ศบค.เผยข่าวดี โควิดชายแดนใต้ทรงตัว แถมมีแนวโน้มลดลง สั่งเร่งประชาสัมพันธ์เข็มปักแขน พร้อมจำกัดวงแพร่กระจาย พบ 90% ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนที่สุไหงโก-ลก ลุยตรวจ ATK ใน 2 ตำบล เจอติดเชื้อ 35 ราย ด้านโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงยะลา เปิดเรียน 1 พ.ย. แต่งดเรียน On-site
วันพุธที่ 27 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวใกล้เคียงกับหลายๆ วันที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดยังติด 10 อันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ
โดย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 551 ราย อยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 532 ราย อยู่อันดับ 3 ส่วน จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 475 ราย อยู่อันดับ 4 และ จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 331 ราย อยู่อันดับ 7
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงข่าวตอนหนึ่งว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. มีการรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ติดเชื้อใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีทิศทางแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มทรงตัวและค่อยๆ ลดลง
ที่ประชุมมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยให้มีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องวัคซีนเป็นภาษาพื้นถิ่นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว สถานีวิทยุ แผ่นพับ โดยได้รับความช่วยเหลือและประสานงานจากผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา
2.ต้องมีการจำกัดวงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แล้วพบว่า เป็นการระบาดในระดับครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะตลาด สถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ร้านน้ำชา
ทั้ง 2 เรื่องมีการดำเนินการหลักๆ โดยเรื่องการตรวจเชิงรุก ได้รับบริการจากรถพระราชทานชีวนิรภัย ส่วนเรื่องวัคซีนได้รับบริการจากโมบายวัคซีนของทางเอกชน คือ เอสซีจี ในการใช้บริการรถขนส่งวัคซีนที่เป็นรูปแบบห่วงโซ่ความเย็นที่เสถียร นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานสนับสนุนการลงไปสอบสวนโรค (CCRT) จำนวน 382 ทีม โดยหลักการของ CCRT จะมีการตรวจคัดกรองไว แยกกัก รักษา และให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นการนำต้นแบบการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสามารถแก้ปัญหาอย่างได้ผล
และสุดท้ายทางจังหวัดได้มีการทำแผนงานเชิงรุก ของแต่ละจังหวัดเอง เช่น ใน จ.นราธิวาส มีการทำแคมเปญโดยผ่านผู้นำศาสนา ฝ่ายปกครอง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่มีส่วนร่วม คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชื่อแคมเปญว่า เซฟนราฯ นราฯเซฟ ส่วน จ.สงขลาก็มีเช่นกัน โดยเน้นตรวจไว รักษาไว และถ้าไม่มีการติดเชื้อก็รีบเร่งรัดให้วัคซีนโดยไว
แพทย์ญิงสุมนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค. มีความเป็นห่วงเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และกว่า 90% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นเป้าหมายหลักในการดำเนินการในพื้นที่นี้คือการระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
จากรายงานผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ต.ค.จะเห็นได้ว่า ผลรวมของกลุ่มเสี่ยงเป็น 100% และทั้งหมดที่เสียชีวิตคือไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ พบว่าเป็นผู้เสียชีวิตจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะ ซึ่งการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์หมายถึงการสูญเสีย 2 ชีวิต เพราะกว่า 50% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตนั้น ทารกในครรภ์ก็จะเสียชีวิตด้ววย ส่วนอีก 50% ที่รอด เป็นการสูญเสียอย่างยิ่งของครอบครัว
@@ ลุยตรวจ ATK สุไหงโก-ลก พบติดเชื้อ 35 ราย
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ นายมะยุรี เจะโซะ สาธารณสุขอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้มอบหมายให้กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ ร่วมกับทีม CCRT หรือทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Comprehensive Covid-19 Response Team) และทีมอื่นๆ นำรถชีวนิรภัยพระราชทาน ซึ่งตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ออกให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จำนวน 2 จุด คือ อบต.มูโนะ ต.มูโนะ และที่มัสยิดซอยบ่อปลา ต.ปาเสมัส โดยมีประชาชนในทุกกลุ่มวัยเข้ารับบริการตรวจ ATK เป็นจำนวนมาก ผลการตรวจที่ อบต.มูโนะ มีผู้เข้ารับการตรวจ จำนวน 158 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 20 ราย ส่วนที่ ต.ปาเสมัส เข้ารับการตรวจแล้ว 159 ราย พบติดเชื้อแล้ว 15 ราย
ส่วนแนวทางการปฏิบัติในรายที่มีผล ATK เป็นบวก จะให้ยาฟาร์วิพิราเวียไปรับประทาน พร้อมทั้งให้ไปตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งในระหว่างนั้นให้กักตัว ห้ามออกนอกเคหสถาน และเว้นระยะห่างกับบุคคลในครอบครัว ส่วนในรายที่ผลตรวจเป็นลบ หากยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็จะทำการฉีดให้ทันที
ด้าน ศบค.อ.สุไหงโก-ลก มีมติออกมาตรการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.64 ที่จุดตรวจด่านน้ำตก จุดตรวจบุญลาภนฤมิตร จุดตรวจวัดขวัญประชา ซึ่งเป็นด่านก่อนเข้าเมืองสุไหงโก-ลก จะมีการตรวจเอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็มของเด็ก และประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยแสดงเอกสารจากโรงพยาบาลของรัฐหรือจากแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ หากยังไม่ฉีดวัคซีน จะให้บริการฉีดวัคซีนทันที แต่หากไม่ประสงค์ฉีดวัคซีน จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก อย่างเด็ดขาด
@@ คณะราษฎรบำรุงยะลา เปิดเรียน 1 พ.ย.
ที่หน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นักเรียนจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงจังหวัดยะลา จำนวน 2,100 คน เดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อโควิดที่รุนแรง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยอำนวยความสะดวกและให้บริการ
นายนพปฎล มุณีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มีการออกประกาศไปยังนักเรียนและผู้ปกครองในการเตรียมเปิดภาคเรียนที่ 2 โดยระบุว่า โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง มีความห่วงใยในความปลอดภัยทางสุขภาพและระวังป้องกันนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอประกาศการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ในรูปแบบ Online, On-Demand และ On-Hand ส่วนการเปิดเรียนในรูปแบบปกติ (On-site) ทางโรงเรียนจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง หลังจากที่โรงเรียนผ่านการประเมินจากผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว
@@ ชายแดนใต้ติดเชื้อใหม่ 1,748 ราย ดับ 5 ศพ
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 1,748 ราย และเสียชีวิต 5 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 551 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 45,965 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 45,942 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,483 ราย รักษาหายแล้ว 40,302 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 180 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,669 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 10,958 ราย, อ.เมืองสงขลา 6,303 ราย, อ.จะนะ 5,495 ราย, อ.สิงหนคร 4,365 ราย, อ.สะเดา 3,617 ราย, อ.เทพา 3,149 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,848 ราย, อ.รัตภูมิ 2,628 ราย, อ.นาทวี 1,140 ราย, อ.บางกล่ำ 952 ราย, อ.ระโนด 749 ราย, สทิงพระ 649 ราย, ควนเนียง 502 ราย, อ.นาหม่อม 483 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 309 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 58 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,165 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 572 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 391 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 35,577 ราย รักษาหายแล้ว 20,974 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 368 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 183 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 339 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,245 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 557 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 147 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 120 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 11 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 236 ราย และ Home Isolation 1,852 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 7,144 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,396 ราย, อ.ไม้แก่น 296 ราย, อ.ยะหริ่ง 645 ราย, อ.หนองจิก 580 ราย, อ.โคกโพธิ์ 532 ราย, อ.สายบุรี 960 ราย, อ.แม่ลาน 60 ราย, อ.ยะรัง 689 ราย, อ.ปะนาเระ 180 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 257 ราย, อ.มายอ 918 ราย และ อ.กะพ้อ 370 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 475 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 39,299 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 5,895 ราย รักษาหายแล้ว 33,148 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 256 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 14,120 ราย, อ.เบตง 3,520 ราย, อ.ยะหา 4,526 ราย, อ.รามัน 5,415 ราย, อ.บันนังสตา 6,134 ราย, อ.ธารโต 2,213 ราย, อ.กาบัง 1,014 ราย และ อ.กรงปินัง 2,357 ราย,
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,895 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 173 ราย, โรงพยาบาลเบตง 94 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 511 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 148 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 590 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 90 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 422 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 216 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 123 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 50 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 133 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 36 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 111 ราย, Hospitel เบตง 106 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,059 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 990 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 331 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 43 ราย, อ.ตากใบ 11 ราย, อ.ยี่งอ 25 ราย, อ.จะแนะ 31 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.บาเจาะ 42 ราย, อ.ระแงะ 68 ราย, อ.ศรีสาคร 7 ราย, อ.เจาะไอร้อง 10 ราย, อ.สุไหงปาดี 41 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 51 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 35,730 ราย รักษาหายสะสม 32,486 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 365 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,148 ราย, อ.ระแงะ 4,360 ราย, อ.รือเสาะ 1,916 ราย, อ.บาเจาะ 2,861 ราย, อ.จะแนะ 1,464 ราย, อ.ยี่งอ 2,653 ราย, อ.ตากใบ 2,728 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,687 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,032 ราย, อ.ศรีสาคร 1,957 ราย, อ.แว้ง 2,047 ราย, อ.สุคิริน 913 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,964 ราย