25 ต.ค.64 เป็นวันครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์ตากใบ
นางแยนะ สะแลแม หรือ “ก๊ะแยนะ” แกนนำผู้สูญเสีย จัดงานรำลึกถึงโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากเหตุการณ์กรือเซะ ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษของไฟใต้ที่คุโชน
ปีนี้ค่อนข้างแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่จับตามากเหมือนเมื่อก่อน และแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ก็สนับสนุนให้จัดงานรำลึกเหตุการณ์
“เรื่องตากใบไม่มีอะไร ก๊ะแยนะ บอกว่าจะจัดกิจกรรม เราก็ช่วยเขาสนับสนุนงบประมาณให้ เขาไม่ได้ขอ แต่เรามองว่าควรที่จะช่วย เพราะเรื่องทั้งหมดก็ไม่มีใครอยากให้เกิด และการทำบุญรำลึกก็ไม่ได้มีอะไร พวกเราเองก็จะได้จำด้วย และต่อไปก็ไม่ควรให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก”
เป็นมุมมองของคนระดับแม่ทัพภาค 4 ที่ต้องบอกว่านานๆ จะได้ยินทัศนะแบบนี้สักครั้ง...
ก๊ะแยนะ เล่าว่า งานรำลึกปีนี้จัดเล็กๆ เป็นสัญลักษณ์ เหตุการณ์ผ่านมานานมาก ทุกคนเข้าใจหมดแล้ว และไม่มีใครสั่งห้ามอะไร
“วันนี้เราจัดงานรำลึก 17 ปีตากใบ มีการเลี้ยงขนมจีน 200 กิโลฯ ชาวบ้านก็ร่วมกันละหมาดฮายัดขอพรให้เกิดความสงบสุข มีคนมาร่วมงานประมาณ 50 คน ก็ไม่ได้มีอะไรนอกจากจัดเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้จัดเพื่อต้องการต่อสู้”
“อีกอย่างตอนนี้ทุกคนก็เข้าใจ ไม่มีใครห้ามอะไร แม่ทัพภาค 4 ยังสั่งให้ ฉก. (หน่วยเฉพาะกิจ) นำเงินมาสนับสนุนด้วย การทำบุญรำลึกครั้งนี้ได้บอกแม่ทัพบอกนายอำเภอ ทุกคนก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็เลยทำให้ ชาวบ้านรู้สึกดี”
ก๊ะแยนะ เล่าอีกว่า วันครบรอบตากใบปีนี้ เป็นช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด จึงนำขนมจีนไปมอบให้ผู้ที่ถูกกักตัวด้วย
ในส่วนของคดี “ขาดอากาศหายใจ” ของผู้ที่ถูกจับกุมและถูกนำไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร จนมีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพนั้น อีก 3 ปีก็หมดอายุความแล้ว (อายุความ 20 ปี) ชาวบ้านก็ไม่มีใครจะฟ้องร้อง ก็ถือว่าไม่มีอะไร
สำหรับ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ทั้ง 6 คนที่ถูกจับกุมเพราะปล่อยให้ปืนราชการถูกคนร้ายชิงไป และเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงให้ปล่อยตัว จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ตากใบนั้น ทั้ง 6 คนยังมีชีวิตอยู่ครบ แต่หลายคนไปอยู่มาเลเซีย เรื่องตากใบก็ไม่มีอะไร แล้ว
ด้าน นางอามีเนาะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่ตากใบ บอกว่า ตอนนี้รู้สึกเฉยๆ แต่ถามว่ากลัวหรือไม่ ก็ยังกลัวถูกจับ เรื่องที่เคยเกิดขึ้น จนถึงขณะนี้หลายคนก็ยังไม่กล้าพูด รวมทั้ง ชรบ.6 คนที่ถูกจับ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่กล้า
นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบและผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ เปรียบเสมือนแรงกระเพื่อมจากการโยนหินก้อนใหญ่ลงในน้ำ แม้คลื่นจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเลือนหายเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเลย
@@ ย้อนอดีต 17 ปีตากใบ...
ย้อนกลับไปช่วงเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่หน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีชาวบ้านไปรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.จำนวน 6 คนที่ถูกทางการจับกุมตัว เพราะปล่อยปละละเลยให้ปืนของทางราชการถูกปล้นตามที่มีการคาดโทษไว้
ชาวบ้านที่ไปรวมตัวตอนแรกนั้นไม่มาก แต่ภายหลังมีการบอกกันปากต่อปาก ทำให้มีคนแวะเวียนไปดูและร่วมสังเกตการณ์มากกว่า 1,000 คน จนทหารเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อม ทำให้คนที่ไปรวมตัวกันออกจากพื้นที่ไม่ได้ จากนั้นก็มีกระสุนปริศนาดังขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม
มีการบังคับให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบราบลงกับพื้น แยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ นำไปมัดมือไพล่หลัง กวาดจับได้กว่า 1,370 คน แล้วลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีเกือบ 30 คัน รวมถึงรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยจัดเรียงให้แต่ละคนนอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ เฉลี่ยคันหนึ่งมีคนนอนซ้อนกันคันละ 4-5 ชั้น แล้วเดินทางจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง
การเรียงซ้อนกันในรถยีเอ็มซีท่ามกลางอากาศร้อนและอยู่ในเดือนถือศีลอด ขาดน้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 คน เป็นการเสียชีวิตขณะลำเลียงขนส่ง 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุมระหว่างการสลายการชุมนุม 6 คน และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน ส่วนคนที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งกลายเป็นคนพิการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
ผู้ชุมนุม 59 คนถูกระบุว่าเป็นแกนนำ ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ฐานชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แต่ต่อมาในปี 2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายให้อัยการถอนฟ้อง เพื่อความปรองดองและยุติความขัดแย้ง
ส่วนคดีการเสียชีวิต มีการไต่สวนการตายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (กระบวนการก่อนการสอบสวนและส่งฟ้อง) เนื่องจากเป็นการตายระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย โดยศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่าผู้ชุมนุม 78 คนเสียชีวิตเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยยังไม่พบหลักฐานผู้อื่นกระทำให้ตาย
ต่อมาพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยที่ฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวไม่ได้ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องเองต่อศาล กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งสำคัญของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นมานานถึงทศวรรษครึ่ง
สำหรับในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องเพื่อให้รัฐจ่ายเงินชดเชยเยียวยา คดีจบลงที่การประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย ต่อมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเพิ่มอีกให้ได้รายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 500,000 บาท
ในส่วนของ ชรบ. 6 คนที่ถูกจับกุมก่อนเหตุการณ์ลุกลาม เคยมีชื่อในบัญชีเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคง แต่ปัจจุบันไม่พบข้อมูลทั้ง 6 คนอยู่ในกลุ่มเป้าหมายแล้ว