โควิดชายแดนใต้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง แต่สงขลาพุ่งสวนทาง ป่วยใหม่ยังสูงติดอันดับ 2 ของประเทศต่อเนื่อง ดันยอดติดเชื้อรวมเกิน 1 พันราย ส่วนตัวเลขฉีดวัคซีน 4 จังหวัดเกิน 50% แล้ว ด้านโรงเรีนยอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ นราธิวาส ผ่านประเมิน เตรียมเปิด On site
วันศุกร์ที่ 19 พ.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ จ.สงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ส่วน จ.สงขลา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่มีทีท่าว่าลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น จนทำให้สงขลาเป็นจังหวัดอันดับ 2 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไทย ต่อเนื่องมากว่าสัปดาห์
จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 19 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 186,178 ราย
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 19 พ.ย.64 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 1,165 ราย และเสียชีวิต 9 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 642 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 57,518 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 57,495 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,044 ราย รักษาหายแล้ว 51,245 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 229 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,354 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 13,161 ราย, อ.เมืองสงขลา 7,714 ราย, อ.จะนะ 7,577 ราย, อ.สิงหนคร 4,961 ราย, อ.สะเดา 4,419 ราย, อ.เทพา 4,407 ราย, อ.รัตภูมิ 3,460 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,274 ราย, อ.นาทวี 1,565 ราย, อ.บางกล่ำ 1,392 ราย, อ.ระโนด 992 ราย, สทิงพระ 823 ราย, ควนเนียง 746 ราย, อ.นาหม่อม 596 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 369 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 82 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,198 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 754 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 225 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 44,249 ราย รักษาหายแล้ว 28,019 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 425 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 155 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 163 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 631 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 502 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 159 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 44 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 149 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 129 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน - โรงยิมบานา 72 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 189 ราย และ Home Isolation 1,100 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,270 ราย, อ.ไม้แก่น 1,099 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,462 ราย, อ.หนองจิก 4,322 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,623 ราย, อ.สายบุรี 5,410 ราย, อ.แม่ลาน 674 ราย, อ.ยะรัง 4,229 ราย, อ.ปะนาเระ 1,642 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,037 ราย, อ.มายอ 4,440 ราย และ อ.กะพ้อ 1,724 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 129 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 32 ราย, อ.ตากใบ 8ราย, อ.ยี่งอ 2 ราย, อ.จะแนะ 7 ราย, อ.แว้ง 15 ราย, อ.สุคิริน 18 ราย, อ.บาเจาะ 5 ราย, อ.ระแงะ 16 ราย, อ.ศรีสาคร 4 ราย, อ.เจาะไอร้อง 12 ราย, อ.สุไหงปาดี 1 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 9 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 41,120 ราย รักษาหายสะสม 39,848 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,124 ราย, อ.ระแงะ 4,781 ราย, อ.รือเสาะ 2,195 ราย, อ.บาเจาะ 3,539 ราย, อ.จะแนะ 1,738 ราย, อ.ยี่งอ 2,989 ราย, อ.ตากใบ 3,116 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,559 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,333 ราย, อ.ศรีสาคร 2,088 ราย, อ.แว้ง 2,280 ราย, อ.สุคิริน 1,172 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,206 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 169 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 45,716 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,908 ราย รักษาหายแล้ว 44,669 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 319 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,278 ราย, อ.เบตง 4,761 ราย, อ.รามัน 6,129 ราย, อ.ยะหา 5,414 ราย, อ.บันนังสตา 7,048 ราย, อ.ธารโต 2,361 ราย, อ.กาบัง 1,233 ราย และ อ.กรงปินัง 2,492 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,908 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 130 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 278 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 146 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 56 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 146 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 39 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 48 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 22 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 85 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 52 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 14 ราย, Hospitel ยะลา 64 ราย, Hospitel เบตง 139 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 1,213 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 408 ราย
@@4 จังหวัดชายแดนใต้ปักแขนเกินครึ่ง สงขลานำลิ่ว
ด้านข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา) จากข้อมูลหมอพร้อม กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 19 พ.ย.64 มีดังนี้
จ.สงขลา มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม เข็มที่ 1 จำนวน 1,084,330 คน คิดเป็น 71.99 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่ 2 จำนวน 791,784 คน คิดเป็น 52.57 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 3 จำนวน 80,906 คน คิดเป็น 5.37 เปอร์เซ็นต์
จ.ปัตตานี มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม เข็มที่ 1 จำนวน 370,745 คน คิดเป็น 52.35 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่ 2 จำนวน 283,715 คน คิดเป็น 40.06 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 3 จำนวน 16,971 คน คิดเป็น 2.40 เปอร์เซ็นต์
จ.ยะลา มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม เข็มที่ 1 จำนวน 335,439 คน คิดเป็น 59.67 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่ 2 จำนวน 269,525 คน คิดเป็น 47.94 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 3 จำนวน 14,436 คน คิดเป็น 2.57 เปอร์เซ็นต์
จ.นราธิวาส มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม เข็มที่ 1 จำนวน 403,813 คน คิดเป็น 51.44 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่ 2 จำนวน 300,253 คน คิดเป็น 38.24 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 3 จำนวน 19,348 คน คิดเป็น 2.46 เปอร์เซ็นต์
@@รร.อัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ ผ่านประเมินเตรียมเปิดเรียน On site
วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ อ.เมือง จ.นราธิวาส พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อเตรียมพร้อมในการฉีดวัคซีนและเปิดภาคเรียนแบบ On site
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน ทำให้โรงเรียนในหลายพื้นที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดด้านความพร้อมของครอบครัวไม่สามารถส่งเสริมหรือสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับบุตรหลานได้ ทำให้เยาวชนขาดโอกาส และไม่ได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิ ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้บุคลากร และนักเรียน ในสถานศึกษาได้รับวัคซีน เกินร้อยละ 80 รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อคนรอบข้าง และสังคม ทั้งนี้ทุกภาคส่วนพร้อม ที่จะผลักดันให้สถานศึกษาเปิดภาคเรียนแบบ On site ตามข้อกำหนดของ ศบค.เร็วที่สุด
สำหรับโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญ ขนาดใหญ่ สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส มีนักเรียนทั้งสิ้น 3,894 คน ครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรสนับสนุน 342 คน ซึ่งในการเตรียมความพร้อมเปิดการเรียน On Site ได้ดำเนินการตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้กำหนด โดยโรงเรียนได้ประเมินตนเองในระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) ผ่านระดับสีเขียวและนักเรียน มีประสงค์รับวัคซีน จำนวน 3,684 คน คิดเป็นร้อยละ 94.61 ไม่ประสงค์ 210 คน คิดเป็นร้อยละ 5.39 เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 3,189 คน รวมถึงครู บุคลากรทางการศึกษา ได้รับฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 340 คน คิดเป็นร้อยละ 99.41 ไม่ประสงค์รับการฉีดวัดซีน จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.58 เนื่องจากมีโรคประจำตัว อีกทั้งโรงเรียนได้จัดทำคู่มือแผนเผชิญเหตุและการเฝ้าระวังติดตาม แนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือ กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19
ขณะที่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 843 แห่ง มีเด็กนักเรียนที่อายุเข้าเกณฑ์รับวัคซีน 34,557 ราย เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 23,994 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.43 เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 14,990 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.38 และครู บุคลากรการศึกษา จำนวน 5,566 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 4,820 คิดเป็นร้อยละ 86.60