หลังปิดจ๊อบพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ รอบ 3 ระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการนัดพบและพุดคุยแบบเจอหน้าเจอตาครั้งแรกหลังจากทิ้งช่วงห่างมา 2 ปีเพราะโควิด
ปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ พรึ่บพรั่บ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งพูโล และบีอาร์เอ็น
ฝ่ายพูโล นายกัสตูรี่ มะห์โกตา ประธานองค์การพูโล ได้โพสต์ข้อความเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อวงพูดคุยฯ (อ่านประกอบ...วงพูดคุยฯถก 3 ประเด็น พ่วงปมมีส่วนร่วมการเมือง - พูโลขอติดขบวน) โดยการพูดคุยรอบนี้ นายกัสตูรี่ ไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะ จึงเสนอให้ดึงภาคส่วนอื่นๆ และกลุ่มขบวนการต่อสู้อื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะด้วย
@@ เพจอ้าง BRN ตั้งคำถาม 3 ประเด็นพูดคุย
ที่น่าสนใจก็คือ เพจ BRN Barisan Revolusi National โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นที่มีการพูดคุย 3 ประเด็น พร้อมตั้งคำถาม
1. การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ - อะไรคือเงื่อนไขของความรุนแรง
1.1.อาวุธ การเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวพุทธสามารถซื้ออาวุธปืนได้โดยเสรี และทำใบอนุญาตได้อย่างง่ายดาย โดยอ้างการป้องกันตัวเอง ทั้งที่ความเป็นจริงมีการใช้อาวุธข่มขู่คุกคามประชาชนชาวมลายูมุสลิมมาโดยตลอด ไม่นับรวมอาวุธของทางเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยความมั่นคงทุกหน่วย
1.2.กำลังทหารและหน่วยกำลังความมั่นคงที่มีปริมาณมากเกินจำเป็นและประสิทธิภาพต่ำ ขีดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ไฝ่ต่ำที่ด้อย และความรู้ความเข้าใจในลักษณะวัฒนธรรมของชาวมลายูและศาสนาอิสลามที่น้อย ทำให้เกิดเหตุการณ์การดูหมิ่นไปจนถึงการข่มขู่คุกคามประชาชนบ่อยครั้ง
1.3.การอวดอ้างข้อกฎหมายในการธำรงซึ่งปฏิบัติการที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนของรัฐไทย และการก่อตั้งกองกำลังใต้ดินในการขจัดประชาชนที่คิดว่าเป็นภัยต่อตนเอง
2.การมีส่วนร่วมทางการเมือง - อะไรคือการนิยามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของรัฐไทย เมื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่รัฐพยายามกีดกันผู้เห็นต่างทางการเมือง สร้างพยานหลักฐานในการจัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ อ.เทพา จากพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ฯลฯ
3.กลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่ - กลไกอะไรในการรับฟังเสียงประชาชน การจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่สนับสนุนแนวทางและน้อมรับการบังคับบัญชาโดยรัฐ (สล.3) และพยายามข่มขู่คุกคามคณะทำงานภาคประชาชนเพื่อกีดกันและป้องปรามเพื่อไม่ให้เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าว ความจริงใจในลักษณะดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่
@@ เพจ BRN เล่นบทกดดันนอกโต๊ะพูดคุย?
เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะพูดคุยฯชุดนี้ มีตัวแทนฝั่งบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และมีแกนนำบีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วย รวมทั้งหมด 7 คน หลังการพูดคุยมีการออกแถลงการณ์เป็นเอกสาร ก็ไม่ได้ระบุว่ามีปัญหาใดๆ แต่กลับมีการตั้งคำถามหลายประเด็นในเชิงโจมตีรัฐบาลไทย
สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ BRN นี้ ไม่ชัดเจนว่าเป็นเพจของขบวนการจริงหรือไม่ ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็ตั้งคำถาม บ้างก็เชื่อว่าเป็นเพจไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร) ของฝ่ายรัฐเอง บางก็เชื่อว่าเป็นเพจของขบวนการจริงๆ แต่เหมือนแบ่งบทกันเล่น เพื่อสร้างแรงกดดันนอกโต๊ะพูดคุยฯ
@@ บิ๊ก ศอ.บต.เตือนระวัง “กับดักขวางพัฒนา”
ในประเด็นที่ 2 ที่เพจ BRN Barisan Revolusi National โพสต์เอาไว้ มีการกล่าวพาดพิงถึงโครงการพัฒนาของรัฐบาล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในส่วนของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ช่วงที่มีการชุมนุมของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” โฆษกบีอาร์เอ็นเคยออกคลิปใน YouTube แสดงท่าทีคัดค้านโครงการ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการมาแล้ว
โครงการเมกะโปรเจคทั้ง 2 โครงการนี้ ตั้งอยู่ใน อ.จะนะ และ อ.เทพา สองอำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ท่าทีลักษณะนี้ทำให้ฝ่ายบริหารผู้มีอำนาจใน ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาแสดงความกังวล
“เรากำลังเข้ากับดักของเขา นั่นหมายถึงเขาไม่ให้ความเจริญเข้าถึงพื้นที่ ก็เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ก่อการได้เขียนเอาไว้ เพราะเมื่อเกิดการพัฒนาพื้นที่ จะทำให้คนมีอิสระทางความคิด มีการศึกษา และมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น ซึ่งก็จะยากต่อการควบคุมจัดการของฝ่ายตรงข้ามทันที โดยหลักการพัฒนาของประเทศต่างๆ ก็เป็นเช่นนี้”
ฝ่ายบริหารผู้มีอำนาจใน ศอ.บต. ย้ำด้วยว่า อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ รับรองว่าเป็น BCG (BCG Economy หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาจากคำว่า Bio-Circular-Green Economy คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) และยังเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่นเครื่องของการผลิตชิปผลิตรถยนต์ EV Car (รถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งเป็นความต้องการตลาดปัจจุบัน ไม่มีมลพิษ ที่สำคัญไม่มีปิโตรเคมีแน่นอน
“ฝ่ายคัดค้านชอบยกประเด็นนี้มันเล่นกันเสมอ ต้องทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะเชื่อมโยงผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด เด็กในปัจจุบันก็จะมีทางเดินในอาชีพ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศหรือนอกพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา”
@@ คณะพูดคุยฯสรุปผลหารือ ชวนลดความรุนแรง
อีกด้านหนึ่ง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ฝ่ายรัฐบาลไทย) ได้เผยแพร่เอกสารผลการพูดคุยฯ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการที่จะยึดถือในการพูดคุยสารัตถะในระยะต่อไป จำนวน 3 เรื่อง คือ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง
โดยทั้งสองฝ่ายได้เสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยเป็นการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย การมีบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หยิบยกเรื่องการสร้างบรรยากาศที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุยและการใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการให้ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรง อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทั้งสองฝ่าย
@@ เอกสารบีอาร์เอ็น ชี้ชัด นี่คือการเจรจาสันติภาพ
ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ออกแถลงการณ์สรุปผลการพูดคุยอย่างเป็นทางการเช่นกัน โดยในเอกสารบีอาร์เอ็น เรียกการพูดคุยครั้งนี้ว่า “การเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งที่สาม ระหว่างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) กับรัฐบาลไทย (RTG, Royal Thai Government)”
ส่วนหัวข้อของการพูดคุย ระบุคล้ายๆ กับเอกสารของทางการไทย โดยมีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ทั้งสองฝ่ายจะให้มี “ข้อตกลง” เกี่ยวกับหลักการทั่วไปในการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย รวมถึงการจัดทำข้อกำหนดร่วมกันในการนำมาใช้ปฏิบัติในอนาคต