"รมต.อนุชา" สั่งการสำนักพุทธฯ เร่งดูแลพระสงฆ์ชายแดนใต้ หลังสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อกระทบศาสนกิจ แถมมีโควิดซ้ำเติม ขณะที่ มท.2 "นิพนธ์ บุญญามณี" ลุยสนับสนุนเร่งด่วน 3 ด้าน ส่วนฉีดวัคซีนไดร์ฟทรูเบตงได้ผล คนแห่เข็มปักแขน เหตุไม่ต้องรอคิว
วันอังคารที่ 26 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ จ.สงขลา จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงสูง และติด 10 อันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศต่อเนื่อง
โดยพบว่า จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 621 ราย ยังอยู่อันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานครต่ออีกวัน ตามด้วย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 620 ราย อยู่อันดับ 3 ส่วน จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 322 ราย จากอันดับ 5 ลงมาอันดับ 6 และ จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 247 ราย จากอันดับ 6 ลงมาอันดับ 7
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมทั้ง 4 จังหวัด 1,560 ราย และเสียชีวิตรวม 10 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 369 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 35,186 ราย รักษาหายแล้ว 20,746 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 6 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 364 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 203 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 375 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,297 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 561 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 147 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 120 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 11 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 236 ราย และ Home Isolation 1,876 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 7,444 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,414 ราย, อ.ไม้แก่น 315 ราย, อ.ยะหริ่ง 703 ราย, อ.หนองจิก 605 ราย, อ.โคกโพธิ์ 520 ราย, อ.สายบุรี 993 ราย, อ.แม่ลาน 74 ราย, อ.ยะรัง 739 ราย, อ.ปะนาเระ 165 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 318 ราย, อ.มายอ 943 ราย และ อ.กะพ้อ 386 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 622 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 45,414 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 45,391 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,627 ราย รักษาหายแล้ว 39,608 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 179 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,943 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 10,890 ราย, อ.เมืองสงขลา 6,249 ราย, อ.จะนะ 5,367 ราย, อ.สิงหนคร 4,333 ราย, อ.สะเดา 3,594 ราย, อ.เทพา 3,057 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,811 ราย, อ.รัตภูมิ 2,576 ราย, อ.นาทวี 1,101 ราย, อ.บางกล่ำ 949 ราย, อ.ระโนด 742 ราย, สทิงพระ 649 ราย, ควนเนียง 501 ราย, อ.นาหม่อม 478 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 309 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 58 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,165 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 562 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 322 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 26 ราย, อ.ตากใบ 87 ราย, อ.ยี่งอ 2 ราย, อ.จะแนะ 33 ราย, อ.แว้ง 5 ราย, อ.ระแงะ 60 ราย, อ.ศรีสาคร 23 ราย, อ.เจาะไอร้อง 83 ราย, อ.สุไหงปาดี 1 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 2 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 35,399 ราย รักษาหายสะสม 32,012 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 365 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,105 ราย, อ.ระแงะ 4,292 ราย, อ.รือเสาะ 1,915 ราย, อ.บาเจาะ 2,819 ราย, อ.จะแนะ 1,433 ราย, อ.ยี่งอ 2,628 ราย, อ.ตากใบ 2,717 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,636 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,991 ราย, อ.ศรีสาคร 1,950 ราย, อ.แว้ง 2,046 ราย, อ.สุคิริน 913 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,954 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 247 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 38,824 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 6,176 ราย รักษาหายแล้ว 32,392 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 รายทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 256 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 13,876 ราย, อ.กรงปินัง 2,351 ราย, อ.เบตง 3,462 ราย, อ.รามัน 5,349 ราย, อ.บันนังสตา 6,112 ราย, อ.กาบัง 999 ราย, อ.ธารโต 2,211 ราย และ อ.ยะหา 4,464 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,175 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 183 ราย, โรงพยาบาลเบตง 143 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 545 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 162 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 623 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 102 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 429 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 229 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 124 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 55 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 125 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 31 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 102 ราย, Hospitel เบตง 97 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,229 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 954 ราย
@@ เบตงคนแห่ฉีดวัคซีนไดร์ฟทรู เหตุไม่ต้องรอคิว
ด้านความเคลื่อนไหวเพื่อคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง จ.ยะลา ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และนำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตลอดจน อสม.ในพื้นที่ธารน้ำทิพย์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ร่วมรณรงค์ประชาชนให้ออกมาฉีดวัคซีน ตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ
นอกจากนี้ นายอำเภอเบตง ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีน Betong Drive Thru ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนเข้าตัวเมืองเบตง และเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้แก่หน่วยงานและประชาชน เพื่อเป็นการดึงประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้า โดยเป็นการฉีดวัคซีนเชิงรุกเข็ม 1 สำหรับผู้เดินทางเข้าเบตง ผลจากการเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีน Betong Drive Thru ได้ผลเกินคาด ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจและเดินทางเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 1 กันเป็นจำนวนมาก
จากการสอบถามทราบว่า ประชาชนเบื่อในการรอคิวยาวประมาณ 3–4 ชั่วโมงกว่าจะได้ฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาลเบตง แต่มาฉีดที่จุดนี้มีความรวดเร็ว จึงได้เดินทางมาฉีดวัคซีนในวันนี้
@@ พิษโควิด-ไฟใต้ สั่ง พศ.เร่งดูแลคณะสงฆ์
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ต.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำคณะพระสังฆาธิการ นำโดย พระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลา และผู้นำเครือข่ายพุทธศาสนิกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าพบ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (VDO Conference)
นายอนุชา กล่าวว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นเสาหลักสำคัญของชาติไทย ตลอดจนคนไทยทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราคนไทยควรทำนุบำรุงศาสนา จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลกระทบระยะยาว และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ พศ.เร่งติดตามและดำเนินการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ทั้งเรื่องของการบูรณะวัด และการประสานงานอำนวยความสะดวกคณะสงฆ์ในห้วงของการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมกำชับเรื่องการทำบุญที่วัด เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่บาตร การสวดมนต์ รวมถึงโรงทาน จะต้องมีการแยก หรือมีการกำหนดจำนวนคน และต้องมีการกำหนดวิธีการในการทำบุญต่างๆ ให้เหมาะสม
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ ซึ่งยังคงแพร่ระบาดในอย่างต่อเนื่องนั้น ขอให้ทุกคน ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงานทั้งภาคประชาชน และประชาสังคม ธุรกิจเอกชนต่างๆ ช่วยกันหามาตรการป้องกันของตัวเอง ตามมาตรการ Thailand Prevention ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้
สำหรับการเข้าหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเปิดโลกทัศน์แกนนำเครือข่ายชาวไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ พื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 23-29 ต.ค.64 ซึ่งคณะจะได้เข้าพบและหารือบุคคลสำคัญ อาทิ การเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เพื่อหารือแนวทางการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อความยากลำบากในการดำรงชีวิตของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนในพื้นที่
@@ มท.2 หนุนเร่งด่วนกิจของสงฆ์ 3 ด้าน
ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนหารือร่วมกับผู้แทนพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจาก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตลอดจนเครือข่ายพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ระดับ เพื่อบูรณาการงานเชิงนโยบายและงานระดับพื้นที่ โดยมีกระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศอ.บต. เป็นแกนกลางเพื่อประสานบูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนกิจของสงฆ์ในประเด็นเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ และสาธารณสงเคราะห์ (ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งสืบไป