@@ 18 ปีปล้นปืน
4 ม.ค.2547 เกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่เรียกกันว่า “ค่ายปิเหล็ง” เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านปิเหล็งใต้ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
ปืนที่ถูกปล้นไปมีทั้งสิ้น 413 กระบอก (ข้อมูลจากดีเอสไอ - เป็นคดีพิเศษ) มีทหารเสียชีวิต 4 นาย เหตุในช่วงคืนใกล้เทศกาลปีใหม่ มีทหารกลับบ้าน ทำให้ง่ายต่อการบุกปล้น
@@ สิ่งที่เกิดตามมา
เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “วันเสียงปืนแตก” หรือ “ปฐมบทไฟใต้รอบใหม่” เหมือนเป็นวันประกาศสงคราม
หลังจากนั้นมีเหตุรุนแรงรายวันเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งยิง ทั้งระเบิด เผา ฆ่า ฯลฯ ในรูปแบบของ “อาชญากรรมความไม่สงบ” บ้างก็เรียก “สถานการณ์ความไม่สงบ” โดยรัฐบาลไทยไม่ใช้คำว่า “ก่อการร้าย”
@@ สถิติเหตุรุนแรง
ตั้งแต่ 4 ม.ค.2547 ถึง ธ.ค.2564
-ยิงด้วยอาวุธปืน > 4,418 เหตุการณ์
-ลอบวางระเบิด > 3,664 เหตุการณ์
-วางเพลิง > 1,529 เหตุการณ์ (เฉพาะเผาโรงเรียน 315 เหตุการณ์)
-ฆ่าด้วยวิธีทารุณ > 92 เหตุการณ์ (ฆ่าตัดคอ 38 / ฆ่าแล้วเผา 51 / ฆ่าตัดคอแล้วเผา 3)
-ก่อเหตุเพื่อชิงอาวุธ > 177 เหตุการณ์
รวม 10,273 เหตุการณ์
(นับเฉพาะเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นการก่อความไม่สงบ / ยังไม่รวมเหตุอื่นๆ เช่น ทำร้าย ฯลฯ)
@@ ความสูญเสีย
-ตำรวจ เสียชีวิต 404 นาย ได้รับบาดเจ็บ 1,682 นาย
-ทหาร เสียชีวิต 606 นาย ได้รับบาดเจ็บ 2,859 นาย
-ครู เสียชีวิต 109 คน ได้รับบาดเจ็บ 130 คน
-เจ้าหน้าที่รถไฟ เสียชีวิต 5 คน ได้รับบาดเจ็บ 43 คน
-ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 248 คน ได้รับบาดเจ็บ 172 คน
-พระ มรณภาพ 24 รูป ได้รับบาดเจ็บ 27 รูป
-ประชาชน เสียชีวิต 2,682 คน ได้รับบาดเจ็บ 6,103 คน
-คนร้าย (ผู้ก่อความไม่สงบ) เสียชีวิต 56 คน ได้รับบาดเจ็บ 7 คน
รวม เสียชีวิต 4,134 คน ได้รับบาดเจ็บ 11,023 คน
(นับเฉพาะเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นการก่อความไม่สงบ)
@@ งบประมาณ
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2562 - 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2563 - 10,865.5 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2564 - 9,731.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2565 - 7,144.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวม 330,678.4 ล้านบาท
มีประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสงสัยว่า งบประมาณตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งมีการจัดหมวดหมู่เป็น “งบแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเริ่มขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นการตกแต่งตัวเลขเพื่อให้งบที่ใช้ดูน้อยลง แต่จริงๆ แล้วซุกงบไว้ในส่วนงานอื่นๆ หรือไม่
แต่ประเด็นนี้ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงว่า เป็นการจัดงบตามแผนงานบูรณาการฯ เพื่อแยกแยะอย่างชัดเจนว่า งบส่วนไหนเป็น “งบปกติ” เช่น งบพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องมีอยู่แล้ว และส่วนไหนเป็นงบท่ีใช้ในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้อย่างแท้จริง มิฉะนั้นจะมีการอ้างของหน่วยงานบางหน่วยเพื่อตั้งงบประมาณ แล้วอ้างว่าเป็น “งบดับไฟใต้” แต่จริงๆ แล้วเป็น “งบปกติ” ซึ่งบางรายการสามารถรอได้ เพราะยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนทางยุทธศาสตร์ ฉะนั้นการจัดงบลักษณะนี้จึงส่งผลดี และสร้างความชัดเจนมากกว่าการจัดงบแบบเดิม
ที่สำคัญ “งบแผนบูรณาการฯ” จะต้องมีตัวชี้วัด และถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสำนักงบประมาณ ตลอดจนองค์กรตรวจสอบอื่นๆ
@@ กี่รัฐบาล - กี่นายกฯ
ไฟใต้รอบปัจจุบัน เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาแล้ว 9 รัฐบาล 7 นายกฯ ประกอบด้วย
รัฐบาลทักษิณ 1
รัฐบาลทักษิณ 2
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2
@@ สงัด หรือ สงบ?
จากภาพใหญ่ไฟใต้ 18 ปี มาดูความเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้กันบ้าง
/// ความเคลื่อนไหวฝ่ายรัฐ ///
1.ฝ่ายความมั่นคงยืนยันไฟใต้ใกล้สงบ, ปี 2565 ไม่มีอะไรน่าหนักใจ เพราะสถิติเหตุรุนแรงลดลงต่อเนื่อง และฝ่ายความมั่นคงสามารถพิสูจน์ทราบตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงได้แทบทุกเหตุการณ์
2.จำนวนผู้ก่อความไม่สงบที่ยัง active (ยังเคลื่อนไหว) มีจำนวนไม่มากนัก แยกเป็น
- กลุ่มที่มีหมายจับและพบการเคลื่อนไหว 367 คน
- กลุ่มที่มีหมายจับ แต่ไม่พบการเคลื่อนไหว 193 คน
- กลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่ยังเคลื่อนไหว 386 คน
- บุคคลที่หน่วยพิจารณาขอตัดชื่อออกจากบัญชี 17 คน (อยู่ระหว่างกระบวนการ)
รวม 963 คน (ถ้านับเฉพาะที่เคลื่อนไหว ทั้งมีหมายจับและไม่มีหมายจับ ตัวเลขอยู่ที่ 753 คน)
3.กฎหมายที่ใช้ ลดความเข้มลง
พื้นที่ความไม่สงบ : สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งสิ้น 37 อำเภอ (สามจังหวัดชายแดน 33 อำเภอ + 4 อำเภอของ จ.สงขลา) เดิมประกาศใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มลดพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึงปัจจุบัน (สิ้นปี 64) ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 65 ครั้ง (ตั้งแต่เดือน ก.ค.2548) ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 อำเภอ เหลือ 27 อำเภอ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
รวมพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 13 อำเภอ ได้แก่
-อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี (จ.สงขลา)
-อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ (จ.ปัตตานี)
-อ.เบตง อ.กาบัง (จ.ยะลา)
-อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.แว้ง (จ.นราธิวาส)
4.ปี 2570 ยุติเหตุรุนแรงชายแดนใต้
-ผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) วันที่ 16 ธ.ค.64 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ.2566-2570 ตั้งเป้าหมายยุติเหตุรุนแรงให้ได้ภายในปี 2570 หรือที่เรียกกันว่า "เหตุรุนแรงเป็น 0"
5.นัดพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในเดือน ม.ค.65 เตรียมหารือพื้นที่ปลอดภัย (เซฟตี้โซน)
6.รัฐบาลตั้ง “ผู้แทนพิเศษดับไฟใต้”
วันที่ 9 ธ.ค.64 นายกฯลงนามแต่งตั้ง “กรรมการผู้แทนพิเศษฯดับไฟใต้”
1.ด้านความมั่นคง พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (อดีตแม่ทัพภาคที่ 4)
2.ด้านการต่างประเทศ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
3.ด้านเศรษฐกิจ นายเชื่อง ชาตอริยะกุล (อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้)
4.ด้านการศึกษา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ (อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
5.ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม นายดลเดช พัฒนรัฐ (อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัดในภาคใต้)
/// ความเคลื่อนไหวฝ่ายก่อความไม่สงบ ///
ในขณะที่ฝ่ายรัฐยืนยันว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ยังตะลุยก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
-ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.64 ถึง 4 ม.ค.65 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแทบทุกวัน
26 ธ.ค.64 ระเบิดในพื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
28 ธ.ค.64 ปาไปป์บอมบ์ใส่บ้านอดีตภรรยา ตชด. อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
29 ธ.ค.64 ระเบิดในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย
31 ธ.ค.64 ระเบิดคืนส่งท้ายปี อ.เมืองยะลา 3 จุด อ.บันนังสตา จ.ยะลา 3 จุด (ระเบิดเสาไฟฟ้า)
1 ม.ค.65 ระเบิดถังดับเพลิง 2 ลูกผูกติดกับเสาไฟฟ้า อ.เมือง จ.ยะลา เก็บกู้ได้
2 ม.ค.65 ระเบิดถังดับเพลิงแบบตั้งเวลา ผูกติดกับเสาไฟฟ้า ในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา เก็บกู้ได้
3 ม.ค.65 กราดยิงทหารพรานขณะตั้งจุดตรวจหน้าฐาน ในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ดับ 1 เจ็บ 2
กลางดึก 3 ม.ค.65 ระเบิดเสาไฟฟ้าใน อ.ธารโต จ.ยะลา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรบ้าง....
-เกิดเหตุรุนแรงแสดงศักยภาพกลุ่มก่อความไม่สงบ (ยังมีตัวตน - มีศักยภาพก่อเหตุได้)
-มีการแจ้งเตือนชาวบ้าน/แนวร่วมฯล่วงหน้า (ได้ผลเชิงจิตวิทยา)
-เพิ่มอำนาจต่อรองช่วงใกล้เจรจา/พูดคุยสันติสุขฯ
-“เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” ยังคงก่อเหตุได้ทุกเวลาถ้าครบ 3 ข้อนี้
-ยังมีแหล่งพักพิงตามชายป่าใกล้หมู่บ้าน และบนภูเขา (Support Site)
หากย้อนดูตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงปี 64 เทียบกับปีก่อนหน้า จะพบว่าจำนวนเหตุรุนแรงสูงกว่าปี 63 เกือบ 100% ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในพื้นที่ว่า “สงัด” ไม่ใช่ “สงบ”