กรณี "ซุกหมายจับเสี่ยโจ้" กำลังสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะในชั้นก่อนฟ้อง
เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ย.64 ตำรวจสอบสวนกลางแถลงจับ "เสี่ยโจ้" ในลักษณะแถลงข่าวใหญ่ มีการทำฉากแบ็คดรอป เขียนข้อความว่า "เสี่ยโจ้ ปัตตานี เจ้าพ่อน้ำมันเถื่อน" และตำรวจยังมีการให้ข่าวกับสื่อมวลชนทำนองว่า ผู้ต้องหารายนี้เป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
การจับกุมเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางคืนของวันพฤหัสฯที่ 4 พ.ย.64 โดยใช้หมายจับในคดีฟอกเงินจากการค้าน้ำมันเถื่อน เป็นหมายจับของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
หลังการแถลงข่าว ได้มีการคุมตัว "เสี่ยโจ้" ไปส่งอัยการจังหวัดสงขลา แต่มีการให้ข่าวในวันที่ 6 พ.ย.64 ซึ่งเป็นวันเสาร์ว่า คุมตัว "เสี่ยโจ" ส่งอัยการสงขลา เพื่อบังคับโทษในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก "เสี่ยโจ้" เรียบร้อยแล้ว
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบข้อมูลนี้ และพบประเด็นน่าสงสัยว่า หากนำตัว "เสี่ยโจ้" ไปบังคับโทษตามคำพิพากษา น่าจะต้องส่งอัยการจังหวัดปัตตานีมากกว่า ไม่ใช่อัยการจังหวัดสงขลา เนื่องจากคำพิพากษาของศาลที่ให้จำคุก "เสี่ยโจ้" เป็นคำพิพากษาของศาลจังหวัดปัตตานี (ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์)
หากย้อนเวลากลับไป "เสี่ยโจ้" เคยถูกทหารกองทัพภาคที่ 4 ค้นบ้าน ค้นสำนักงานใน จ.ปัตตานี มาตั้งแต่ช่วงปี 2555 เพราะสงสัยว่าเป็นเครือข่าย "ภัยแทรกซ้อน" ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ค้าของผิดกฎหมาย (น้ำมันเถื่อน) แล้วนำเงินส่วนหนึ่งไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ ในลักษณะให้เคลื่อนไหวเกื้อหนุนกัน เช่น ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หนึ่ง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ จะได้เปิดทางโล่งในอีกพื้นที่หนึ่งเพื่อขนน้ำมันเถื่อนได้อย่างสะดวก
แต่ข้อกล่าวหานี้ไม่มีหลักฐานชัดเจนเอาผิด "เสี่ยโจ้" ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ "เสี่ยโจ้" ด้วย
ความพยายามดำเนินคดี "เสี่ยโจ้" ในข้อหาอื่นๆ ยังมีอีกหลายข้อหา มีการนำกำลังเข้าค้นบ้านอีกหลายครั้ง มีการย้อนดูคดีเก่าที่เคยโดนแจ้งความและออกหมายจับ ทั้งหวยเถื่อน ค้าไม้เถื่อน และมีข่าวครึกโครมเรื่องการพบ "บัญชีส่วย" ที่จดบันทึกตัวเลขการจ่ายเงินนอกระบบให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะตำรวจ และดีเอสไอ มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักล้าน
รายการที่มียอดจ่ายสูงสุดคือ 12 ล้านบาท ระบุตำแหน่งผู้รับเอาไว้ชัดเจน เป็นตำรวจระดับผู้บังคับการ ซึ่งเรื่องบัญชีส่วยถูกนำมาเปิดเผยหลังจากนั้นโดยฝ่ายตำรวจเอง นัยว่าเพื่อโค่นเครือข่ายตำรวจที่มีอำนาจล้นมือในยุคนั้นให้พ้นทาง แต่การดำเนินคดี "เสี่ยโจ้" ในส่วนนี้ กลับไม่มีแม้การแจ้งข้อกล่าวหา
คดีของ "เสี่ยโจ้" ซึ่งต่อมามีการสรุปรวบรวมออกมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมีอยู่ 14 คดี เกือบทั้งหมดวนเวียนอยู่ในชั้นสอบสวน คือเงียบหาย ออกหมายเรียกแล้วไม่มา หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่มีอยู่คดีหนึ่งที่ค่อนข้างมีน้ำหนักชัดเจน เพราะพบหลักฐานคาสำนักงาน นั่นก็คือคดีใช้ดวงตราประทับไม้ปลอมสำหรับเคลื่อนย้ายไม้ คดีนี้เดินไปถึงชั้นศาล และศาลจังหวัดปัตตานี (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาให้จำคุก "เสี่ยโจ้" 1 ปี 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2557 ซึ่ง "เสี่่ยโจ้" ต้องเข้าคุกทันที ทว่าเจ้าตัวกลับหลบหนี โดยมีตำรวจพาหนีไปจากอาคารศาล
คดีนี้ศาลออกหมายจับในวันเดียวกัน และต่อมาในวันที่ 26 พ.ค.2558 มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลย พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 9 เดือน ทำให้คดีถึงที่สุด ซึ่งศาลก็ออกหมายจับอีก 1 หมาย ให้ตำรวจเร่งติดตามตัว "เสี่ยโจ้" มารับโทษตามคำพิพากษา จากนั้นเรื่องราวของ "เสี่ยโจ้" ก็เงียบหายไป มีข่าวว่าเขาหลบไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนตำรวจที่พาหนีมียศ "ดาบตำรวจ" ก็ถูกสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง ให้ออกจากราชการ และมีการดำเนินคดี "เสี่ยโจ้" อีก 1 คดี ในข้อหาหลบหนีจากที่คุมขังศาล แต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแบบเงียบๆ โดยให้เหตุผลว่าขณะที่ "เสี่ยโจ้" หนี เขาไม่ได้อยู่ในที่คุมขัง เพราะขออนุญาตตำรวจออกไปซื้อของหน้าศาล (เหตุผลนี้เมื่อภายหลังมีการรายงานเป็นข่าว ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ที่รับรู้รับทราบ)
ต่อมาในปี 2560 มีคนเห็น "เสี่ยโจ้" กลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านใน จ.ปัตตานี เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องรู้ไปถึงสื่อ จึงมีการตีข่าวจนเป็นเรื่องใหญ่โต มีนักข่าวไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร ตอบทำนองว่า "เสี่ยโจ้" กลับมาได้เพราะมอบตัวทุกคดีแล้ว และได้รับประกันตัว ซึ่งข้อมูลนี้ก็ตรงกับที่ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีชี้แจงกับสื่อมวลชน (แบบไม่ค่อยสบอารมณ์ที่มีสื่อรู้เรื่องเสี่ยโจ้กลับบ้าน)
แต่ปัญหาก็คือ มีคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ "เสี่ยโจ้" รับโทษ ซึ่งคดีนี้ตำรวจไม่มีอำนาจให้ประกันตัว ตำรวจจึงมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือคุมตัว "เสี่ยโจ้" ส่งศาลเพื่อรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่ตำรวจก็ไม่ได้ทำ และไม่มีคำตอบใดๆ หลังจากนั้น มีแต่ความไม่พอใจเมื่อถูกจี้ถาม จนสุดท้ายเรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไป
ตัดกลับมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2564 ตำรวจสอบสวนกลางแถลงข่าวจับกุม "เสี่ยโจ้" และอ้างว่าได้นำตัวส่งอัยการจังหวัดสงขลา เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาล จึงไม่เป็นความจริง เพราะเป็นคดีคนละจังหวัดกัน เมื่อสื่อมวลชนตรวจสอบเชิงลึกจึงทราบว่า "เสี่ยโจ้" ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระไปแล้ว เนื่องจากคดีฟอกเงินจากการค้าน้ำมันเถื่อน อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงไม่มีอำนาจการควบคุมตัว ขณะที่หมายจับอื่นก็ไม่มีปรากฏในสารบบ รวมทั้งหมายจับที่ให้ไปรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดปัตตานีด้วย
ช่วงที่ข่าวนี้ถูกปูดออกมาใหม่ๆ ทางตำรวจพยายามชี้แจงว่า ได้ประสานขอหมายจับจากศาลจังหวัดปัตตานีแล้ว ปรากฏว่าทางศาลไม่มีหมายจับให้ จึงไม่สามารถควบคุมตัว "เสี่ยโจ้" ต่อได้ กว่าจะได้สำเนาหมายจับอย่างเป็นทางการก็เป็นวันที่ 8 พ.ย.64 (วันจันทร์) ทำให้ "เสี่ยโจ้" หนีหายไปอีกรอบ
ร้อนถึงสำนักงานศาลยุติธรรมต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ศาลได้ออกหมายจับ 2 หมายในคดีใช้ดวงตราประทับไม้ปลอม และส่งให้ตำรวจแล้วทั้ง 2 หมาย โดยตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมตัวจำเลยกลับมารับโทษตามคำพิพากษา ฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ตำรวจ ไม่ใช่ศาล และตำรวจต้องมีหมายจับอยู่กับฝ่ายตัวเอง เนื่องจากรับหมายจากศาลไปแล้ว ไม่ใช่มาขอสำเนาจากศาลอีก แล้วอ้างว่าเป็นเหตุทำให้ไม่ได้ตัวจำเลย
งานนี้จึงวนกลับมาที่ฝ่ายตำรวจ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้
ผลสอบที่แถลงออกมาเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 18 พ.ย. สร้างความงุนงงสงสัยให้กับสังคม เพราะผลการสอบสวนสรุปได้แบบนี้
-คนที่ซุกหมายจับ เป็นพนักงานสอบสวนคนหนึ่ง ไม่ยอมบอกชื่อ
-ได้รับหมายจับจากศาล เพราะไปที่ศาลพอดี
-ได้หมายมาแล้ว เก็บไว้ ลืมนำเข้าสารบบหมายจับ
-เป็นตำรวจมาช่วยราชการ ตอนนี้ย้ายกลับภูธรภาค 3 แล้ว
-ถ้าจะสอบวินัย เป็นหน้าที่ของภูธรภาค 3
-ย้ำว่ามีคนบกพร่องเพียงคนเดียว คือพนักงานสอบสวนคนที่ว่านี้
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดตลอด 7 ปีที่ไล่เรียงมา ประกอบกับคำชี้แจงของตำรวจภูธรภาค 9 ทำให้เกิดคำถามว่ากรณีที่หมายจับ "เสี่ยโจ้" ไม่ถูกนำเข้าสารบบ จน "เสี่ยโจ้" หนีหายไปได้อีกรอบนั้น เป็นแค่เรื่องเล็กๆ เพราะลืม เพราะไม่มีหน้าที่ (ไปที่ศาลพอดี เลยรับหมายจับมา) จึงผิดแค่ "บกพร่อง" แค่นั้นหรือ?
เหตุใดฝ่ายตำรวจจึงไม่สืบสวนต่อไปให้ชัดว่า เรื่องนี้เป็น "ขบวนการซุกหมายจับ" หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืม "บัญชีส่วย" ที่ค้นได้จากบ้าน "เสี่ยโจ้" ซึ่งโยงตำรวจหลายหน่วย ทุกระดับ
น่าคิดว่าผลสอบสวนของภาค 9 มีนัยกลบเกลื่อนเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เป็นแค่ความ "บกพร่อง" ของคนคนเดียวหรือไม่ แถมยังโยนเรื่องการสอบสวนไปที่ตำรวจภูธรภาค 3 จน ผบช.ภ.3 ต้องโวยว่าไม่ใช่หน้าที่ (โยนกลองกันไปมา) สรุปก็คือป่านนี้ยังไม่มีการตั้งเรื่องสอบใคร แถมสังคมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตำรวจที่ไม่ยอมนำหมายจับผู้ต้องหาคนสำคัญลงระบบ เป็นใคร (ผิดกับเวลาจับกุมชาวบ้านกระทำผิดได้ รีบแถลงเปิดชื่อ เปิดหน้า เปิดพฤติกรรมจนหมด)
ที่สำคัญที่สุดคือ หากย้อนดูเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2557 จะพบว่างานนี้ไม่ได้มีแค่การลืมนำหมายจับเข้าสารบบเท่านั้น เพราะ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เคยรายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.61 ว่า ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวฮือฮาเรื่อง "เสี่ยโจ้" กลับบ้าน ยังปรากฏหมายจับคดีหลบหนีออกจากที่คุมขังศาลอยู่ในสารบบหมายจับ โดยเป็นหมายจับเลขที่ 559/2561 และขึ้นข้อความสีแดงว่า "ยังไม่จับ" (ดูภาพประกอบ)
ถ้าตำรวจจะอ้างว่าคดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง จึงถอดออกจากสารบบหมายจับ แต่ก็ยังมีคำถามว่าทำไมตอน "เสี่ยโจ้" กลับบ้าน เมื่อปี 2560-2561 ซึ่งหมายจับ active หรือมีผลบังคับใช้อยู่อย่างชัดเจน เหตุใดตำรวจผู้รับผิดชอบในยุคนั้นจึงไม่ทำการจับกุม ในช่วงที่ "เสี่ยโจ้" เข้ามอบตัวในคดีอื่นๆ พฤติการณ์แบบนี้สะท้อนอะไร
หลักฐานชิ้นนี้แปลความได้ว่า แม้จะมีหมายจับเข้าสู่สารบบ แต่พ้นอำนาจของตำรวจไปแล้ว ตำรวจไม่สามารถให้ประกันตัวได้ ก็จะไม่จับ เพราะจะส่งผลร้ายกับ "เสี่ยโจ้" ใช่หรือไม่
น่าจะถึงเวลาที่ ผบ.ตร.ต้องตรวจสอบใหม่อีกครั้งว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ "หมายจับเสี่ยโจ้" เป็นแค่ความบกพร่องส่วนบุคคล หรือเป็นขบวนการช่วยเหลือ "เสี่ยโจ้" เพื่อแลกกับผลประโยชน์กันแน่?