มีไม่บ่อยครั้งนักในทางการเมืองที่จะมีการประกาศกำหนดกรอบเวลาว่าจะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ แต่ละปัญหาให้เสร็จสิ้นได้เมื่อใด
ยกเว้นตอนที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วก็มักทำไม่ได้ตามที่ประกาศ...
หลายคนคงยังจำกันได้ เรื่องแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯภายใน 6 เดือน, ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 0, หรือบางปัญหาก็ไม่ได้กำหนดเวลา แต่เลือกใช้นโยบายผิดพลาด และมองอย่างประมาทว่าเป็นเรื่อง "กระจอก"
ไม่ว่าจะเป็น “โควิดกระจอก” หรือแม้แต่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อดีตนายกฯบางท่านก็เคยขนานนามผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า "โจรกระจอก" มาแล้ว
แต่ "โจรกระจอก" กลุ่มนี้สร้างสถานการณ์มานานเกือบ 18 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ แถมยังทำให้รัฐบาลทุกชุดต้องทุ่มเทงบประมาณลงไปแก้ไขปัญหาแล้ว นับถึงปีนี้น่าจะร่วมๆ 4 แสนล้านบาท (ไม่นับงบรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงข้าราชการ)
เหตุนี้เองจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เมื่อในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้งเป้ายุติเหตุรุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2570
สาระสำคัญของการประชุมก็คือ ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ.2566-2570 ซึ่งกำหนดเป้าหมายมุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข เหตุการณ์ความรุนแรงยุติได้ในปี พ.ศ.2570 และขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนเงื่อนไขใหม่ไม่เกิดขึ้น
มีคำถามว่า "เหตุรุนแรงยุติ" ในเป้าหมายของ คปต. แปลว่าอะไร? ได้มีการสอบถามเรื่องนี้จากบุคคลระดับสูงในกลุ่มงานความมั่นคง ได้รับคำอธิบายว่า ในร่างแผนปฏิบัติการใช้คำว่าการก่อเหตุรุนแรงลดลง โดยเป้าหมายสุดท้ายของยุทธศาสตร์คือไม่มีการก่อเหตุรุนแรงอีกเลย
การใช้คำว่า "ก่อเหตุรุนแรง" หมายความว่า การก่อเหตุไม่รุนแรงยังมีอยู่ได้บ้าง เพราะการจะทำให้ไม่มีการก่อเหตุเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะการบ่มเพาะแนวคิดรุนแรงและแนวคิดแบ่งแยกดินแดนยังคงมีอยู่ ซึ่งยากที่ฝ่ายรัฐจะขัดขวางได้ทั้งหมด
คำอธิบายนี้สอดคล้องกับข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ได้มาจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ นั่นก็คือตัวเลข "ผู้ก่อความไม่สงบ" ที่คนทั่วไปเรียกว่า "โจรใต้" ทั้งกลุ่มที่มีคดีติดตัว มีหมายจับ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในทางลับ ไม่มีหมายจับ ปรากฏว่าตัวเลข ณ ปัจจุบันนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 963 คน
แยกเป็น กลุ่มที่มีหมายจับและพบการเคลื่อนไหว 367 คน, กลุ่มที่มีหมายจับ แต่ไม่พบการเคลื่อนไหว 193 คน, กลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่มีความเคลื่อนไหว 386 คน และบุคคลที่หน่วยพิจารณาขอตัดชื่อออกจากบัญชี 17 คน
นับเฉพาะกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหว ทั้งมีหมายจับและไม่มีหมายจับ มีอยู่ทั้งสิ้น 753 คน ก็ไม่ยากนักหากฝ่ายความมั่นคงจะจำกัดเสรีการเคลื่อนไหว แต่ปัญหาคือตัวเลขนี้ไม่สามารถคาดการณ์ "ผู้ก่อเหตุรุนแรงหน้าใหม่" ที่ผ่านการบ่มเพาะ (ซึ่งไม่สามารถสกัดได้ทั้งหมด) โดยเป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน เรียกว่า "ผกร.หน้าขาว" (ผู้ก่อเหตุรุนแรงหน้าขาว)
ฉะนั้นการจะทำให้สันติสุขเกิดขึ้นได้จริง จึงไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมาย หรือทำให้ตัวเลข 753 หรือแม้แต่ตัวเลข 963 หมดไป แต่ต้องมีกระบวนการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคนเหล่านี้ให้ได้ด้วย เพื่อหยุดยั้งการบ่มเพาะ "ผกร.หน้าขาว" ซึ่งก็คือผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ออกมาไม่รู้จักจบสิ้น
ความท้าทายต่อเป้าหมายยุติความรุนแรงชายแดนใต้ให้ได้ในปี 2570 ก็คือ
1.กระบวนการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของกลุ่มคนที่ต่อสู้กับรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรง ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่มีกระบวนการนี้เลยก็ว่าได้ เพราะกระบวนการ "กลับใจ" ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีข้อจำกัดมาก และไม่ประสบผลในภาพกว้างอย่างที่วางแผนไว้
2.คนที่ยอมวางปืน วางอาวุธ หรือเลิกต่อสู้กับรัฐ ส่วนใหญ่เป็นเพราะความเบื่อหน่าย หมดพลัง หรืออายุมากเกินไป พูดง่ายๆ คือสมัครใจเลิกเอง แถมบางส่วนยังยอมเข้าโครงการของรัฐ เช่น โครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อรับความช่วยเหลืออีกต่างหาก (คล้ายเป็น incentive ให้พวกหมดไฟ) แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยตัดวงจรการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ให้ออกมาต่อสู้กับรัฐแต่อย่างใด
หนำซ้ำไปๆ มาๆ โครงการลักษณะนี้ในบางมิติ อาจเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่กำลังต่อสู้กับรัฐอยู่ด้วยซ้ำ นั่นก็คือช่วยผลัดเปลี่ยนคนเก่าออกมา ซึ่งบางส่วนก็เป็นคนที่ขบวนการไม่อยากได้แล้ว จากนั้นรัฐก็ให้ความช่วยเหลือดูแล ส่งกลับบ้าน ได้มีที่ดินทำกิน และได้ช่องทางการต่อสู้คดี ส่วนฝั่งขบวนการก็ recruit คนใหม่ๆ ที่ยังเฟรชๆ เข้าไปแทน
3.สถิติเหตุรุนแรงที่อ้างว่าลดลง แม้ด้านหนึ่งเป็นผลจากการวางกำลังของฝ่ายความมั่นคงและความชำนาญพื้นที่ที่มีมากขึ้น เนื่องจากเลือกใช้ "กองกำลังประจำถิ่น" มากกว่าเดิม และยังมีกองกำลังภาคประชาชนเข้าไปหนุนเสริม แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอีกด้านหนึ่งด้วยว่า กลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐได้ปรับยุทธศาสตร์ ใช้งานการเมืองมากขึ้น ใช้อาวุธน้อยลง เพื่อเตรียมเปิดตัวสู่สากล และหวังให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาที่ปลายทาง (โดยอาศัยเวทีต่างประเทศกดดันไทย)
ฉะนั้นสถิติเหตุรุนแรงที่เป็น 0 ในบางบริบทจึงอาจไม่ใช่นิยามเดียวกับคำว่า "สันติสุข" หรืออยู่กันอย่างสงบสุขในความหมายเดิมตามที่รัฐบาลไทยต้องการ
4.ปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจกันระหว่างคนต่างศาสนาลดน้อยลงบ้างหรือไม่ หรือว่ายิ่งแตกต่าง แตกแยกมากขึ้นในปัจจุบัน
5.ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องมลายูมุสลิม มีมุมมองต่อรัฐ หรือรัฐบาลดีขึ้นกว่าเดิมหรือยัง เพราะหากผู้คนจำนวนมากยังไม่ชอบรัฐ ไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐ เงื่อนไขใหม่ก็พร้อมปะทุตลอดเวลา ความสงบหรือเหตุรุนแรงที่ลดลงอาจเป็นเพียงแค่การพักรบชั่วคราว หรือเปิดโอกาสให้มีการเดินเกมอื่นคู่ขนาน โดยที่ภาครัฐกำลังยินดีปรีดากับตัวเลขเหตุร้ายที่ลดต่ำลง
ปัจจุบันสภาพการณ์ที่ชายแดนใต้เปลี่ยนแปลงไปมาก อาจจะด้วยปัญหาที่สุกงอมมานาน กับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโซเชียลมีเดีย ทำให้รูปแบบการต่อสู้กับรัฐ หรือลดความน่าเชื่อถือของรัฐเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางทีข่าวลบๆ ของรัฐเพียงข่าวเดียว อาจลดทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้มากกว่าระเบิดลูกใหญ่ๆ หลายลูกเสียอีก
ขณะที่การปล่อยกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือสามารถทำได้ทุกวัน ทุกเวลา เข้าถึงผู้คนผ่านทางโทรศัพท์ ไม่จำเป็นต้องรอตอนเช้าตามร้านน้ำชาอีกต่อไป
ปรากฏการณ์พ่นสีบนท้องถนนเพื่อ "saveจะนะ" หรือการที่กลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ร่วมต่อต้านนิคมอุตสาหกรรม อาจเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าปัญหาชายแดนใต้กำลังไม่เหมือนเดิม และน่าจะไม่ใช่หนทางสู่สันติสุขในปี 2570
โดยเฉพาะสันติสุขในความหมายของรัฐ กับสันติสุขในความหมายของกลุ่มที่ต่อสู้ เคลื่อนไหว และแสวงประโยชน์ น่าจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
แว่วว่า "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "เขตปกครองตนเอง" อาจไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป...