นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย ศบค.ได้กำหนดให้ลงทะเบียนในระบบ Thailand pass
เมื่อลงทะเบียนแล้วจะมีช่องทางให้เลือกเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 3 ช่องทาง คือ 1. ช่องทาง Test and Go 2.ช่องทาง Sandbox program 3.ช่องทาง Happy Quarantine scheme เพื่อเป็นมาตรการในป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ปัจจุบัน "กลุ่มผู้แสวงบุญ" ชาวไทยที่ไปทำ "อุมเราะห์" และเดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เลือกลงทะเบียนในช่องทางที่ 1 คือ Test and Go และช่องทางที่ 2 คือ Phuket Sandbox โดยมาตรการที่ผู้แสวงบุญทุกคนต้องปฏิบัติ คือ ก่อนออกเดินทางจากประเทศซาอุดิอาระเบียจะต้องได้รับการตรวจ RT-PCR ทุกราย หากผลออกมาเป็นบวก (พบเชื้อ) จะต้องเข้ารับการรักษาตัวที่หน่วยงานการแพทย์ของประเทศซาอุดิอาระเบียทุกราย แต่หากผลออกเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ก็จะสามารถเดินทางได้
เมื่อผู้แสวงบุญเดินทางถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต จะได้รับการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง เป็นมาตรการขั้นที่ 2 และผู้เดินทางจะต้องเข้าพักโรงแรมที่ลงทะเบียนในระบบ SHA+ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 คืน หรือจนกว่าจะทราบผลตรวจ RT-PCR หากผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ) จะได้รับประสานงานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อเข้ารับการดูแลตามมาตรฐานทางการแพทย์ หากผลตรวจเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) จะได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปยังปลายทางได้
ในจำนวนผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ ผลตรวจ RT-PCR ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ทุกราย จึงสามารถเดินทางออกจากประเทศซาอุดิอาระเบียได้ และเมื่อมาถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ตได้ตรวจ RT-PCR ซ้ำ พบว่าเป็นบวก 5 ราย และได้ทำการตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR พบว่าเป็นบวก 3 ราย เป็นชาวปัตตานี 2 ราย และชาวนราธิวาส 1 ราย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ติดต่อประสานงานดูแลรักษาตามมาตรฐานการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนผู้ร่วมเดินทางที่ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ได้รับการกักตัวเพื่อสังเกตอาการในห้องพักต่ออีก 5 วัน ซึ่งถือว่าเลยระยะฟักตัวของเชื้อแล้ว อธิบายได้ว่าหากมีเชื้อในร่างกายจะแสดงอาการออกมาภายใน 3 วัน ดังนั้นหากเลยระยะฟักตัว 5 วัน คาดว่าจะไม่มีเชื้อโควิดแล้ว สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายได้รับการตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและรัดกุมมากขึ้น ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แนะนำให้ผู้เดินทางทุกคนกักตัวเองต่อเนื่องจนครบ 14 วันเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง และทางสาธารณสุขจะส่งข้อมูลไปยังพื้นที่เพื่อร่วมติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ผู้เดินทางไปทำ "อุมเราะห์" ครั้งนี้ทั้งหมด 137 คน แยกการเดินทางกลับไทยออกเป็น 2 กลุ่ม เดินทางคนละวัน โดยกลุ่มแรกเดินทางวันที่ 9 ธ.ค.64 ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ตรวจ RT-CPR ผลตรวจออกมาเป็นลบ เดินทางได้ภายใน 72 ชั่วโมง จากนั้นจึงเดินทางกลับจากซาอุฯใวันที่ 11 ธ.ค. ถึงภูเก็ตวันที่ 12 ธ.ค. และเข้ากักตัวที่โรงแรม ตามมาตรการ Phuket Sandbox จำนวน 5 วัน จากนั้นวันที่ 17 ธ.ค. ทั้งหมดในกลุ่มที่ผลตรวจเป็นลบเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมกักตัวที่บ้านอีก 14 วันตามมาตรการสาธารณสุขทุกขั้นตอน โดยรวมจากการตรวจสอบข้อมูล ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มและทั้งหมดมีสุขภาพปกติดีทุกอย่าง
เชื้อโควิด-19 เป็น RNA virus ซึ่งธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้จะมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษมี 4 สายพันธุ์ คือ แกมม่า อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า แต่ปัจจุบันมีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มมาอีก 1 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งสายพันธุ์นี้ถูกรายงานครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ โดยอาการส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับโรคโควิดสายพันธุ์อื่นๆ คือ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีปอดอักเสบเล็กน้อย แต่จะไม่มีไข้ และจมูกรับกลิ่นปกติ การรักษายังคงเป็นเป็นแนวทางเดียวกับการรักษาของสายพันธุ์อื่นๆ คือ รับประทานยาต้านไวรัส และแยกตัวรักษาเป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบ 10 วันแล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติตามวิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และหลีกเลี่ยงชุมชน
สำหรับความหมายของการทำ "อุมเราะห์" เรียกง่ายๆ ว่า "การแสวงบุญเล็ก" ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ต่างจากการทำ "ฮัจย์" หรือ "การแสวงบุญใหญ่" ซึ่งใช้เวลานานกว่า และกำหนดให้มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถต้องปฏิบัติ แต่การทำอุมเราะห์นั้นไม่ได้เป็นภาคบังคับ หากมีโอกาสได้ไปและใช้เวลาอยู่ในมัสยิดฮารอมในซาอุดิอาระเบียหลายวัน ก็จะยิ่งได้รับผลบุญมาก