สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของ จ.สงขลา ตลอดปี 2564 แม้เป็นปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุยิง วางระเบิด วางเพลิง และสร้างสถานการณ์ก่อกวนในรูปแบบต่างๆ
รวมไปถึงเหตุการณ์ปิดล้อมไล่ล่าเพื่อกดดันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบปี มีการยิงปะทะต่อสู้กันจนนำไปการวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุรุนแรง
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รวบรวมเหตุการณ์ปิดล้อมยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในรอบปี 2564 พบว่า เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งหมด 11 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตรวมทั้งหมด 22 ราย ตามรายละเอียดดังนี้
วันที่ 19 มี.ค.64 เจ้าหน้าที่ทหารพรานลาดตระเวนและยิงปะทะกับผู้ต้องสงสัยติดอาวุธ บริเวณบ้านปากู หมู่ 5 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายสมันดี สนิ
วันที่ 23 เม.ย.64 คนร้ายขว้างระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ลุโบะบายะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส แล้วหลบหนีไป จากนั้นได้เกิดการยิงปะทะกันในพื้นที่บ้านยาโงะ หมู่ 5 ต.ลุโบะบือซา อ.ยี่งอ ทำให้ผู้ต้องสงสัยติดอาวุธเสียชีวิต 1 ราย คือ นายมะรอฟาอา เจะอาลี และจับกุมตัวผู้ร่วมก่อเหตุได้อีก 2 ราย
วันที่ 4 พ.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ บ้านบาตูลือละ หมู่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ นายรีสวัน เจ๊ะโซะ กับ นายอีลียัส เวาะกา ทั้งยังมีผู้ที่ยอมมอบตัว 1 ราย คือ นายวันฮาซัน อะซู
วันที่ 11 พ.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบ้านเลขที่ 3 หมู่ 9 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย คือ นายซูไรดิน กะแต
วันที่ 21 มิ.ย.64 ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง ภายในรีสอร์ทริมทะเลในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย คือ นายอัมรัน มะหิเละ กับ นายอาดือเระ มันปูเตะ
วันที่ 5 –11 ก.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่บ้านชะเมาสามต้น ต.เตราะบอน อ.สายบุรี ต่อเนื่องจนถึงบ้านบือแนบาแด ต.กะดุนง อ.สายบุรี ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวมทั้งหมด 4 ราย คือ นายคูไมดี รีจิ, นายอัมรี มะมิง, นายสุไลมาน ดอเลาะ และ นายอัสมาน สะมะแอ
วันที่ 2 ส.ค.64 ปิดล้อมตรวจค้น บ้านเลขที่ 19 หมู่ 5 บ้านทุ่งโพธิ์ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการยิงปะทะกัน ทำให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายรอซาลี หลำโสะ
วันที่ 30 ส.ค.64 ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่หมู่ 4 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และเกิดการยิงปะทะกัน ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย คือ นายสุกรี สาอิ
วันที่ 28 ก.ย.-15 ต.ค.64 ปฏิบัติการปิดล้อมผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ บ้านฮูแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีการยิงปะทะจนมีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต รวม 6 ราย คือ นายบารูวัน กือจิ, นายอับดุลเลาะ อูแล, นายอัฏฮาร์ ยูกะ, นายอัสซัน สามะ, นายมะสะกรี อูแล และ นายซูเฟียน ยูโซ๊ะ
วันที่ 3 ธ.ค.64 ไล่ล่าคนร้ายยิงคนหาของป่าเสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่หมู่ 3 บ้านไอร์แยง ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย คือ นายอิสมาเเอ มาหนุ๊ เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
วันที่ 24–25 ธ.ค.64 ปิดล้อมตรวจค้นยิงปะทะกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ที่บ้านเลขที่ 55 หมู่ 3 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย คือ นายอาดีนันท์ ซือรี และ นายซาการียา ยูโซะ
โดยเหตุการณ์ปิดล้อมยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุที่เกิดขึ้นในรอบปี 64 เหตุแรก (19 มี.ค.) ทิ้งช่วงมาจากเหตุสุดท้ายของปี 63 นานกว่า 6 เดือน โดยเหตุสุดท้ายที่ของปี 63 เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย.63 ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ที่มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย และก่อนหน้าเหตุเดียวกันนี้ ในวันที่ 14 -16 ส.ค.63 ในพื้นที่ ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ก็มีเหตุวิสามัญฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 7 ราย
ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นกดดันผู้ก่อเหตุรุนแรงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แม้จะพยายามใช้แนวทางการในการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก นำญาติของผู้ก่อเหตุ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนมาร่วมเจรจา เพื่อให้ผู้ก่อเหตุยอมออกมามอบตัวแล้วก็ตาม แต่เกือบทุกเหตุการณ์จบลงที่ผู้ก่อเหตุไม่ยอมมอบตัว แต่ใช้การยิงต่อสู้ปะทะกัน จนนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรม มีผู้เสียชีวิต
มีเพียงเหตุการณ์เดียวคือ เหตุปิดล้อมยิงปะทะในพื้นที่บ้านบาตูลือละ หมู่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 ซึ่งมีหนึ่งในผู้ที่หลบซ่อนอยู่ในบ้าน คือ นายวันฮาซัน อะซู ยอมออกมามอบตัว หลังเจ้าหน้าที่เริ่มกระบวนการเจรจา แต่ก็ยังมีผู้ก่อเหตุรุนแรงอีก 2 รายยอมสู้ตาย เปิดฉากยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนถูกวิสามัญฯ
แม้เหตุการณ์วิสามัญฯผู้ก่อเหตุในรอบปีนี้จะเกิดขึ้นหลายครั้ง และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย แต่ไม่ได้หมายความจะเป็นสัญญาณดีที่จะไปสนับสนุนเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงที่จะยุติความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ภายในปี 2570
เพราะในทางกลับกันการยอมสู้ตาย ไม่ยอมมอบตัวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหลังถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงปรากฏการณ์ยกย่องเชิญชูผู้ก่อเหตุที่ถูกวิสามัญฯ ให้เป็นฮีโร่ เป็นนักรบปาตานี จากกลุ่มแนวร่วมที่เป็นเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ เห็นได้จากการออกมาร่วมแห่ศพกันเป็นจำนวนมาก ภาพเหตุการณ์เหล่านี้สวนทางกับความพยายามดับไฟใต้ให้ได้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของภาครัฐ
เพราะยังมีการเผยแพร่ข้อมูลยกย่องเชิดชูผู้ที่ยอมสละชีพผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงครอบครัวผู้สูญเสียที่ย่อมไม่พอใจ และไม่เคยได้รับการเยียวยา (เนื่องจากหน่วยงานรัฐถือว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย) เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ส่งผลให้เกิดแนวร่วมและผู้ก่อเหตุรุนแรงหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลตัวเลขล่าสุด 963 ราย...ก็เป็นได้!