ศบค.ลดพื้นที่สีแดงเข้มรับเปิดประเทศเหลือแค่ 7 จังหวัด ชายแดนใต้ยังอยู่ครบ พ่วงนครศรีฯ "บิ๊กเล็ก" ปลอบแนวโน้มโควิดปลายขวานเริ่มดี ด้าน 4 เทศบาลยะลาจับมือผุดมาตรการลดการเคลื่อนย้ายคุมแพร่เชื้อ ส่วนพ่อเมืองงัดไม้เด็ดปักแขนเข็มแรกรับข้าวสาร
วันศุกร์ที่ 29 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังติดอันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ
โดย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 595 ราย อยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 389 ราย อยู่อันดับ 5 ส่วน จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 383 ราย อยู่อันดับ 6 และ จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 295 ราย อยู่อันดับ 8
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 596 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 47,238 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 47,215 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,551 ราย รักษาหายแล้ว 41,507 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 180 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 3,896 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 11,099 ราย, อ.เมืองสงขลา 6,449 ราย, อ.จะนะ 5,816 ราย, อ.สิงหนคร 4,434 ราย, อ.สะเดา 3,695 ราย, อ.เทพา 3,300 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,885 ราย, อ.รัตภูมิ 2,748 ราย, อ.นาทวี 1,161 ราย, อ.บางกล่ำ 996 ราย, อ.ระโนด 770 ราย, สทิงพระ 692 ราย, ควนเนียง 536 ราย, อ.นาหม่อม 497 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 318 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 58 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,166 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 587 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 559 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 36,801 ราย รักษาหายแล้ว 21,645 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 369 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 187 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 326 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,249 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 578 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 50 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 167 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 117 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 8 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 32 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 253 ราย และ Home Isolation 2,124 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,737 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,326 ราย, อ.ไม้แก่น 292 ราย, อ.ยะหริ่ง 506 ราย, อ.หนองจิก 602 ราย, อ.โคกโพธิ์ 559 ราย, อ.สายบุรี 869 ราย, อ.แม่ลาน 88 ราย, อ.ยะรัง 658 ราย, อ.ปะนาเระ 148 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 260 ราย, อ.มายอ 847 ราย และ อ.กะพ้อ 356 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 386 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 40,224 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 6,569 ราย รักษาหายแล้ว 34,270 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 264 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 14,399 ราย, อ.เบตง 3,684 ราย, อ.รามัน 5,555 ราย, อ.ยะหา 4,680 ราย, อ.บันนังสตา 6,274 ราย, อ.ธารโต 2,232 ราย, อ.กาบัง 1,033 ราย และ อ.กรงปินัง 2,367 ราย,
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,569 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 189 ราย, โรงพยาบาลเบตง 106 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 541 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 155 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 446 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 98 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 395 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 166 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 137 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 39 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 84 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 40 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 41 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 120 ราย, Hospitel เบตง 105 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,872 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 1,035 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 295 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 98 ราย, อ.ตากใบ 26 ราย, อ.ยี่งอ 12 ราย, อ.จะแนะ 21 ราย, อ.แว้ง 27 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.ระแงะ 49 ราย, อ.ศรีสาคร 5 ราย, อ.เจาะไอร้อง 32 ราย, อ.สุไหงปาดี 5 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 19 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 36,352 ราย รักษาหายสะสม 33,397 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 367 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,261 ราย, อ.ระแงะ 4,460 ราย, อ.รือเสาะ 1,917 ราย, อ.บาเจาะ 2,986 ราย, อ.จะแนะ 1,506 ราย, อ.ยี่งอ 2,668 ราย, อ.ตากใบ 2,765 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,771 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,059 ราย, อ.ศรีสาคร 1,963 ราย, อ.แว้ง 2,076 ราย, อ.สุคิริน 914 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,006 ราย
@@ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมว่า มาตรการในวันนี้มีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้มจากเดิมมี 23 จังหวัด เหลือ 7 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงจากเดิมมี 30 จังหวัดเป็น 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม จากเดิม 24 จังหวัดเป็น 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูงหรือพื้นที่สีเหลืองจากเดิมไม่มี ตอนนี้มี 5 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หรือพื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด
โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ภาคใต้มี 5 จังหวัด นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา ซึ่งมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 23:00 น. ถึง 03:00 น./ เรื่องการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ work from home ให้พื้นที่สีแดงเข้มทำงานอย่างน้อย 70% ของหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชนปรับเพิ่มได้ตามแผนเหมาะสม / การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มห้ามจัดกิจกรรมรวมมากกว่า 50 คน / สถานศึกษาให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนโดยผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนศึกษาธิการ / สถานรับเลี้ยงเด็กสถานดูแลผู้สูงอายุให้ดำเนินการรับไปกลับได้โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด / สถานที่เล่นกีฬาเปิดได้ไม่เกิน 22:00 น. / โรงภาพยนตร์จำกัดจำนวนผู้ชมห้ามบริโภคอาหาร/ การจัดประชุมไม่เกิน 500 คน / ศูนย์การค้า, ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกิน 22.00 น./ ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ไม่เกิน 22.00 น. / ร้านอาหารเปิดบริโภคในร้านได้ ไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดตามเวลาปกติแต่ไม่เกิน 22.00 น. และร้านเสริมสวยเปิดบริการได้ยกเว้นการใช้ไอน้ำ และเปิดได้ไม่เกิน 22:00 น.
@@แนวโน้มโควิดชายแดนใต้ติดเชื้อลดลง
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า ให้สัมภาษณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ศบค.ส่วนหน้าได้พยายามประสานการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร จากสถานการณ์ทุกคนคงเห็นแล้วว่า ระดับของผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ทรงตัว และมีแนวโน้มว่าจะลดลง แต่ทางเราก็ไม่ประมาท และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น
@@ผู้ว่าฯ ยะลา งัดไม้เด็ดปักแขนเข็มแรกรับข้าวสาร
นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ผุดโครงการ “รักยะลา” ฉีดวัคซีนโควิด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รับข้าวสารทันที และได้เริ่มดำเนินการในวันนี้ (29 ต.ค.) เป็นวันแรก โดยส่งมอบข้าวสารให้กับนายอำเภอ เพื่อทยอยแจกให้กับประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก
นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า โครงการ รักยะลา เข้ารับบริการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” เข็มที่ 1 รับทันทีข้าวสาร เป็นการรณรงค์ประชาชนฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรในพื้นที่ จ.ยะลา ป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิต ซึ่งในวันนี้ เป็นวันแรกในการแจกข้าวสารให้กับประชาชน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ทุกหน่วยฉีดวัคซีนในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ
@@ผุดมาตรการลดการเคลื่อนย้ายคุมแพร่เชื้อ
ส่วนที่ห้องประชุมศรียรรยง เทศบาลนครยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พร้อมด้วย นายเสรี เรืองกาญจน์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเตงนอก นายมะสดี หะยีปิ นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป และนายมะซากี สาและ นายกเทศมนตรีตำบลบุดี ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมใช้มาตรการลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็นของประชากร เพื่อลดการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างตำบลสะเตงนอก ตำบลท่าสาป และตำบลบุดี เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ผู้บริหารเทศบาลทั้ง 4 แห่งมีความตระหนักและเข้าใจปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ โดยจะเห็นว่าตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และติด 1 ใน 10 ของประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพราะฉะนั้นทั้ง 4 เทศบาล จึงได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งมี 4 ประเด็น คือ 1.การมีวินัยและรับผิดชอบต่อสังคม 2.การเร่งตรวจ ATK 3.การเร่งฉีดวัคซีน 4.การทำศูนย์กักโรคชุมชน (CI : Community Isolation)
นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ อีกวิธีที่เราหวังว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ นั่นก็คือ “การลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น” อันหมายถึง สิ่งที่ไม่มีจำเป็นในการดำเนินชีวิต ทั้งความไม่จำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การศึกษา เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางต่าง ๆ เปิดอิสระแก่กัน จึงส่งผลให้การแก้ปัญหายังคงวนอยู่แบบเดิม
นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว อาจจะกำหนดเงื่อนไขการเข้าเมือง โดยการแสดงผลตรวจเชื้อโควิด (ATK) การแสดงผลการฉีดวัคซีนและเหตุผลในการเดินทางเข้าเมืองยะลา ซึ่งอาจจะให้เวลาถึงหลัง 5 โมงเย็นค่อยปิดด่าน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของคน โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.64 เป็นเวลา 14 วัน
การดำเนินการภายใน 14 วันที่นี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่จะส่งผลในต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ได้อย่างสนุกสนาน แต่การจะถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน และอาจจะทำให้หลายๆ คนไม่สะดวกในการเดินทาง แต่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าการสูญเสียความไม่สะดวกในวันนี้ อาจจะเทียบไม่ได้เลยกับการสูญเสียที่ผ่านมา และมันถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันจริงๆ
@@ชาวเบตงแห่รับวัคซีนต่อเนื่อง หวังเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว
ส่วนที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ยังคงเดินทางมาเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงพยาบาลเบตงได้เปิดบริการฉีดวัคซีน เข็ม 1 และ เข็ม 2 วันละ 1,500 คน ต่อวัน
นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ อ.เบตง ยังน่าห่วง แม้หลายวันที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะลดลงจากหลักร้อย ลดลงเป็นหลักสิบแล้วก็ตาม แต่ลักษณะการระบาดส่วนใหญ่เริ่มแพร่กระจายจากครอบครัวไปยังชุมชน ซึ่งทางสาธารณสุขอำเภอเบตง ได้เน้นย้ำให้ ชาวเบตงทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด รวมถึงเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข้ารับบริการการฉีดวัคซีน ซึ่งทาง จ.ยะลา ตั้งเป้าฉีดวัคซีนไว้ 80% ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศเตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวในอนาคต