ความเคลื่อนไหวด้านความมั่นคงที่น่าสนใจในช่วงนี้ คือการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ของรัฐบาลนายกฯลุงตู่
ข่าวใหญ่เมื่อวาน (16 ธ.ค.64) คือ คปต.ตั้งเป้ายุติเหตุรุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายในปี 2570
คปต. คือ “องค์กรที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้” ของรัฐบาลลุงตู่ ตั้งแต่ยุค คสช. มาจนถึงปัจจุบัน โครงสร้าง คปต. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
มติที่ประชุมเมื่อวานที่เป็นเรื่องใหม่จริงๆ มี 2 เรื่อง คือ
1.ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2566 - 2570 โดยมุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข เหตุการณ์ความรุนแรงยุติได้ในปี 2570 และขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนเงื่อนไขใหม่ไม่เกิดขึ้น
2.เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน “ศูนย์พัฒนาทักษะภาษา” เพื่อสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะจัดตั้งขึ้นนำร่อง 184 ศูนย์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ
@@ เร่งพัฒนาทักษะภาษาไทย
เรื่อง “ศูนย์พัฒนาทักษะภาษา” หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะพัฒนาภาษาไหน เพราะคนที่นั่นส่วนใหญ่พูดภาษามลายูถิ่นกัน
ทีมข่าวฯสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ได้ความว่าเป็น “ศูนย์พัฒนาทักษะภาษาไทย” โดยทาง คปต.มีรายงานว่าคนในพื้นที่อยากได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาไทย หากได้รับการพัฒนาทักษะ น่าจะทำให้การศึกษา การเรียนการสอน ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น
แต่ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ เท่าที่ทีมข่าวได้พูดคุย บอกว่า อยากให้เสริมทักษะภาษาอื่นด้วย โดยเฉพาะภาษามลายูถิ่น ให้ต่อยอดพัฒนาไปพูดภาษามาเลย์ได้ ภาษาอินโดฯได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งภาษาอาหรับที่ใช้ในตะวันออกกลางได้ ก็จะช่วยเรื่องการศึกษา การค้าขาย และการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
@@ เหยื่อไฟใต้ยังไม่มั่นใจ 2570 สันติสุข
แต่ประเด็นที่ฮือฮาก็คือ เรื่องที่วงประชุม คปต.บอกว่า เป้าหมายดับไฟใต้ เหตุรุนแรงยุติปี 2570 คำถามคือ ชาวบ้านที่ภาคใต้ฟังแล้วเชื่อหรือไม่
หญิงมุสลิมรายหนึ่งซึ่งสามีของเธอถูกยิงเสียชีวิต ต้องสู้ชีวิตเลี้ยงลูกเพียงคนเดียวมานานหลายปี เปิดใจว่า "รู้สึกว่าเหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเพิ่งมีเหตุระเบิดรถไฟ (ที่โคกโพธิ์ ปัตตานี) มันเหมือนเหตุการณ์กลับมาอีก ที่สำคัญเหตุที่เกิด มันก็เกิดเหตุในพื้นที่ตัวเองด้วย (เป็นชาวโคกโพธิ์) ยิ่งรู้สึกจิตใจแย่กลับมาอีก มันรู้สึกกลัว ระแวง รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ทำให้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ตัวเองจะต้องนึกถึงช่วงที่สามีถูกยิงใหม่ๆ จิตใจไม่ดีทุกครั้งที่เกิดเหตุ"
"ที่ผ่านมาก็พยายามทำใจ และบอกตัวเองให้ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันจะดีเอง แต่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ สภาพจิตใจจะแย่ เมื่อเหตุลดลง จิตใจก็รู้สึกดีขึ้นด้วย"
เมื่อถามถึงเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เชื่อได้ว่าภาคใต้จะสงบจริงๆ หญิงผู้สูญเสียรายนี้บอกว่า ก็ต้องไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีก
นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องปากท้องของชาวบ้าน เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ มีการศึกษาที่ดี เด็กสามารถเรียนหนังสื่อได้ปกติ
"เชื่อว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จะหายไปจริงๆ ถ้าพี่น้องประชาชนทุกคนอยู่ดีกินดีจริง แต่ถ้าเกิดเหตุอยู่ แม้จะไปทำงานก็กลัว รู้สึกระแวง กลัวไปหมด จิตใจก็แย่ ในส่วนที่เจ้าหน้าที่บอกว่าสงบก็ไม่เชื่อ มันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะมันยังมีเหตุการณ์อยู่ จิตใจยังแย่อยู่ เพราะมันยังไม่สงบเลย ถ้ายังมีเหตุการณ์ แม้เหตุที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเราแล้ว แต่ความรู้สึกของเราก็ร่วมเจ็บทุกครั้ง เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาก่อน เข้าใจคนที่ได้รับผลกระทบดี รู้เลยว่าสูญเสียแล้วมันเจ็บขนาดไหน และไม่สามารถเยียวยาคืนกลับมาได้ แม้มันจะนานและรัฐบาลมีความพยายามที่จะทำก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว"
นี่คือรอยแผลที่ฝังลึกในใจของครอบครัวผู้สูญเสีย
@@ หน่วยข่าวยอมรับ “ไม่ง่าย” แนวคิดแบ่งแยกยังอยู่
สรุปคือชาวบ้านไม่เชื่อว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยมีบาดแผลกับเหตุการณ์รุนแรง
มีคำถามว่า “เหตุรุนแรงยุติ” ในเป้าหมายของ คปต. แปลว่าอะไร?
ทีมข่าวฯ สอบถามเรื่องนี้จากแหล่งข่าวระดับสูงด้านความมั่นคง ได้รับคำอธิบายแบบนี้
ในร่างแผนปฏิบัติการ ใช้คำว่าการก่อเหตุรุนแรงลดลง โดยเป้าหมายสุดท้ายของยุทธศาสตร์คือไม่มีการก่อเหตุรุนแรงอีกเลย การใช้คำว่า “ก่อเหตุรุนแรง” หมายความว่าการก่อเหตุไม่รุนแรงยังมีอยู่ได้บ้าง เพราะการจะทำให้ไม่มีการก่อเหตุเลย เป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงรู้ดี
"หน่วยข่าวประเมินร่วมกันแล้ว จะให้ไม่มีเหตุรุนแรงเหลือเลย เป็นไปได้ยากมาก เพราะการบ่มเพาะแนวคิดรุนแรงและแนวคิดแบ่งแยกดินแดนยังคงมีอยู่ ซึ่งยากที่ฝ่ายรัฐจะขัดขวางได้ แต่ก็ถือเป็นความท้าทายที่มีการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงาน" แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าว
@@ เปิดตัวเลข “กลุ่มป่วนใต้ที่ยังเคลื่อนไหว” 753 ราย
ข้อสังเกตเรื่องการบ่มเพาะแนวคิดรุนแรงที่ยังมีอยู่ สอดคล้องกับข้อมูลที่ "ทีมข่าวอิศรา” ได้มาก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยตัวเลข “ผู้ก่อความไม่สงบ” ที่คนทั่วไปอาจจะเรียกว่า “โจรใต้” ทั้งกลุ่มที่มีคดีติดตัว มีหมายจับ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในทางลับ ไม่มีหมายจับ มีอยู่ทั้งสิ้น 963 คน แยกเป็น
มีหมายจับและพบการเคลื่อนไหว 367 คน
มีหมายจับ แต่ไม่พบการเคลื่อนไหว 193 คน
ไม่มีหมายจับ แต่ยังเคลื่อนไหว 386 คน
และบุคคลที่หน่วยพิจารณาขอตัดชื่อออกจากบัญชี 17 คน (อยู่ระหว่างกระบวนการ)
ในกลุ่มมีหมายจับและยังเคลื่อนไหว 367 ราย แยกเป็นพื้นที่
จ.ยะลา 77 ราย
จ.ปัตตานี 116 ราย
จ.นราธิวาส 149 ราย
จ.สงขลา 25 ราย
( อีก 193 ราย มีหมายจับแต่ไม่พบการเคลื่อนไหว )
ส่วนกลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่พบการเคลื่อนไหว (ถ้าเป็นคนใหม่ หน้าใหม่ จะเรียก ผกร.หน้าขาว หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงหน้าขาว) จำนวน 386 ราย แยกเป็น
จ.ยะลา 184 ราย
จ.นราธิวาส 42 ราย
จ.ปัตตานี 58 ราย
จ.สงขลา 102 ราย
นับเฉพาะกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหว 753 คน ก็ไม่ยากนักหากฝ่ายความมั่นคงจะจำกัดเสรีการเคลื่อนไหว แต่หากจะให้สันติสุขเกิด ต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคนเหล่านี้ให้ได้ รวมทั้งประชาชนทั่วไปไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยชอบรัฐ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่และรัฐบาล
คำถามคือ รัฐได้เดินงานเรื่องนี้บ้างหรือยัง?