เลขาฯ ศอ.บต.ชี้ตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ช่วยสถานการณ์โควิดชายแดนใต้ดีขึ้น เดินหน้าส่งบัณฑิตอาสาเคาะประตูบ้านชวนฉีดวัคซีน ขณะที่แรงงานไทยต้องปักแขน 2 เข็มก่อนเข้ามาเลย์ ส่วนตัวเลขติดเชื้อใหม่รวม 2,210 ราย ดับ 5 ศพ
วันพฤหัสบดีที่ 28 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังทำให้ทั้ง 4 จังหวัดยังติด 10 อันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ
โดย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 677 ราย อยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 496 ราย อยู่อันดับ 4 ส่วน จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 369 ราย อยู่อันดับ 6 และ จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 327 ราย อยู่อันดับ 9
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 2,210 ราย และเสียชีวิต 5 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 677 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 46,642 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 46,619 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,464 ราย รักษาหายแล้ว 40,998 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 180 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 3,764 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 11,049 ราย, อ.เมืองสงขลา 6,391 ราย, อ.จะนะ 5,644 ราย, อ.สิงหนคร 4,420 ราย, อ.สะเดา 3,662 ราย, อ.เทพา 3,226 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,850 ราย, อ.รัตภูมิ 2,680 ราย, อ.นาทวี 1,161 ราย, อ.บางกล่ำ 953 ราย, อ.ระโนด 770 ราย, สทิงพระ 686 ราย, ควนเนียง 502 ราย, อ.นาหม่อม 489 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 316 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 58 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,165 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 587 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 667 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 36,243 ราย รักษาหายแล้ว 21,277 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 368 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 187 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 299 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,212 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 557 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 47 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 167 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 118 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 7 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 36 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 228 ราย และ Home Isolation 1,929 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,953 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,343 ราย, อ.ไม้แก่น 312 ราย, อ.ยะหริ่ง 581 ราย, อ.หนองจิก 590 ราย, อ.โคกโพธิ์ 528 ราย, อ.สายบุรี 924 ราย, อ.แม่ลาน 84 ราย, อ.ยะรัง 680 ราย, อ.ปะนาเระ 187 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 259 ราย, อ.มายอ 861 ราย และ อ.กะพ้อ 367 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 539 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 39,838 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 6,703 ราย รักษาหายแล้ว 33,589 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 260 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 14,292 ราย, อ.เบตง 3,615 ราย, อ.ยะหา 4,623 ราย, อ.รามัน 5,478 ราย, อ.บันนังสตา 6,218 ราย, อ.ธารโต 2,224 ราย, อ.กาบัง 1,025 ราย และ อ.กรงปินัง 2,363 ราย,
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,703 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 179 ราย, โรงพยาบาลเบตง 107 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 523 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 152 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 508 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 100 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 404 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 204 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 133 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 49 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 106 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 39 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 125 ราย, Hospitel เบตง 106 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,901 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 1,024 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 327 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 15 ราย, อ.ตากใบ 11 ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.จะแนะ 21 ราย, อ.แว้ง 2 ราย, อ.สุคิริน 1 ราย, อ.บาเจาะ 125 ราย, อ.ระแงะ 51 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.เจาะไอร้อง 10 ราย, อ.สุไหงปาดี 22 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 65 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 36,057 ราย รักษาหายสะสม 32,956 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 366 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,163 ราย, อ.ระแงะ 4,411 ราย, อ.รือเสาะ 1,916 ราย, อ.บาเจาะ 2,986 ราย, อ.จะแนะ 1,485 ราย, อ.ยี่งอ 2,656 ราย, อ.ตากใบ 2,739 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,752 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,054 ราย, อ.ศรีสาคร 1,958 ราย, อ.แว้ง 2,049 ราย, อ.สุคิริน 914 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,974 ราย
@@ตั้ง ศบต.ส่วนหน้า ช่วยโควิดชายแดนใต้ดีขึ้น
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นมาก หลังจากที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.ส่วนหน้า ได้ลงไปบริหารจัดการ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดีมากขึ้น เพราะได้ใช้กลไกของจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ทุกภาคส่วนช่วยกันหมด ทำให้ตัวเลขเริ่มลดลงแล้ว และประชาชนในพื้นที่ก็ยอมฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนได้เกือบร้อยละ 60 แล้ว เหลือแค่บางพื้นที่ที่ต้องเร่งทำความเข้าใจเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้มีดีขึ้นมาก เพราะมี ศบค.ส่วนหน้ามาช่วย
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเข้มงวดเรื่องการทะลักของผู้ใช้แรงงานตามแนวชายแดน ทางเลขาฯ ศอ.บต กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูแลกันอย่างเต็มที่ และเมื่อระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาพี่น้องชาวไทยก็เดินทางกลับประเทศหมดแล้ว
@@ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเชิญชวนฉีดวัคซีน
ส่วนการประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) ซึ่งมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเป็นประธานการประชุมหารือและรายงานผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดน ซึ่งทาง พล.อ.ณัฐพล ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตามแผนมาตรการ 5 ด้านคือ มาตรการป้องกันการติดเชื้อ ควบคุมการแพร่ระบาด การรักษาผู้ติดเชื้อ การเยียวยา และการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่อนคลาย
นายประเวศ หมีดเส็น ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. กล่าวรายงานการดำเนินงานของ ศอ.บต. ว่า เมื่อวันที่ 25-26 ต.ค.ที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.ร่วมกับบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิและสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 เชิงรุก ใน อ.รามัน และ อ.เมือง จ.ยะลา ในชุมชนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในพื้นที่ อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจโดยการเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์เรื่องวัคซีนผ่านสื่อออนไลน์ วิทยุ เว็บไซต์ และสื่อบุคคล เพื่อบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังดำเนินมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
@@ แรงงานไทยต้องฉีด mRNA 2 เข็มก่อนเข้ามาเลเซีย
ด้านทาง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าได้รายงานสถานการณ์แรงงานไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะไปทำงานในประเทศมาเลเซียว่า จะต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีน mRNA อย่างน้อย 2 เข็มและใบรับรองผลการตรวจโควิด 19 โดยการตรวจแบบเก็บตัวอย่างจากการ Swab จมูกและลำคอ ไม่เกินภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง โดยผู้อำนวยการ ศบค.ส่วนหน้า ได้มอบหมายให้เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวและติดตามแรงงานไทยที่จะเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนจะมีการเปิดประเทศต่อไป