ควันหลงวันธรรมนูญ 10 ธันวาคมของทุกปี วันที่มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครองของไทย แต่หลายคนรู้สึกเพียงแค่ว่าเป็นวันหยุดราชการวันหนึ่ง
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนานถึง 89 ปีแล้ว มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมากถึง 20 ฉบับ ติดอันดับมากที่สุดในโลก และรัฐธรรมนูญไทยหลายๆ ฉบับติดอันดับเขียนยาวที่สุดในโลกด้วย
แต่น่าแปลกใจว่าเหตุใดคนไทยจึงมีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งเด่นเป็นสง่าบนถนนราชดำเนิน
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายภาพรัฐธรรมนูญไทยในเงามืด โดยเปรียบเทียบว่าเป็น “รัฐธรรมนูญในพื้นที่สีเทา”
ทำไมและเพราะอะไร...ติดตามอ่านได้ ณ บรรทัดจากนี้ไป...
รำลึกวันรัฐธรรมนูญ 2564
วันที่ 10 ธันวาคม หรือ “วันรัฐธรรมนูญ” ของสังคมไทยเวียนมาครบรอบอีกวาระหนึ่ง ว่าที่จริงแล้วในบริบทการเมืองไทยนั้น วันรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ยกเว้นเป็นวันหยุดราชการที่เราจะได้พักผ่อนเพิ่มอีกวันหนึ่ง อีกทั้งผู้คนในสังคมเองก็แทบจะไม่มีความทรงจำหลงเหลืออยู่มากนักกับการกำเนิดของ “รัฐธรรมนูญสยาม” ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในปี 2475
@@ ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างมากจากฝ่ายอนุรักษนิยมและจารีตนิยม ที่ต้องการ “ด้อยค่า” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม จนทำให้ “คณะราษฎร” กลายเป็น “ตัวร้าย” ในการเมืองไทย ทั้งยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ “หักล้างประวัติศาสตร์” ที่ฝ่ายขวาต้องการทำลายผลพวงของการเปลี่ยนแปลงนั้น จนอาจต้องเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “กบฎบวรเดชในศตวรรษที่ 21” ที่สะท้อนชัดถึงความต้องการที่จะพาสังคมปัจจุบันกลับสู่โลกของสยามในอดีต
แน่นอนว่า ความพยายามเช่นนี้ไม่เพียงเสริมสร้าง “อุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย” เท่านั้น หากยังสะท้อนถึงภาวะของการขาดความตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดในปีดังกล่าวของสยามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกในช่วงทศวรรษของปี 2473 (ทศวรรษของปี คศ. 1930) และสยามเองก็ถูกแวดล้อมด้วย “กระแสรัฐธรรมนูญนิยม” ที่ปรากฏตัวในช่วงเวลาดังกล่าว อันทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมที่ก่อตัวขึ้นในสยามหลัง 2475 เป็นตัวแทนของ “ความเป็นสมัยใหม่” ของการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยาม และการเปลี่ยนเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสันติ เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซีย ในจีน หรือในตุรกี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างรากฐานของระบอบรัฐธรรมนูญนิยมใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายในสยาม เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ รัฐประหารในการเมืองไทยครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกในปี 2490 ความสำเร็จเช่นนี้สะท้อนถึงการสิ้นสุดของ “ยุคคณะราษฎร” เพราะทิศทางและแนวนโยบายของผู้ก่อการครั้งนั้นได้ถูกยกเลิกไป และรัฐประหารนี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างรากฐานของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในการเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน
การปิดฉากคณะราษฎรยังส่งผลให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมที่เริ่มก่อตัวขึ้น ประสบภัยพิบัติตามไปด้วย และตามมาด้วยการรัฐประหารของฝ่ายขวาที่เกิดขึ้นมาเป็นลำดับ จนระบอบรัฐธรรมนูญแทบไม่มีความหมายอะไร เพราะการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ “ธรรมนูญการปกครอง” ที่เกิดจากการยึดอำนาจของผู้นำทหาร และหลังการยึดอำนาจแล้ว พวกเขาก็จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง และหาหนทางกลับสู่อำนาจ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียง “เกมกล” ของผู้นำรัฐประหารในการได้อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้ง หรือกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า รัฐธรรมนูญเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยของการสร้าง “ระบอบพันทาง” (ระบอบไฮบริด)
แต่เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำปีกขวาไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะ “ฉีก” รัฐธรรมนูญได้เสมอ ในสภาวะเช่นนี้ การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญจึงกลาย “ภาวะชั่วคราว” ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะสะดุดลงเมื่อใด และขณะเดียวกัน สถาบันตุลาการเองก็ยอมรับว่า การได้อำนาจรัฐด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จนถึงกับกล่าวว่า คณะรัฐประหารคือ “องค์อธิปัตย์” ที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เรากำหนดกติกาในทางการเมืองกันแล้วว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็น “กบฏ”
ผลเช่นนี้ทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมในไทยอยู่ใน “พื้นที่สีเทา” มาโดยตลอด และขณะเดียวกันก็เป็นระบอบที่ฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมสุดขั้ว มักจะแสดงการต่อต้านด้วยความรังเกียจเสมอ การขับเคลื่อนของฝ่ายต่อต้านเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยไทยต้อง “ประสบอุบัติเหตุ” ในระหว่างการเดินทางเสมอ
สภาวะเช่นนี้ทำให้ สิ่งที่เรามักจะถูกพร่ำสอนมาอย่างยาวนานว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายแม่บทที่ใครจะละเมิดมิได้นั้น ไม่มีความหมายที่แท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญไทยถูกฉีกมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จน “วันรัฐธรรมนูญ” แทบจะกลายเป็น “ความย้อนแย้ง” ในการเมืองไทยอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่า เราจะจดจำ “วันฉีกรัฐธรรมนูญ” ได้มากกว่า “วันรัฐธรรมนูญ”
@@ มุมมองทางรัฐศาสตร์
แต่ถ้าเราต้องคิดเพิ่มเติมด้วยมุมมองทางรัฐศาสตร์แล้ว เราอาจจะกล่าวถึง “รัฐธรรมนูญในอุดมคติ” ด้วยข้อสังเกตอย่างสังเขป 5 ประการ ดังนี้
1) รัฐธรรมนูญ คือ เครื่องมือของการกำหนดทิศทางการพัฒนาทางการเมืองของประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญไม่เพียงกำหนดความสัมพันธ์ทางการเมืองของสามสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น (คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หากสาระของรัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงรูปแบบการปกครองของรัฐนั้นๆ ตลอดรวมถึงอุดมคติทางการเมืองแห่งรัฐอีกด้วย
2) รัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดกระบวนการการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันการได้อำนาจรัฐนั้น จะได้มาบนพื้นฐานของ “ฉันทานุมัติประชาชน” ที่ผ่านการแข่งขันทางการเมืองอย่าง “เสรีและเป็นธรรม” (หลักการ free and fair elections)
3) รัฐธรรมนูญ คือ ข้อกำหนดในการสร้างพื้นฐานของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่จะเดินไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งของสังคมการเมือง (ขั้นตอนของ democratic consolidation ในทางทฤษฎี)
4) รัฐธรรมนูญ คือ ปัจจัยเบื้องต้นที่เป็น “ฉันทามติ” ของกลุ่มการเมืองและภาคประชาสังคมที่จะใช้เป็นกรอบกติกาการเมืองของประเทศ ไม่ใช่เป็นกฎหมายเพื่อการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ประเด็นเรื่องของ democratic procedures ในกระบวนการเมือง)
5) รัฐธรรมนูญ คือ หลักประกันพื้นฐานของการมีองค์ประกอบหลักสี่ส่วนของระบอบประชาธิปไตยคือ นิติรัฐ เสรีภาพทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษย์ชน ซึ่งองค์ประกอบทั้งสี่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “บรรทัดฐานสากล” ของอารยรัฐในเวทีการเมืองโลกปัจจุบัน
@@ โลกแห่งความย้อนแย้ง!
ด้วยมุมมองของรัฐธรรมนูญทางรัฐศาสตร์เช่นนี้ อาจจะพอช่วยสำหรับการคิดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคตได้บ้าง ไม่ใช่เป็น “รัฐธรรมนูญสีเทา” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับวันรัฐธรรมนูญที่เวียนมาครบรอบอีกครั้ง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้นำการเมืองไทยในปัจจุบันก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจ และถ้าวันนี้พวกเขาต้องออกมาแสดงบทในเวทีสาธารณะถึงความสำคัญของระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว พวกเขาจะกล่าวเช่นไร
หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียง “ตลกร้าย” ในการเมืองไทยที่ “คนฉีกรัฐธรรมนูญ” สุดท้ายแล้วก็ต้องอยู่ในอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ…โลกของการเมืองไทยของฝ่ายขวาช่างย้อนแย้งสิ้นดี!
----------
ภาพพานรัฐธรรมนูญ จากวิกิพีเดีย