โควิดชายแดนใต้ยังน่าเป็นห่วง พบคลัสเตอร์วงน้ำชา – วงน้ำกระท่อมโผล่พรึ่บ ด้าน ศบค.ส่วนหน้า เร่งสนับสนุนอุปกรณ์ ยาและวัคซีน ระดมฉีดประชาชนในพื้นที่
วันจันทร์ที่ 25 ต.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,675 ราย ติดเชื้อในประเทศ 8,463 ราย จากเรือนจำ 201 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 11 ราย หายป่วย 9,589 ราย รักษาอยู่ 100,042 ราย อาการหนัก 2,437 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 536 ราย เสียชีวิต 44 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 70,505,802 โดส
ซึ่งสถานการณ์ผู้ป่วยอาการหนัก(ปอดอักเสบ) ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในประเทศไทยมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ที่ฉีดวัคซีนมากขึ้น อัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต ลดลง
สำหรับการตรวจ ATK วันนี้ 36,406 รายพบผลบวก 3,063 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อในจังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 1,896 ราย ขณะที่ กทม.-ปริมณฑล 1,467 ราย อีก 67 จังหวัด 5,100 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ไปดู 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ยังคงเป็น กทม. 903 ราย ปัตตานี 618 ราย สงขลา 586 ราย นครศรีธรรมราช 582 ราย เชียงใหม่ 352 ราย นราธิวาส 352 ราย ยะลา 340 ราย ชลบุรีอีก 295 รายสมุทรปราการ 274 ราย ตรัง 248 ราย สรุปคือ ปัตตานี พุ่งสูงมาเป็นอันดับ 2 , เชียงใหม่ นราธิวาส และตรัง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยที่หลายจังหวัดเป็นจังหวัดสีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว ระยะที่ 1 วันที่ 1 พ.ย. 64 คือ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ซึ่งที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นกลุ่มจังหวัดเฝ้าระวัง
ส่วนคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นลักษณะของวงน้ำชา ซึ่งเป็นลักษณะที่พี่น้องประชาชนมารวมกลุ่ม แล้วก็ล้อมวงดื่มน้ำชาด้วยกันก็ยังมีรายงานการติดเชื้อ รวมทั้งมีวงน้ำกระท่อมที่เป็นการล้อมวงแล้วใช้แก้วใบเดียวกันก็ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายได้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการประชุม ศบค. ส่วนหน้า แก้ไขปัญหาโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 22 ต.ค. 64 ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศบค.ส่วนหน้า เป็นประธาน มีหลายหน่วยงานที่นำเสนอมาตรการของแต่ละส่วน ทั้งเรื่องการเปิดโรงเรียน การเดินทาง แรงงาน ส่วนสาธารณสุข รายงานภาพรวม 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่วันละประมาณ 2,000 ราย นี่คือกรณีสูงสุด โดยอัตราการเสียชีวิต 80% อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ และ 90% ของผู้เสียชีวิต ไม่เคยไม่ได้รับวัคซีน หรือยังได้รับไม่ครบ
ส่วนแผนควบคุมการแพร่ระบาดในส่วนของวัคซีน ตอนนี้จะระดมฉีดให้มากขึ้น และเพิ่มศักยภาพการฉีด โดยระดมบุคลากรจากสาธารณสุขส่วนกลางลงไปช่วย อย่างที่ จ.สงขลา ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ได้วันละ 15,000 ราย เข็ม 2 วันละ 10,000 ราย รวมแล้วอยู่ที่ 25,000 รายต่อวัน สัปดาห์นี้จะเพิ่มเข็ม 1 ให้ได้ 30,000 รายต่อวัน ส่วนปัตตานี ฉีดวัคซีนไปได้ 7,000 โดสต่อวัน จะต้องฉีดให้ได้ประมาณ 14,000 โดสต่อวัน ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ย้ำว่า ศบค.ส่วนหน้า จะเป็นส่วนสนับสนุน รับฟังข้อเสนอ สนับสนุนอุปกรณ์ ยา และวัคซีน เน้นการรับฟังความต้องการของพื้นที่ เพราะเชื่อว่าผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อ และคนในพื้นที่ จะรู้และเข้าใจพื้นที่ได้ดีที่สุด