ในที่สุด "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่รวมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ก็ได้ฤกษ์กลับบ้านในช่วงเช้าของวันพุธที่ 15 ธ.ค.64 หลังจากรัฐบาลยอมถอย เปิดทางให้ทำ SEA โดยไม่มี กพต.นั่งหัวโต๊ะ
หลายคนอาจจะมีคำถามว่า SEA คืออะไร?
คำตอบก็คือ การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน ในระดับที่ลึกกว่า EIA กับ EHIA (EIA เน้นสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว EHIA ครอบคลุมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน)
เอกสารของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ; สศช.) ให้คำจำกัดความของ SEA เอาไว้ว่า หมายถึง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) คือ "กระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งต้องนำผลไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน"
นี่คือความหมายอย่างเป็นทางการของ SEA จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และเป็นข้อเรียกร้องที่มีมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว (2563) ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจัง ไม่ทำให้เป็นปัญหาการเมือง (ระหว่างนายกฯ กับผู้กองธรรมนัส) เรื่องนี้ก็น่าจะเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ต้องให้ชาวบ้านมาทวงสัญญาซ้ำอีกในปีนี้จนเกือบเกิดสถานการณ์บานปลาย
อังคารที่ 14 ธ.ค.64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาให้เริ่มต้นทำ SEA โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ แต่ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่ปักหลักชุมนุมรอฟังอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ยินยอม เพราะทราบข้อมูลมาว่า ในมติ ครม. ยังจะให้ กพต.เป็นผู้รับผิดชอบทำ SEA
คำถามอีกข้อคือ กพต. คือใคร?
กพต. ก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ กฎหมาย ศอ.บต. / ฉะนั้น กพต. คือ โครงสร้างที่อยู่ใต้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ปรากฏว่า "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ไม่ยอมรับ กพต. เพราะมองว่าอยู่ใต้ ศอ.บต. ซึ่งชาวบ้านไม่ไว้วางใจ และกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่ "คนกลาง" เนื่องจากผู้บริหารบางคนใน ศอ.บต. แสดงท่าทีสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมชัดเจน
แต่ในที่สุดตัวแทนรัฐบาล (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ก็ได้ออกมายืนยันกับ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ว่าการทำ SEA จะไม่มี กพต.นั่งหัวโต๊ะ และได้นำมติ ครม.ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์รัฐบาลไทยมายืนยันกับผู้ชุมนุม ทำให้ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" พึงพอใจ และประกาศเดินทางกลับบ้าน
@@ 3 ปัจจัยชายแดนใต้ป่วนหนักรับนายกฯลงพื้นที่
ท่ามกลางปัญหา "ม็อบจะนะ" ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี ในวันพุธที่ 15 ธ.ค.พอดิบพอดี
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ร้อนระอุเป็นพิเศษ มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นทุกวัน ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.จนถึงวันอังคารที่ 14 ธ.ค. ทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิด ขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ วางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ วางระเบิดรถไฟ ไม่เว้นแม้กระทั่งวางระเบิดพระสงฆ์ขณะออกบิณฑบาต และพ่นสีบนพื้นถนน รวมแล้ว 13 เหตุการณ์
เหตุรุนแรงในช่วงนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกันคือ
1.การวิสามัญฆาตกรรม นายอิสมะแอ มะหนุ๊ แกนนำระดับสั่งการของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคง 5 หมายจับ
นายอิสมะแอ มีชื่อในบัญชีของฝ่ายความมั่นคงมานาน บ้านเดิมอยู่ใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
นายอิสมะแอ กับพวกไปก่อเหตุซุ่มยิงชาวบ้านหาของป่าใน อ.ศรีสาคร และชาวบ้านกลุ่มนี้เป็น อรบ. (ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน) จึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย ฝ่ายคนร้ายโดนยิงได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่จึงตามไปปิดล้อม และยิงปะทะกันอีกระลอก สุดท้ายพบศพ นายอิสมะแอ มะหนุ๊ หลังจากนั้นก็มีการแห่ศพ และมีการก่อเหตุตอบโต้เอาคืนตามมาหลายระลอก ในพื้นที่ อ.ศรีสาคร และสุไหงปาดี
2.กรณีฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล จากการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
จากสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในห้วง 10 วันที่ผ่านมา มีการพ่นสีถนนตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. เป็นข้อความ "saveจะนะ" สนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม จากนั้นมีการพ่นสีต่อเนื่องหลายจุด ไม่ใช่แค่จุดเดียวตามที่เป็นข่าว และยังมีการแขวนป้ายผ้าด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น โฆษกบีอาร์เอ็นก็ออกมาแถลงโจมตีรัฐบาล และสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
หลังจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงตามมาหลายเหตุการณ์ ซึ่งคาดว่าอาจโยงประเด็นจะนะ เพราะข้อมูลการข่าวของฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมีท่าทีไม่ต้องการให้เกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่
3.ข่าวนายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี ในวันพุธที่ 15 ธ.ค. จึงมีการก่อเหตุรุนแรงรับนายกฯ เพื่อส่งสัญญาณให้เห็นว่า กลุ่มก่อความไม่สงบยังมีอยู่ และยังมีตัวตน ซึ่งการก่อเหตุในช่วงเวลาแบบนี้ สามารถสร้างข่าวได้มากกว่าการก่อเหตุในช่วงเวลาปกติ และข่าวออกไปถึงต่างประเทศ
@@ เปิดกำหนดการนายกฯล่องใต้ เน้นงาน ศอ.บต.
การพยายามก่อเหตุรุนแรงเพื่อประกาศตัวตนและส่งสัญญาณถึงนายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศว่าพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีปัญหาความไม่สงบอยู่นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้มองว่าได้จัดการปัญหาไฟใต้ได้จนเกือบสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ในแง่ของการควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัย
มีสถิติเหตุรุนแรงที่ฝ่ายความมั่นคงเตรียมรายงานนายกฯ ช่วงลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี ว่าฝ่ายกองกำลัง ทั้งทหาร ตำรวจ และปกครอง ได้ดูแลควบคุมพื้นที่ จนสามารถลดจำนวนเหตุรุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ
- สถิติการก่อเหตุรุนแรงในห้วงเดือน พ.ย.64 มีเหตุการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด จำนวน 8 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย
- เมื่อเปรียบเทียบสถิติเหตุการณ์ และความสูญเสียกับห้วงเดือน ต.ค.64 พบว่ามีเหตุการณ์ลดลงจำนวน 2 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 20 และในห้วงวันที่ 1 -14 ธันวาคม 2564 มีเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 8 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บจำนวน 12 ราย (จริงๆ มีเสียชีวิต 1 ราย จากเหตุยิงชาวบ้านปาของป่า ที่เป็น อรบ.)
จะเห็นได้ว่ามุมมองของฝ่ายความมั่นคง มองว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงไม่แปลกที่ทิศทางของนายกฯจะมุ่งไปที่งานพัฒนา และให้น้ำหนักกับงานของ ศอ.บต.มากเป็นพิเศษ เพราะกำหนดการล่องใต้ของนายกฯ ส่วนใหญ่ทุ่มไปกับงานพัฒนา และการพรีเซนต์แผนงานพัฒนาของ ศอ.บต. เช่น โครงการเมืองแห่งพืชพลังงาน เมืองปศุสัตว์ เมืองผลไม้ และพบปะสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูดำใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อพัฒนาสู่ "เมืองปูทะเลโลก"
@@ ไฟใต้มอดดับแล้วจริงหรือ?
กำหนดการของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างวางใจกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง เหมือนเชื่อว่า "กองทัพเอาอยู่" ฉะนั้นประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากในพื้นที่ส่งสัญญาณว่าใกล้ความสงบและสันติสุขจริงหรือไม่
ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่น่านำมาพิจารณาก็คือ สถิติระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา (4 อำเภอรอยต่อ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และ อ.หาดใหญ่)
ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (ต.ค.64) เกิดระเบิดทุกรูปแบบ ทุกประเภทมาแล้วทั้งหมด 4,837 ครั้ง แยกเป็น
จ.ยะลา 1,348 ครั้ง
จ.ปัตตานี 1,144 ครั้ง
จ.นราธิวาส 2,247 ครั้ง
4 อำเภอ จ.สงขลา 98 ครั้ง
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 18 ครั้ง
เฉพาะปี 2563 เกิดเหตุระเบิดทั้งหมด 63 ครั้ง แยกเป็น
จ.ยะลา 5 ครั้ง
จ.ปัตตานี 6 ครั้ง
จ.นราธิวาส 55 ครั้ง
4 อำเภอ จ.สงขลา 2 ครั้ง
เฉพาะปี 2564 นับถึงแค่เดือนตุลาคม มีระเบิดเกิดขึ้นทั้งหมด 118 ครั้ง แยกเป็น
จ.ยะลา 20 ครั้ง
จ.ปัตตานี 15 ครั้ง
จ.นราธิวาส 81 ครั้ง
4 อำเภอ จ.สงขลา 2 ครั้ง
เฉพาะเดือน ต.ค.64 เกิดเหตุระเบิด 8 ครั้ง แยกเป็น
จ.ยะลา 1 ครั้ง
จ.ปัตตานี 1 ครั้ง
จ.นราธิวาส 6 ครั้ง
จะเห็นได้ว่าแม้สถิติการเกิดระเบิดจะลดลงกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงปีหลังๆ ของสถานการณ์ไฟใต้ แต่หากนับเฉพาะปี 63 กับปี 64 จำนวนเหตุระเบิดก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวถ้านับถึงปัจจุบัน
และหากนับเฉพาะระเบิดที่วางไว้ใน "ท่อลอดใต้ถนน" ซึ่งเป็นระเบิดขนาดใหญ่ น้ำหนักดินระเบิดหลายสิบกิโลกรัม ไปจนถึง 80 กิโลกรัม เฉพาะระเบิดรูปแบบนี้ ใน จ.ปัตตานี พื้นที่เดียวเกิดไปถึง 16 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา แต่ละครั้งสร้างความเสียหายใหญ่หลวง
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เหตุระเบิดในระยะหลัง ปรับเปลี่ยนมาเป็น "ไปป์บอมบ์ชนิดขว้าง" มากขึ้น เนื่องจาก
1.เจ้าหน้าที่รู้ทางกลุ่มก่อความไม่สงบ วางกำลังจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า "จำกัดเสรี" ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้มากขึ้น
2.ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ผ่านการฝึก และมีประสบการณ์ในการก่อเหตุรุนแรงลดจำนวนลง บางส่วนถูกจับ บางส่วนถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะ
นับเฉพาะปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ 1 ต.ค.63 ถึง 30 ก.ย.64 มีสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตจากการปะทะมากถึง 13 ราย (ข้อมูลจากฝ่ายกองกำลัง) และถ้านับเวลาที่เหลือของปี 64 คือ ไตรมาสสุดท้าย เดือน ต.ค.ถึง ธ.ค. น่าจะมีกลุ่มก่อความไม่สงบถูกวิสามัญฯ เสียชีวิตไปแล้วอีกหลายราย รวมๆ กับ 13 รายแรก น่าจะพุ่งสูงถึง 20 รายเลยทีเดียว
ความสูญเสียเหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพในการก่อเหตุลดลง แต่ประเด็นที่น่าคิดก็คือ เจตจำนงในการต่อสู้กับรัฐโดยใช้ความรุนแรงไม่ได้หมดไป
@@ กลุ่มป่วนใต้ "มีหมาย - หน้าขาว" เฉียด 1 พันคน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยตัวเลข "ผู้ก่อความไม่สงบ" ที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า "โจรใต้" ทั้งกลุ่มที่มีคดีติดตัว มีหมายจับ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในทางลับ ไม่มีหมายจับ รวมไปถึงผู้ก่อเหตุรุนแรงหน้าใหม่ที่ไม่มีหมายจับ หรือหมาย พ.ร.ก. ที่เรียกกันในวงการว่า "ผกร.หน้าขาว"
ข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีการเก็บรวบรวมโดยฝ่ายความมั่นคง มีอยู่ทั้งสิ้น 963 คน แยกเป็น
- กลุ่มที่มีหมายจับและพบการเคลื่อนไหว 367 คน
- กลุ่มที่มีหมายจับ แต่ไม่พบการเคลื่อนไหว 193 คน
- กลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่ยังเคลื่อนไหว 386 คน
- และบุคคลที่หน่วยพิจารณาขอตัดชื่อออกจากบัญชี 17 คน (อยู่ระหว่างกระบวนการ)
ในกลุ่มมีหมายจับและยังเคลื่อนไหว 367 ราย แยกเป็นพื้นที่ได้ดังนี้
- จ.ยะลา 77 ราย
- จ.ปัตตานี 116 ราย
- จ.นราธิวาส 149 ราย
- จ.สงขลา 25 ราย
(อีก 193 ราย มีหมายจับแต่ไม่พบการเคลื่อนไหว)
ส่วนกลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่พบการเคลื่อนไหว (ถ้าเป็นคนใหม่ หน้าใหม่ จะเรียก ผกร.หน้าขาว) จำนวน 386 ราย แยกเป็น
จ.ยะลา 184 ราย
จ.นราธิวาส 42 ราย
จ.ปัตตานี 58 ราย
จ.สงขลา 102 ราย
ประเด็นก็คือ ถ้าไม่แก้ปัญหาคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และยังมีผู้สนับสนุนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่กฎหมายเอื้อมมือไม่ถึง ปัญหาไฟใต้ก็ไม่มีทางสงบ
หลายคนมองไปที่การเจรจา หรือพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ปัจจุบันโต๊ะพูดคุยหยุดชะงัก เพราะติดสถานการณ์โควิด-19 แม้จะมีการติดต่อกันทางออนไลน์บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมีนับสำคัญ
คำถามก็คือ ตกลงแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาไฟใต้สำเร็จหรือไม่ ทั้งๆ ที่มีอดีต ผบ.ทบ.ถึง 3 คน (พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร) โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหามาตั้งแต่เป็นแม่ทัพ และอยู่ใน 5 เสือ ทบ. ซึ่งมีบทบาทใน กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) รวมๆ แล้วไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสถานการณ์ไฟใต้ 17-18 ปี ซึ่งหมดงบประมาณไปแล้ว 3-4 แสนล้านบาท
งานนี้ต้องให้ประชาชนช่วยกันตัดสิน!
@@ นายกฯล่องใต้ครั้งที่ 6 - เพจ BRN เตือนชาวบ้าน
นับตั้งแต่เข้าควบคุมการปกครองเมื่อปี 57 และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว 5 ครั้ง ประกอบด้วย
25 ก.ค.59 - ลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรกในฐานะนายกฯ ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
27 พ.ย.60 - เปิดตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนใต้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
4 เม.ย.61 - เปิดงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนใต้ จ.ปัตตานี
7 ส.ค.62 - เปิดอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนใต้ จ.ยะลา
20-21 ม.ค.63 - ครม.สัญจรที่ จ.นราธิวาส
ล่าสุดในการลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี ในวันพุธที่ 15 ธ.ค.64 ปรากฏว่าเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "BRN Barisan Revolusi Nationnal" ซึ่งอ้างตัวว่า เป็นกลุ่ม BRN (ขบวนการที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นขบวนการหลักในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธมาตลอดเกือบ 18 ปี) ได้ลงภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะพบปะชาวบ้านมุสลิม พร้อมมีข้อความตอนหนึ่งว่า
"ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรม (ต้อนรับนายกฯ) เนื่องจากมีปรากฏการณ์อันไม่ปกติของกองกำลังสันติบาลและหน่วยจรยุทธ์ในพื้นที่ จึงหวั่นเกรงว่าจะมีการปฏิบัติการที่ไม่ปกติและอ้างการปฏิบัติการณ์ดังกล่าวว่า เป็นฝีมือของกองกำลังนักรบปาตานี ในการนี้ทาง BRN จึงขอแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์แก่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวให้ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ"
สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่อ้างตัวเป็น BRN นี้ ไม่มีฝ่ายใดยืนยันว่าเป็นเพจของขบวนการ BRN จริงๆ ขณะที่ภาคประชาสังคมบางกลุ่มในพื้นที่เชื่อว่าเป็นเพจของเจ้าหน้าที่สวมรอยเพื่อทำสงครามข้อมูลข่าวสาร แต่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเพจนี้ และมีการจับตาความเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษ