แม่ทัพภาค 4 สั่งคุมชายแดนใต้สกัดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน นราธิวาสเฝ้าระวังชายแดน 106 กิโลเมตรในพื้นที่ 3 อำเภอ ส่วน "ชุดจรยุทธ์เบตง" ออกลาดตระเวนเข้มตลอดแนวรั้วชายแดน ด้านตัวเลขติดเชื้อใหม่ 4 จังหวัดใต้ลดลงเหลือ 381 ราย ป่วยดับ 1 ศพ
วันอังคารที่ 7 ธ.ค.64 ภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ยอดผู้ป่วยใหม่แต่ละจังหวัดเริ่มต่ำกว่า 200 ราย แต่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ยังคงติดอยู่ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดของประเทศ ขณะที่ จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดที่ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดต่อเนื่องเป็นเวลา 20 วันแล้ว
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ณ วันอังคารที่ 7 ธ.ค. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวมทั้งสิ้น 381 ราย และเสียชีวิต 1 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 159 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 64,309 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 64,286 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 4,019 ราย รักษาหายแล้ว 60,011 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 279 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,266 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 15,290 ราย, อ.เมืองสงขลา 8,457 ราย, อ.จะนะ 8,433 ราย, อ.สิงหนคร 5,280 ราย, อ.สะเดา 4,887 ราย, อ.เทพา 4,811 ราย, อ.รัตภูมิ 3,853 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,403 ราย, อ.นาทวี 1,745 ราย, อ.บางกล่ำ 1,674 ราย, อ.ระโนด 1,120 ราย, สทิงพระ 944 ราย, ควนเนียง 848 ราย, อ.นาหม่อม 664 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 430 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 101 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,420 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 923 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 103 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 46,803 ราย รักษาหายแล้ว 43,778 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 458 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 97 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 26 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 180 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 297 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 33 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 40 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 108 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 97 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 10 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน - โรงยิมบานา 3 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 56 ราย และ Home Isolation 310 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,815 ราย, อ.ไม้แก่น 1,128 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,654 ราย, อ.หนองจิก 4,637 ราย, อ.โคกโพธิ์ 3,034 ราย, อ.สายบุรี 5,660 ราย, อ.แม่ลาน 731 ราย, อ.ยะรัง 4,486 ราย, อ.ปะนาเระ 1,764 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,096 ราย, อ.มายอ 4,570 ราย และ อ.กะพ้อ 1,786 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 74 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 47,701 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,225 ราย รักษาหายแล้ว 48,185 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 334 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 17,226 ราย, อ.เบตง 5,049 ราย, อ.รามัน 6,311 ราย, อ.ยะหา 5,594 ราย, อ.บันนังสตา 7,284 ราย, อ.ธารโต 2,387 ราย, อ.กาบัง 1,291 ราย และ อ.กรงปินัง 2,559 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,225 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 89 ราย, โรงพยาบาลเบตง 47 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 174 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 136 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 61 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 0 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 0 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 7 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 7 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 524 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 180 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 11 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย,อ.ยี่งอ 1 ราย, อ.จะแนะ 3 ราย, อ.แว้ง 2 ราย, อ.รือเสาะ 9 ราย, อ.บาเจาะ 14 ราย, อ.ระแงะ 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 42,271 ราย รักษาหายสะสม 41,621 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 379 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,458 ราย, อ.ระแงะ 4,936 ราย, อ.รือเสาะ 2,284 ราย, อ.บาเจาะ 3,670 ราย, อ.จะแนะ 1,786 ราย, อ.ยี่งอ 3,040 ราย, อ.ตากใบ 3,198 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,633 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,384 ราย, อ.ศรีสาคร 2,098 ราย, อ.แว้ง 2,330 ราย, อ.สุคิริน 1,203 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,249 ราย
@@ แม่ทัพภาค 4 สั่งคุมชายแดนใต้สกัดโอไมครอน
หลังจากมีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศไทย อีกทั้งประเทศมาเลเซียยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้บรรยากาศตามแนวชายแดนภาคใต้ทุกจุดมีการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวด
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 แสดงความเป็นห่วงเรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทั้งนราธิวาสและสงขลา จึงสั่งการให้กองกำลังป้องกันชายแดน ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังเทพสตรี หรือกองร้อยป้องกันชายแดนที่ดูแลพื้นที่ เพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้นผู้ที่ลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมาย หากตรวจพบต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการตรวจค้นเข้าเมือง เข้ารับมาตรการตรวจหาเชื้อ และกักกัน รวมทั้งมีการลงโทษโดยจ่ายค่าปรับ
ส่วนมาตรการคัดกรองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร และอาสารักษาดินแดน (อส.) คอยสกัดกั้นอยู่ เมื่อเข้ามาในพื้นที่ตอนในก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ดูแลอีกชั้นหนึ่ง หากหลุดเข้าไปถึงในพื้นที่หมู่บ้าน ก็จะเป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ. อรบ. (ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน) ที่จะคอยสอดส่องดูแล และนำบุคคลกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการกักตัวและตรวจหาเชื้อโรคต่อไป
@@ เฝ้าระวังชายแดน 106 กม. 3 อำเภอนราธิวาส
ส่วนพื้นที่ชายแดนฝั่ง จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองป้องกันชายแดนได้นำกำลังออกลาดตระเวนอย่างเข้มข้นตลอดแนวชายแดนในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.แว้ง อ.สุไหงโกลก และ อ.ตากใบ ระยะทางรวม 106 กิโลเมตร ทั้งทางบกและทางน้ำ พร้อมเพิ่มกำลังเฝ้าระวังคุมเข้มแนวชายแดนและช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวที่อาจลักลอบข้ามมา เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจนำเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศได้
ด้าน พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้เดินทางมายังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ในการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซีย พร้อมทั้งได้เดินทางลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามช่องทางธรรมชาติ บริเวณบ้านน้ำตก ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางธรรมชาติที่มีแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีข้ามแดนเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย
พล.ต.วรเดช กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 4 มีความห่วงใยสถานการณ์โควิด จึงเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มมาตรการและสกัดกั้นการเข้า-ออกของบุคคลตามช่องทางผิดกฎหมายให้ได้ 100% โดยมุ่งเน้นด้านการข่าวและมุ่งเน้นให้ปฏิบัติในห้วงเวลากลางคืน เพื่อสกัดกั้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวและคนไทยที่ไม่ผ่านการคัดกรองโควิด-19 ข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย
นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือสั่งการมายังจังหวัดที่เป็นแนวชายแดน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบคุมเข้มพื้นที่ ทั้งตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และทหาร ซึ่งถือเป็นด่านแรก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โควิดสายพันธุ์ใหม่ข้ามเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่วนด่านที่สองเป็นด่านที่เป็นจุดตรวจต่างๆ ชั้นในเข้ามา ให้เข้มงวดกวดขันคนที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และตามหมู่บ้าน ตำบล ก็ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและฝ่ายปกครองดูแลสอดส่องพี่น้องประชาชนที่ข้ามมาจากประเทศมาเลเซีย
@@ ชุดจรยุทธ์เบตง ลาดตระเวนเข้มตลอดแนวรั้วชายแดน
วันเดียวกันนี้ ร.อ.เอกชัย ไชยสาลี ผู้บังคับกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 1 อ.เบตง จ.ยะลา ได้จัดชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ ออกลาดตระเวนเดินเท้าเลาะชายแดนในพืน้ที่บ้านจาเราะปูโงะ เทศบาลเมืองเบตง บริเวณหลักเขตที่ 52/27 วางกำลังคุมเข้มตลอดเส้นทาง ประมาณ 22 กิโลเมตร เพื่อสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติ และหากตรวจพบต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการผ่านเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด
ร.อ.เอกชัย กล่าวว่า จากสภาพเขตแดน อ.เบตง เป็นลักษณะแนวกำแพงคอนกรีต สลับกับรั้วลวดหนามแน่นหนา กั้นเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย สลับกับป่าภูเขา ลักษณะภูมิประเทศซับซ้อนยากต่อการเดินทางข้ามแดน ทำให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาเส้นทางนี้ค่อนข้างน้อย ที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เข้าไปหาของป่ามากกว่า แต่กำลังเจ้าหน้าที่ก็ยังคงคุมเข้มทุกตารางนิ้วในการเฝ้าระวัง ไม่ประมาท
@@ แรงงานแคมป์ก่อสร้างยะลา ติดเชื้อเพิ่มอีก 9 ราย
ด้านคลัสเตอร์แคมป์คนงานใน อ.เมืองยะลา เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบแคมป์พักคนงานก่อสร้างของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บำรุงโยธากิจ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่12 ต.สะเตงนอก เพื่อตรวจหาแรงงานติดเชื้อโควิดเป็นรอบที่ 3 หลังจาก 2 รอบก่อนหน้านี้พบแรงงานติดเชื้อรวม 103 คน
ผลการตรวจ ATK รอบที่ 3 จากแรงงานก่อสร้างที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 82 ราย พบติดเชื้อ 9 คน เป็นชาย 7 คน และหญิง 2 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้จัดชุดยาพาวิฟิราเวียร์ให้กับแรงงานที่ติดเชื้อได้รับประทานทันที และกำชับให้มีการกักตัวผู้ที่ติดเชื้อให้อยู่ภายในบริเวณที่พัก และจะมีการตรวจประเมินติดตามอาการอย่างต่อเนื่องต่อไป