ฮือฮาพอสมควรกับคำแถลงของ พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) ที่ข้อสรุปเกี่ยวกับ “หมายจับเสี่ยโจ้หาย” ออกมาในแบบที่หลายฝ่ายฟังแล้วได้แต่ทำตาปริบๆ
สาระสำคัญสรุปว่า “หมายจับเสี่ยโจ้” ไม่ได้หาย แค่พนักงานสอบสวนลืมเอาลงระบบ แถมเป็นพนักงานสอบสวนที่ “ไปที่ศาลพอดี” ก็เลยรับหมายมา แล้วนำไปเก็บไว้ ไม่ได้ลงระบบ ซ้ำยังเป็นตำรวจมาช่วยราชการ ย้ายกลับต้นสังกัด (บช.ภ.3) ไปแล้ว หากจะสอบสวน ก็เป็นเรื่องของต้นสังกัด บช.ภ.3 ตั้งกรรมการสอบเอาเอง
น่าสังเกตคำอธิบายของ ผบช.ภ.9 ที่ว่า ตำรวจที่รับหมายจับเสี่ยโจ้จากศาลมานั้น เป็นพนักงานสอบสวนที่ “ไปที่ศาลพอดี”
เรื่องนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็เป็นไปได้หมด แต่ “ผู้รู้” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การพูดลักษณะนี้ เหมือนเป็นการช่วยปกป้องพนักงานสอบสวนที่ไปรับหมายจับว่า “ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปรับหมายมา เพียงแต่ไปที่ศาลพอดี ศาลก็เลยฝากมา” แนวๆ นี้
เมื่อไม่ได้นำหมายจับลงระบบ มันจึงเป็นแค่ “ความบกพร่อง” ไม่ใช่ความ “จงใจ” เพราะพนักงานสอบสวนรายนี้ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปรับหมายจากศาลมาลงระบบ แต่เป็นงานฝาก
นอกจากจะส่งผลเป็นการลดความร้ายแรงของพฤติการณ์พนักงานสอบสวนรายนี้แล้ว ยังช่วยตัดตอนไม่ให้เรื่องสาวไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป (ในยุคนั้น - ปี 2557) ด้วย เพราะเป็นความบกพร่องเฉพาะตัว ไม่ได้จงใจ และนำหมายมาเก็บไว้ ไม่ได้บอกใคร จึงไม่มีใครรู้
ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ที่ออกมาตั้งคำถาม ซึ่งตั้งมาตลอดตั้งแต่มีปัญหาเรื่อง “หมายจับเสี่ยโจ้” ก็คือ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สปยธ.
พ.ต.อ.วิรุตม์ ตั้งข้อสังเกตไว้แบบนี้
1.“เสี่ยโจ้” เป็นผู้ต้องหาสำคัญในหลายคดี ทั้งเจ้ามือหวยเถื่อนรายใหญ่ ค้าไม้เถื่อน และค้าน้ำมันเถื่อน โดยเมื่อปี 2555 ฝ่ายทหารได้ไปค้นบ้านและสำนักงาน ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหทรัพย์ทวีค้าไม้ พบ “บัญชีส่วยตำรวจสารพัดหน่วย” ยาวเป็นหางว่าว รวมเดือนละประมาณ 25 ล้านบาท!
ฉะนั้นการดำเนินคดีอาญากับ “เสี่ยโจ้” ในทุกข้อหา จึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการที่สุจริตต้องทราบ และให้ความสนใจตรวจสอบควบคุมการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหา หรือเสนอศาลออกหมายจับ
เมื่อมีการขอศาลออกหมายจับคดีปลอมตราประทับไม้ ซึ่งถือว่าเป็นคดีสำคัญ โดยเฉพาะจากการกระทำของ “เสี่ยโจ้” ทั้งผู้กำกับ ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ ในขณะนั้นทุกคนจึง "อยู่ในฐานะที่ต้องให้ความสนใจ" สืบสวนจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว
แต่เหตุใดทั้งผู้กำกับ หัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ ในขณะนั้น จึงไม่ได้ตรวจสอบควบคุมให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ละคนมีส่วนรู้เห็นกับการซุกหมายจับหรือไม่เพียงใด? และ "บัญชีส่วยที่ปรากฏ" มีผลทำให้ไม่มีตำรวจผู้ใหญ่คนใดอยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับเสี่ยโจ้หรือไม่?
2.ทำไมถึงมีพนักงานสอบสวนที่อ้างว่า "ไปศาลพอดี" รับหมายจับมา แล้วนำมาเก็บไว้ ไม่ยอมส่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตามหนังสือของศาลที่ส่งถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการตามหมาย ทั้งการสืบจับและนำเข้าสารบบหมายจับของจังหวัด กองบัญชาการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกประกาศสืบจับไปทั่วประเทศ
3.การซุกหมายจับผู้ต้องหาคดีสำคัญไว้ ไม่ใช่เรื่องแค่บกพร่องต่อหน้าที่ แต่ถือว่า "มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ได้รับโทษอาญา" เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งปกติถ้าไม่มีตำรวจระดับสูงสั่งการให้ทำ ตำรวจผู้น้อยจะไม่กล้าทำตามลำพังอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่สามารถถูกตรวจสอบพบและถูกดำเนินคดีอาญารวมทั้งวินัยร้ายแรง ถูกไล่ออกปลดออกได้โดยง่าย
สำหรับปัญหาที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากคำชี้แจงจากผู้ใด ก็คือ
1.พนักงานสอบสวนคนที่บอกว่าไปรับหมายมานั้นคือใคร? มีตำแหน่งหน้าที่อะไรในขณะนั้น และปัจจุบันอยู่สังกัดตำแหน่งหน้าที่ใด ผบ.ตร.จะดำเนินคดีอาญาข้อหาใดหรือไม่อย่างไร?
2.พนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดีนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ไม่ติดตามการออกหมายจับของศาล มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของพนักงานสอบสวนคนที่ไปรับหมายจับโดยพลการหรือไม่? อย่างน้อยก็จะต้องมีความผิดทางวินัย เพราะไม่ติดตามคดีในความรับผิดชอบของตน (คดีใช้ดวงตราประทับไม้ปลอม เป็นคดีของ สภ.เมืองปัตตานี) ผบ.ตร.จะดำเนินการอย่างไร?
ไม่ใช่บอกลอยๆ แค่ว่าเกี่ยวข้องถึงใครก็ดำเนินการตามกฎหมายหมดทุกคน
3.ใครเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ตั้งแต่ระดับสถานี ระดับกองบังคับการตำรวจจังหวัดและกองบัญชาการ / ใครอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบทางอาญา เนื่องจากมีส่วนรู้เห็นกับการซุกหมายจับ หรือผิดวินัยร้ายแรงเนื่องจากได้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง ผบ.ตร.จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บังคับบัญชาตำรวจระดับสูงเหล่านี้อย่างไร?