ชัยชนะของ “กลุ่มเลือดใหม่” หรือ New Concept ในการชิงเก้าอี้ “รองหัวหน้าพรรคภาคใต้” ของประชาธิปัตย์ ถือเป็นอีกหนึ่งเดิมพันว่าพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้จะหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่ได้หรือไม่
โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เคยอหังการ์ถึงขนาดประกาศว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ”
แต่ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ ก็มีสติพอที่จะไม่ “โม้เกินจริง” เพราะการเมืองสมัยใหม่ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เจ้าตัวประกาศตั้งเป้าภาคใต้ 35 เก้าอี้ จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดราวๆ 50 กว่าคน
แต่ในความยินดีปรีดาและความหวังว่า พรรคจะเดินมาถึงจุดเปลี่ยน กลับปรากฏรอยด่างเมื่อ อันวาร์ สาและ ส.ส.เขต 1 ปัตตานีและ ส.ส.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไขก๊อกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคไปก่อนหน้านี้ ได้เปิดปฏิบัติการ “ทิ้งบอมบ์” กลางวงประชุมพรรค
ทั้งอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่าพรรคหลงลืมอุดมการณ์ และยังกล่าวหาว่า รองหัวหน้าพรรคคนหนึ่งแผ่อิทธิพลคุมพรรค ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เล่นกันถึงขนาดนี้คงชัดเจนแล้วว่า อยู่ต่อไม่ได้แน่ หลังจากวันนี้คงต้องทางใครทางมัน รอจังหวะยุบสภาเท่านั้น
@@ “อันวาร์” กับชะตาการเมือง
ส.ส.ปัตตานี เขต 1 รายนี้ เป็นสายตรง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เหมือนกับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ผ่านมาจึงเล่นบท “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” ร่วมกับ เทพไท เสนพงศ์ และ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ทำให้แต่ละคนโดนลดบทบาทในพรรค ส่วนเทพไท ถึงขั้นหลุด ส.ส. แถมยังเสียที่นั่ง ส.ส.นครศรีธรรมราช ไปให้กับพรรคพลังประชารัฐด้วย
ในมิติของการทำพื้นที่เลือกตั้ง ต้องบอกว่า อันวาร์ไม่ธรรมดา เพราะในยามที่ประชาธิปัตย์เจอสึนามิที่ภาคใต้ เสียที่นั่งไปกว่าครึ่ง และแพ้เกือบ 100% ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (การเลือกตั้ง 24 มี.ค.62) แต่ อันวาร์ ก็ยังฝ่ากระแสมาได้ และเป็น ส.ส.เพียงหนึ่งเดียวของประชาธิปัตย์ในดินแดนปลายด้ามขวาน
ก่อนที่ อันวาร์ จะปฏิบัติการทิ้งบอมบ์กลางวงประชุมพรรค จริงๆ ก็มีข่าวว่า ผู้บริหารประชาธิปัตย์ชุดนี้จะไม่ส่งเขาลงสมัครป้องกันแชมป์ในการเลือกตั้งสมัยหน้าอยู่แล้ว แม้ฐานเสียงจะแข็งโป๊ก ฝ่าด่านเข้ามาได้เพียงหนึ่งเดียวก็ตาม
เรื่องนี้ อันวาร์ก็รู้ตัวดี และเตรียมหาพรรคใหม่ลงสมัคร โดยเล็งไปที่พรรคประชาชาติ แชมป์เลือกตั้งพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อปี 62
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 11 เขต ประชาชาติกวาดไป 6 คือเกินครึ่ง เหลือให้พลังประชารัฐ 3 เขต และประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยพรรคละเขตเท่านั้น
แต่ข่าวว่าพรรคประชาชาติยังคิดหนัก เพราะคะแนนส่วนตัวของอันวาร์ ไม่เพียงพอที่จะพาตัวเองชนะเลือกตั้งได้ แต่ที่ผ่านมาคว้าชัยเพราะคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งฐานเสียงของประชาธิปัตย์ที่ชายแดนใต้ หนาแน่นในเขตเมือง คือ เขต 1
น่าจับตาว่า อนาคตทางการเมืองของอันวาร์ จะเป็นอย่างไร หรือต้องหาพรรคที่ 3 เป็นพรรคทางเลือกต่อไป เพราะจะย้ายเข้าค่ายพลังประชารัฐก็ไม่ได้ เนื่องจากด่าเขาไว้เยอะ
@@ “ประชาชาติ” ยุครีแบรนด์
พูดถึงพรรคประชาชาติ กำลังจะมีการปรับโครงสร้าง และรีแบรนด์พรรคใหม่
“พรรคประชาชาติ” ถูกมองเป็นพรรคท้องถิ่น เป็นพรรคมุสลิม มีฐานเสียงเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากนับเฉพาะที่ปลายด้ามขวานก็ถือว่าเป็นของจริง เนื่องจากกวาดที่นั่ง ส.ส.มาได้ถึง 6 เขต ในพื้นที่ที่มี “ทหาร” เป็นแฟคเตอร์สำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของประชาธิปัตย์ในอดีต ในยุคที่กลุ่มวาดะห์ตกต่ำจากปัญหาที่ก่อขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ทำให้ประชาธิปัตย์กวาดเรียบ ส.ส.ชายแดนใต้ ได้ที่นั่งมากกว่า 90% โดยมีฝ่ายความมั่นคงให้การสนับสนุน
ส่วน “พรรคประชาชาติ” ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน แต่กลับคว้าชัยมาได้ถึง 6 เก้าอี้จาก 11 เก้าอี้ จึงถือว่าไม่ธรรมดา
โจทย์ข้อใหม่ของประชาชาติ คือ
1.ขยายที่นั่ง ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้ทั้ง 12 เขต หรืออย่างน้อยต้อง 10 เขตจาก 12 เขตที่จะมีการเพิ่มขึ้นใหม่ จาก 11 เป็น 12 เขตในการเลือกตั้งครั้งหน้า
2.เพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อรับมือกับระบบเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” โดยจะมีทีมหาเสียงทั้งในส่วนของ ส.ส.เขต และหาคะแนนให้บัตรใบที่ 2 เป็นการเฉพาะ
3.ขยายความนิยมของพรรคออกไปนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยชูนโยบายที่แตกต่างจากพรรคอื่น เช่น ดูแลคนชายขอบ เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้ด้อยโอกาส มุ่งสู่ความเท่าเทียม ฯลฯ
ที่สำคัญคือ หาเสียงแยกเซกเมนท์ (แยกส่วน) เช่น กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม (นอกสามจังหวัดใต้) หรือกลุ่มลูกหนี้ กยศ. ซึ่งพรรคประชาชาติเป็นพรรคแรกที่เคลื่อนไหวแก้ไขปัญหา “หนี้ กยศ.” ให้กับนักเรียน นักศึกษา และลูกหนี้วัยทำงานนับล้านคน ทั้งยังได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเป็นพรรคแรกด้วย กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในเร็ววันนี้
@@ ตั้งเป้า ส.ส.เขตเกิน 10 ปาร์ตี้ลิสต์เกินล้าน
วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ ในฐานะ “บ้านใหญ่ยะลา” กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงการเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่ง อาจารย์วันนอร์ เชื่อว่าไม่น่าจะเกินเดือนมีนาคม
นอกจากนั้นยังแสดงความมั่นใจเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่เชื่อว่า พรรคประชาชาติจะไม่เสียเปรียบ และจะขยายฐานเสียงออกนอกพื้นที่ชายแดนใต้ได้สำเร็จ
“หลายคนมองว่าการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ พรรคเล็กเสียเปรียบและอาจจะตายจากไป แต่สำหรับพรรคประชาชาติเป็นกรณีพิเศษกว่าพรรคเล็กอื่นๆ เพราะเรามี ส.ส.เขต ถึง 6 คน มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้นการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ทางพรรคจึงไม่ได้เสียเปรียบ เพราะน้ำหนักอยู่ที่ ส.ส.เขตเป็นหลัก
ส่วนการหาตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง 400 เขตนั้น เราพยายามจะหาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อน เราส่งผู้สมัครลง 219 เขต ครั้งนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรับสมัครผู้ที่สนใจ พร้อมกับส่งคนลงไปดูในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทาบทามมาร่วมอุดมการณ์
ผมห่วงทุกพื้นที่ แต่ห่วงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่ที่พรรคมี ส.ส.เขตอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายพรรคพยายามมาแย่งชิงเก้าอี้ในพื้นที่นี้ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อป้องกัน ส.ส.เขตที่มีอยู่ทั้งหมด 6 เขต ให้ได้กลับมาทั้งหมด ส.ส.ต้องทำการบ้าน เราต้องไม่ให้พลาด ขณะเดียวกันเขตพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 11 เขตเป็น 12 เขต เราต้องพยายามให้ได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 คน
มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคจะได้ ส.ส.เขตเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน และเมื่อได้ ส.ส.เขตเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนเราคะแนน 480,000 คะแนน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยแบบบัตร 2 ใบรวมกัน พรรคน่าจะได้คะแนนมากกว่า 1 ล้านคะแนน”
สรุปง่ายๆ คือ เป้าหมายของพรรคประชาชาติ คว้า ส.ส.เขตเกิน 10 คว้าปาร์ตี้ลิสต์เกินล้าน
@@ ตอบปม “นัจมุดดีน” ยันจากกันด้วยดี
เมื่อถามถึงกรณี นายนัจมุดดีน อูมา ลาออกจากพรรคประชาชาติ และมีข่าวย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยนั้น อาจารย์วันนอร์ กล่าวว่า การย้ายเข้าย้ายออกของผู้สมัครรับเลือกตั้งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่เป็น ส.ส.ปัจจุบันในพรรคประชาชาติยังไม่มีใครลาออก และทุกคนยืนยันที่จะยืนหยัดคู่กับพรรคประชาชาติในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนคนที่ออกไปตามที่เป็นข่าวนั้น ยืนยันจากว่ากันด้วยดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร พรรคไม่ได้วิตกกังวลเรื่องนี้
“อีกด้านหนึ่ง คนที่เป็นส.ส.ปัจจุบันของพรรคอื่นในพื้นที่นี้ ก็กำลังคุยขอจะมาลงสมัครในนามพรรคประชาชาติด้วย เนื่องจากมีความมั่นใจ พร้อมกันนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ขอเข้ามาร่วมทำงานการเมืองกับพรรค ซึ่งมองว่า เราจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่เข้าเสริม เพราะคนรุ่นเก่าก็ต้องไปตามกาลเวลา
@@ “ทวี” เตือนรัฐ ดันยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจภายใน
จากยุทธศาสตร์เลือกตั้ง หันมาดูยุทธศาสตร์การบริหารพรรคของ 2 แกนนำสำคัญ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค
ก่อนหน้านี้ อาจารย์วันนอร์ ลาออกจาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อดัน พ.ต.อ.ทวี ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน ส่วนตนเองหันไปทำงานให้พรรคอย่างเต็มที่ ทั้งจัดโครงสร้างและจัดเตรียมคน
ส่วน พ.ต.อ.ทวี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากกับการทำงานในสภา โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง “ที่ดินเขากระโดง” จ.บุรีรัมย์ และการกระจายประเด็นให้ ส.ส.ชายแดนใต้ ได้มีพื้นที่อภิปรายในสภา สะท้อนปัญหาชาวบ้านสู่การรับรู้ของชาวเมือง ก็เป็นการขับเคลื่อนอย่างคึกคักในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
นอกจากนั้น พ.ต.อ.ทวี ยังวางบทบาทในการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เป็นกระแสด้วย
ล่าสุดในเรื่อง “เปิดเมือง เปิดประเทศ” ท่ามกลางการรุกคืบเข้ามาของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน” เจ้าตัวก็ออกโรงเตือนให้รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก
“สถานการณ์โควิดขณะนี้ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในบ้านเราจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังต้องระมัดระวังเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ เพราะถ้าหากเปิดประเทศด้วยความสุ่มเสี่ยง ไม่ระมัดระวัง จะกลายเป็นการนำเชื้อกลายพันธุ์เข้าสู่ประเทศ
ดังนั้นรัฐบาลควรโฟกัสที่เศรษฐกิจภายใน คลายล็อคเปิดกิจการ เปิดระบบเศรษฐกิจ ให้มีการค้าขาย เพราะหากไม่เร่งเปิด ประชาชนอาจไม่ได้ตายเพราะโรค แต่จะตายเพราะเพราะพิษเศรษฐกิจแทน”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาตัวเอง เพราะความเชื่อมั่นตกต่ำ พูดอะไรก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อหรือมั่นใจ ฉะนั้นการดำเนินนโยบายต่างๆ จึงต้องระมัดระวัง
“มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาลทยอยประกาศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 40 ในพื้นที่แดงเข้ม จะช่วยประชาชนได้ในระยะสั้นเท่านั้น และขณะนี้รัฐบาลได้ใช้เงินกู้จนใกล้เกินเพดานแล้ว ดังนั้นในระยะยาวควรมีมาตรการอื่นๆ รองรับ เช่น การทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง เปิดกิจการ เปิดการค้าขาย”
@@ ชูสร้างสะพานโก-ลก - ตากใบ รถไฟทางคู่หาดใหญ่-นราฯ
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี ลงพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และได้แสดงวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ไม่น้อยเหมือนกัน
“รัฐบาลควรเปิดชายแดนควบคู่กันไป เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดงบในการพัฒนาเมืองชายแดน และมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน
ในอดีตเคยมีความตกลงกับประเทศมาเลเซียที่จะสร้างสะพานที่สุไหงโก-ลก และตากใบ โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ออกแบบ และมาเลเซียจะเป็นผู้ตรวจแบบ สลับกันไปมาระหว่าง 2 สะพาน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งที่มีการตั้งงบไว้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลประการใดโครงการทั้งสองจึงต้องพับไป”
เรื่องระบบขนส่งทางราง พรรคประชาชาติก็ให้ความสำคัญ
“รถไฟมีความสำคัญเพราะเป็นกลไกหลักของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำมาค้าขาย"
"รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและพัฒนาเมืองชายแดนให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญต้องเร่งรัดให้มีการสร้างทางรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมระหว่างนราธิวาสกับหาดใหญ่ (จ.สงขลา) ต้องไม่ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าปฏิบัติกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนแบบ 2 มาตรฐานถ้าเทียบกับพื้นที่อื่น"
นี่คือการขับเคลื่อนประเด็นแบบครบเครื่องของพรรคการเมืองหน้าใหม่และไม่ได้ใหญ่โตอย่างพรรคประชาชาติ...
แน่นอนว่าความสำเร็จของพรรคประชาชาติ ถ้าทำได้ตามเป้า ก็คือการบอนไซและจำกัดพื้นที่ของประชาธิปัตย์นั่นเอง
ฉะนั้นจะเรียกว่า “ประชาชาติ” คือ ก้างขวางคอประชาธิปัตย์ในภารกิจทวงคืนความยิ่งใหญ่ในภาคใต้...ก็คงไม่ผิด