ภรรยา "อับดุลเลาะ อีซอมูซอ" ผิดหวังดีเอสไอ กรณีร่อนหนังสือยุติสอบสวนการตายปริศนาหลังสามีถูกจับเข้าค่ายทหาร ขณะที่ศาลจังหวัดสงขลารอไต่สวนพยานเพิ่มอีก 4 ปากในสำนวนไต่สวนการตาย ด้าน กอ.รมน.ให้หน่วยในพื้นที่ทำความเข้าใจญาติ
นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 และส่งตัวไปเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังจากนั้นเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. (หลังถูกควบคุมตัวไม่ถึง 24 ชั่วโมง) เจ้าหน้าที่ได้พบร่างนายอับดุลเลาะนอนหมดสติอยู่ในหน่วยซักถาม (หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร) จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล
นายอับดุลเลาะ เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อที่อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี และวันที่ 22 ก.ค. ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.62
การหมดสติอย่างกะทันหันและการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ทำให้ครอบครัว ญาติพี่น้องยอมรับไม่ได้ และสงสัยว่าอาจมีปมปริศนาเบื้องหลังการตาย ทั้งยังเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ แม้จะมีผลการสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการหลายชุด รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่านายอับดุลเลาะน่าจะเสียชีวิตจากอาการป่วยที่ตนเองไม่ทราบมาก่อน และไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย โดยอ้างอิงการชันสูตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
ครอบครัวจึงพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหลายหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
แต่ภายหลังองค์กรเหล่านั้นได้ทยอยยุติการตรวจสอบ เข่น กสม. มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลงวันที่ 24 มี.ค.64 เจ้าหน้าที่ของ กสม.ลงพื้นที่ศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัย อย่างน้อย 3 ครั้ง และที่ประชุม กสม.ชุดใหญ่มีความเห็นให้ยุติการสอบสวนลง ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลว่า "ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุชัดเจนถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย และไม่มีพยานหลักฐานระบุได้แน่ชัดว่า มีผู้ใดทำให้ผู้ตายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ประกอบกับในระหว่างการสอบสวนพบว่า พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาขอให้ไต่สวนการตายของผู้ตาย...กรณีตามประเด็นการร้องเรียน จึงเป็นประเด็นเดียวกันกับที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล"
ต่อมาเมื่อวันที่15 ม.ค.65 ได้มีหนังสือแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึง นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เพื่อแจ้งผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่1/2564 มีเนื้อหาว่า ดีเอสไอขอยุติการสืบสวนคดีการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยเป็นไปตามคำสั่งของ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการคดีความมั่นคง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และได้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยัง สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว
เอกสารชี้แจงที่ส่งถึงภรรยานายอับดุลเลาะ ระบุตอนหนึ่งว่า "ในการนี้ กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รายงานผลการดำเนินข้างต้นต่อคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่13 ธ.ค.64 คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับทราบผลการดำเนินการในกรณีดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ท่านมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อกรมสืบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอในคำร้องครั้งก่อน"
นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยานายอับดุลเลาะ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับหน่วยงานของรัฐที่เคยตั้งความหวังว่าจะได้รับคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัว แต่เราจะไม่ยุติจนกว่าครอบครัวจะได้รับคืนความเป็นธรรม ส่วนจะยื่นเรื่องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหรือไม่ คงต้องรอการพิจารณาจากฝ่ายทนายก่อน เพราะภายในเดือน ก.พ.นี้ ศาลจังหวัดสงขลามีนัดสืบพยานฝ่ายผู้เสียหายอีก 4 ปาก กรณีการไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ
"การที่ญาติได้ยืนหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ ก็เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้กระผิดตามกฎหมาย เพราะญาติไม่สามารถนำหลักฐานมาดำเนินการเอาผิดตามที่เป็นอยู่ได้ แต่ดีเอสไอกลับให้ญาติหาหลักฐานใหม่ไปให้ แล้วญาติจะไปหาที่ไหน" ซูไมยะห์ กล่าว
ด้าน พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ทราบเรื่องจากการเผยแพร่ข่าวเบื้องต้นแล้ว และได้แจ้งหน่วยในพื้นที่เพื่อเข้าไปสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและญาติๆ เพราะทั้งหมดคือกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการตามปกติ แม้ที่ผ่านมาทางหน่วยรับผิดชอบได้เข้าไปสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องทำต่อไป เพราะเราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า สำนวนและพยานบุคคลของดีเอสไอ ทั้งอัยการและญาติผู้ตายไม่ได้นำหรืออ้างเข้ามาในสำนวนไต่สวนการตายตั้งแต่แรก ทั้งปัจจุบันฝ่ายอัยการสืบพยานหมดแล้ว เหลือแต่ฝ่ายญาติผู้ตาย ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการยุติการสอบสวนของดีเอสไอไม่น่ามีผลอะไรกับคำสั่งศาล สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่เคสแรกที่ดีเอสไอมีหนังสือยุติการสอบสวน
"ทีมข่าวอิศรา" รายงานเพิ่มเติมว่า อีกคดีหนึ่งที่เป็นคดีดัง และดีเอสไอมีหนังสือส่งถึงญาติเพื่อยุติการสอบสวน คือ คดีอุ้มฆ่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2547 กระทั่งปัจจุบันยังหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้ แม้จะมีความพยายามดำเนินคดีกับนายตำรวจกลุ่มหนึ่ง แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง