ช่วงนี้ประเด็นร้องเรียนในแวดวงสีกากี เกี่ยวกับปัญหา "ผู้บังคับบัญชาอมเบี้ยเลี้ยงโควิด" ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีบางพื้นที่ บางโรงพัก มีประเด็นร้องเรียนมานานหลายเดือนแล้วแต่ผลการสอบสวนไม่คืบหน้า
วันอังคารที่ 21 ธ.ค.64 สื่อกระแสหลักบางสำนัก และรายการข่าวโทรทัศน์บางช่อง ได้เสนอปัญหาร้องเรียน "อมเบี้ยเลี้ยงโควิด" ของตำรวจโรงพักแห่งหนึ่งในภาคใต้ หลังจากสอบสวนมาร้อยกว่าวันแล้วยังไม่เสร็จสิ้น แถมยังมีความพยายามด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ตำรวจชั้นผู้น้อยที่กล่าวหา "กลับคำให้การ" เพื่อให้ "อดีตผู้กำกับ" รอดพ้นความผิด
ต่อมา วันพุธที่ 22 ธ.ค.64 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" เกี่ยวกับความคืบหน้าการสอบสวน "ผู้กำกับฯ" โรงพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งมีการตั้งกรรมการสอบมาแล้วเป็นเวลาหลายเดือน แต่เรื่องเงียบหายไป ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับข่าวที่สื่อกระแสหลักบางแขนงนำมาเสนอหรือไม่
พล.ต.ต.ทินกร กล่าวว่า การสอบสวนข้อกล่าวหานายตำรวจระดับผู้กำกับการในพื้นที่รับผิดชอบของตนไม่ได้ล่าช้า และที่ผ่านมาได้ตั้งกรรมการสอบสวนตามขั้นตอนและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกประการ กล่าวคือ
- คณะกรรมการชุดแรก เป็นการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าข้อกล่าวหามีมูลตามที่ร้องเรียนจริงหรือไม่ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการชุดแรกสอบสวนแล้ว พบว่าข้อกล่าวหามีมูล จึงตั้งชุดที่ 2
- คณะกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะกรรมการสอบสวนเพื่อจะบอกว่าต้องลงโทษแบบไหน ไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือโทษอย่างอื่น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการชุดนี้
สำหรับนายตำรวจระดับผู้กำกับการ ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน คือ พ.ต.อ.ปรเมษฐ์ พลับพลึง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ สภ.รามัน จังหวัดยะลา หลังเกิดเรื่องเมื่อปลายเดือน ส.ค.64 ได้ถูกย้ายไปประจำที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า เพื่อเปิดทางให้มีการสอบวนอย่างโปร่งใส
โดยคณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 2 มี พ.ต.อ.เจริญ นวนทอง ผู้กำกับการ สภ.กรงปินัง จังหวัดยะลา เป็นหัวหน้าชุด เดิมกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.64 (หลังคณะกรรมการสอบสวนชุดแรกสรุปผลการสอบสวน) ถึงวันที่ 26 ธ.ค.64 แต่ประธานคณะกรรมการฯ ได้เสนอขอขยายเวลาการสอบสวนไปอีก จนถึงวันที่ 25 ก.พ.65 เนื่องจากต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล, ตำรวจที่ได้รับการเบิกเบี้ยเลี้ยงทั้งหมด, พยานหลักฐานการโอนเงินต่างๆ ที่ต้องขอจากธนาคารเป็นรายบุคคล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหน่วยข้างเคียงที่ไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดไปร่วมบ้าง เหล่านี้เป็นต้น เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะหากชี้มูลไปแล้วพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็อาจถูกฟ้องศาลปกครองได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับพยานหลักฐานจากคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะไปนำไปประกอบการพิจารณาในสำนวนที่ ป.ป.ช.ยะลา ไต่สวนเองด้วย
"ยังขอยืนยันตามเดิมว่า คนไหนไม่ดีก็ไม่เอาไว้ อย่างเรื่องของเรามันมี 2 มุม มุมหนึ่งก็คือ ถ้าเขาจะถูกออกจากราชการ ก็ให้โอกาสให้เขาได้สู้ในสิ่งที่เขาควรจะได้สู้ เราให้โอกาสเขาทั้งสองฝั่ง" พล.ต.ต.ทินกร ย้ำจุดยืนในการทำงาน และแนวทางการตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อยืนยันความโปร่งใส
@@ สอบ 116 วันยังไม่จบ! ปม "ผู้กำกับฯ" อมเบี้ยเลี้ยงโควิด
สำหรับข่าวจากสื่อกระแสหลักบางสำนักที่รายงานเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าการสอบสวนข้อกล่าวหา "อมเบี้ยเลี้ยงโควิด" นั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรงพักท้องที่ไหน แต่รายงานข้อมูลกว้างๆ ว่า ช่วงที่ผ่านมามีหลายโรงพักที่มีการกล่าวหาร้องเรียน บางโรงพักเรื่องจบตรงที่ยอมคืนเบี้ยเลี้ยง บางโรงพักก็ถูกตั้งกรรมการสอบ บางโรงพักก็เข้ากระบวนการสอบสวนโดย "จเรตำรวจแห่งชาติ" และมีผู้กำกับฯบางโรงพักถูกชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช.
ข่าวจากสื่อกระแสหลัก ระบุอีกว่า ทางภาคใต้มีอยู่โรงพักหนึ่งที่กลายเป็นข่าว จนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสั่งตั้งกรรมการสอบ ให้เวลา 15 วัน แต่สอบไปสอบมาจนถึงขณะนี้ผ่าน 116 วันแล้ว ยังหาบทสรุปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาไม่ได้ยากเย็นซับซ้อน แถมตำรวจชั้นผู้น้อยก็ให้การกันไปหมดแล้ว
ข้อกล่าวหาหลักๆ 3 ข้อ ก็คือ
1.สั่งให้ลูกน้องเบิกเบี้ยเลี้ยงโควิดที่รับโอนมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำมาให้ผู้กำกับฯ พร้อมสลิป เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ แล้วผู้กำกับฯจะส่งคืนให้ โดยอ้างว่าจะนำไปจัดสรรให้กำลังพลส่วนอื่นที่ไม่ได้ไปเข้าเวรประจำด่านโควิด แต่ตอนที่ส่งเงินกลับมา เงินหายไปถึง 2 ใน 3 ส่วน เช่น เบี้ยเลี้ยง 30,000 บาท ได้กลับมาแค่ 9,000 บาท ทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
2.ใช้กำลังพล รถยนต์ และน้ำมันหลวง ไปทำสวนในอำเภอข้างเคียง
3.ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับกำลังพลบางส่วน
@@ "เล่นพวก-ขู่ฆ่า-เสนอเงิน" บีบลูกน้องกลับคำให้การ
การสอบสวนที่ผ่านมาร้อยกว่าวัน ยังหาข้อสรุปไม่ได้ มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นซ้ำอีก จากการร้องเรียนเพิ่มเติมของตำรวจชั้นผู้น้อย ดังนี้
1.เปลี่ยนตัวชุดสอบสวน ส่งเพื่อนรุ่นเดียวกับผู้กำกับฯ เข้าไปเป็นชุดสอบ
2.มีการสั่งการให้ตำรวจชั้นน้อยเปลี่ยนคำให้การใหม่ หากใครยอมเปลี่ยนคำให้การ จะถือว่าเป็นผู้ร้องเรียน ร้องทุกข์ ต้องถูกออกหมายเรียกมาให้ปากคำ
3.มีการส่งฝ่ายปกครองในพื้นที่เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจากับตำรวจชั้นผู้น้อยที่ยังไม่ยอมกลับคำให้การ เสนอเงินให้หลักแสนบาท
4.มีการส่งคนข่มขู่ตำรวจที่ยังไม่ยอมกลับคำให้การ บางรายร้ายแรงถึงขั้นขู่ฆ่าและกดดันภรรยา
ตำรวจชั้นผู้น้อยรายหนึ่งที่ยังไม่ยอมกลับคำให้การ เล่าผ่านสื่อโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องนี้ว่า ตอนนี้การสอบสวนยังไม่จบ มีการเรียกสอบหลายรอบมาก และอยากถามว่า มีที่ไหนเอาเพื่อนผู้กำกับฯมาเป็นกรรมการสอบ ที่สำคัญมีการวิ่งเต้นให้บางคนที่พูดความจริงเปลี่ยนคำให้การ จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ให้ความเป็นธรรมกับตำรวจชั้นผู้น้อยด้วย
"ตำรวจบางคนถูกกดดันขนาดให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่ไปหาภรรยาของตำรวจ แล้วกดดันผ่านภรรยา พูดจาข่มขู่ ถ้าไม่กลับการให้การก็จะยิงจะฆ่ากันเลย ผมเองก็โดน ทำให้รู้สึกกลัวและไม่อยากยุ่ง ไม่อยากให้กระทบครอบครัว" ตำรวจชั้นผู้น้อย กล่าว
เรื่องนี้ในช่วงที่เป็นข่าวใหม่ๆ ราวๆ เดือน ส.ค.-ก.ย.64 ทางผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย มีการไต่สวนพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว และส่งสำนวนการไต่สวนไปให้ ป.ป.ช.กลางชี้ขาด แต่ทาง ป.ป.ช.จังหวัด ไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ อ้างว่าต้องรอให้ ป.ป.ช.กลางชี้มูลก่อนเท่านั้น