ปิดฉากไปแล้วสำหรับ “วงพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ” ที่พบปะแบบเจอหน้ากันครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยสาระสำคัญมีการหารือประเด็นกรอบการทำงานร่วมกันเพื่อลดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดจนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค.65 ถูกบันทึกว่าเป็น “ครั้งที่ 3” ของการพูดคุยรอบนี้ โดยการประชุมหารือจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ขณะที่ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็น นำโดย นายอนัส อับดุลเราะห์มาน โดยมี ตันสรี อับดุลราฮีม โมฮำหมัด นูร์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก ช่วยประสานในเกิดการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย
เป้าหมายของการพูดคุยเพื่อให้สามารถบรรลุกรอบการทำงานร่วมกันใน 3 ประเด็น ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายใช้เป็น “โรดแมป” หรือ “แผนที่เดินทาง” ในการพูดคุยและทำงานร่วมกันต่อหลังได้ข้อยุติร่วมกัน
3 ประเด็น ประกอบด้วย การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่
แหล่งข่าวจากวงประชุมซึ่งเป็นทีมพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย เผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่าบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี โดยทางฝ่ายบีอาร์เอ็น เสนอขอให้มีการปรับแก้ไขข้อความเพิ่มเติมในเรื่องกรอบการทำงาน เพื่อใช้เป็นร่างแนวทางในการพูดคุยครั้งต่อไป ก่อนจะให้ความเห็นชอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย
สำหรับคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยมีทั้งหมด 7 คน จะเดินทางกลับประเทศโดยผ่าน จ.ภูเก็ต ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ม.ค.65 และจะแถลงข่าวความคืบหน้าของการพูดคุยหลังจากนั้น อาจจะเป็นวันที่ 15 ม.ค. และช่วงปลายเดือนจะนำผลการพูดคุยรายงานให้คณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ที่มี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า รับทราบ ซึ่งคณะ สล.3 มี พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นเลขานุการฯ มีหน้าที่ร่วมสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีวาระประชุมกันทุกเดือน
@@ “ประธานพูโล”ยื่นนอกวง ชงขอมีส่วนร่วมพูดคุย
ด้าน นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การพูโล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Kasturi Mahkota” เสนอข้อเรียกร้องต่อกระบวนการเจรจา หรือการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น
เนื้อหาระบุว่า ตามที่พวกเราทุกคนทราบกันว่ากระบวนการสันติภาพระหว่างขบวนการปลดแอกปาตานี โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย จะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.2022 นี้ ฝ่ายองค์การพูโล ขอดุอาอฺ (อธิษฐาน) ให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินอย่างราบรื่นและจะได้ผลเชิงบวก
ในโอกาสนี้ พูโลขอแสดงความยึดมั่นในจุดยืนที่ว่า การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีจะสามารถเกิดขึ้นได้จากการเจรจาเพียงทางเดียว และเพื่อให้กระบวนการเจรจาประสบความสำเร็จและนำไปสู่การแก้ไขที่ยุติธรรม ครอบคลุมและยั่งยืน พูโลมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1.ขอให้ยกสถานะของประเทศมาเลเซียจากผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เป็นผู้ไกลเกลี่ย (mediator)
2.พูโลขอเสนอให้กระบวนการสันติภาพนี้ยอมรับการมีส่วนร่วมของตัวละคร (actor) และผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือเป็นคณะติดต่อประสานงานหรือคณะสนับสนุน (contact group หรือ support group) ของกระบวนการที่มีบทบาทในการกำหนดประเด็นต่างๆ ที่พูดคุยในการเจรจา
3.พูโลขอเสนอให้กระบวนการสันติภาพนี้มี inclusivity (การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย) โดยมีตัวแทนจากองค์กรขบวนการปลดแอกต่างๆ องค์กรนอกภาครัฐ (NGO) องค์กรภาคประชาสังคม นักการเมือง นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ควรได้รับพื้นที่ในการเจรจาสันติภาพอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน
หากข้อเสนอเหล่านี้เป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน และขอความสันติสุข ความเมตตา และความจำเริญจากอัลลอฮฺจงประสบแด่ท่าน