่ขนานของฟากฝั่งตรงข้ามรัฐบาลที่ทยอยส่งข้อมูลออกมาด้อยค่าความสำเร็จเรื่องนี้
นักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งเกาะติดประเด็นไทย-ซาอุฯมานาน ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เป็นความพยายามฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และเป็นความร่วมมือระหว่างกันเพื่อรับมือกับบริบทโลกใหม่ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่เป็นราชอาณาจักร มักจะมีความเข้าอกเข้าใจกันเป็นพิเศษ และสามารถร่วมมือกันได้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไทย บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย หรือแม้แต่บรูไน
“มกุฎราชกุมารของซาอุฯ พระองค์เป็นคนรุ่นใหม่ ทรงมองการณ์ไกล ทรงคิดว่าในระยะยาว ซาอุฯพึ่งรายได้จากน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในไปกี่ปีข้างหน้า น้ำมันจะถูกใช้น้อยลง ซาอุฯจึงต้องนำเงินที่มีอยู่มหาศาลในขณะนี้ ลงทุนในสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนในอนาคต เช่น ธุรกิจอาหาร สาธารณสุข”
อีกด้านหนึ่ง การสร้างเครือข่ายพันธมิตรของซาอุฯ ในฐานะพี่ใหญ่ในโลกอาหรับ ก็เพื่อคานดุลกับมหาอำนาจโลกที่กำลังเผชิญหน้ากัน ทั้งสหรัฐ จีน และรัสเซีย รวมทั้งการถูกกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศ และโลกตะวันตก หลังเกิดคดีสังหาร นายจามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย คอลัมนิสต์ของ วอชิงตันโพสต์ ซึ่งถูกฆ่าในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561